เผยแพร่ |
---|
ตีตลาดคนไกลบ้าน “จั๊บ จั๊บ” กวยจั๊บกึ่งสำเร็จรูป เมนูขึ้นชื่อเมืองอุบลฯ ช่วยคนไม่ตกงาน
จากงานวิจัยสู่ธุรกิจสุดปัง “จั๊บ จั๊บ” คือแบรนด์กวยจั๊บอุบลฯ กึ่งสำเร็จรูป ของ SMEs หน้าใหม่ คุณมนัสชญาณ์ อู่สมบัติชัย หรือ คุณยุ้ย หัวเรือใหญ่ ผู้นำสิ่งใกล้ตัวมาเพิ่มมูลค่า สร้างแบรนด์ จนกลายมาเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืน
เจ้าของแบรนด์ จั๊บ จั๊บ เล่าให้ฟังว่า ในปี 2559 เห็นข่าวงานวิจัยเส้นกวยจั๊บกึ่งสำเร็จรูป ของ ผศ.ดร.จิตรา สิงห์ทอง อาจารย์คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในฐานะศิษย์เก่าและโปรดปรานเมนูนี้มาก จึงคิดต่อยอดทำธุรกิจ ด้วยการขอซื้อสิทธิบัตรงานวิจัยดังกล่าว ด้วยเงินทุน 60,000 บาท ซึ่งคณะอาจารย์เล็งเห็นถึงความตั้งใจจริง จึงมอบสิทธิทางการค้าให้ ส่วนเครื่องเคียงมาเพิ่มเองทีหลัง โดยใช้เวลาพัฒนานาน 6 เดือน
“ตอนแรกไม่มั่นใจเลยว่ากวยจั๊บกึ่งสำเร็จรูปจะขายได้ อาศัยใจรักเมนูนี้ ถ้าไม่สำเร็จอย่างที่คิด เราใช้เวลาพัฒนาต่ออีก 6 เดือน อาทิ ลดขนาดเส้นให้เล็กลง เพิ่มเติมเครื่องเคียง อาทิ น้ำซุป หอมเจียว หมูยอ ฯลฯ น้ำซุปใช้ผงสำเร็จรูปซื้อจากร้านทั่วไป หมูยอฟรีซดรายและหอมเจียว จ้างโรงงานผลิต” ผู้ประกอบการสาว เล่า
หลังพัฒนาสูตรสำเร็จ ในปี 2560 คุณยุ้ย ได้นำ จั๊บ จั๊บ ออกจำหน่ายผ่านโซเชียล ส่งร้านของฝาก ทั้งในจังหวัดอุบลฯ และจังหวัดใหญ่ๆ ทางภาคอีสาน เน้นเจาะกลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยว และคนอุบลฯ ไกลบ้านที่อยากทานเมนูท้องถิ่น
แต่ทว่าในช่วงแรกยังไม่โดดเด่นเท่าที่ควร คุณยุ้ย บอกว่า ลูกค้าติว่าน้ำซุปหวานไป จึงต้องกลับมาปรับปรุง กว่ารสชาติจะเหมือนต้นตำรับกวยจั๊บอุบลฯ ต้องใช้เวลานานเกือบ 2 ปี
“เราไม่เคยทำธุรกิจอาหารมาก่อน ฉะนั้นต้องหาข้อมูลเยอะมาก อดทนตระเวนออกงานแสดงสินค้า ทั่วจังหวัดอุบลฯ อยู่เกือบปี เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากลูกค้าว่าชอบ หรือไม่ชอบอะไร และนำผลตอบรับนั้นมาปรับปรุง ทำให้เกิดกระแสบอกต่ออย่างกว้างขวาง ยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง” เธอเล่าถึงความพยายาม
ปัจจุบัน จั๊บ จั๊บ มีจำหน่ายทั้งแบบถ้วย และแบบซอง ประกอบด้วย รสดั้งเดิม และรสต้มยำกุ้ง ภายในบรรจุด้วยเส้นกวยจั๊บอบแห้ง ปราศจากสารกันเสีย ผงน้ำซุป หมูยอ กระเทียมเจียว ต้นหอมซอย เทน้ำร้อนเดือดจัด ทิ้งไว้ 5 นาที พร้อมทาน อายุการเก็บรักษานาน 6 เดือน
“เส้นกวยจั๊บ ทำจากแป้งข้าวเจ้า ผลิตจากโรงงานในชุมชน ผลิตเป็นเส้นสด จากนั้นนำมาอบให้เป็นเส้นแห้งกึ่งสำเร็จรูป ภายในโรงงานของตัวเอง ปัจจุบันผลิตวันละ 400 กิโลกรัม หมูยอฟรีซดรายทำเอง หอมเจียวยังคงจ้างโรงงานผลิต กำลังผลิตประมาณ 25,000-30,000 ซองและถ้วยต่อเดือน”
แม้สินค้าจะเป็นที่รู้จักแล้ว แต่คุณนุ้ยยังไม่หยุดพัฒนา ในปี 2560 เธอตัดสินใจเข้าประกวด เซเว่น อินโนเวชั่น อวอร์ดส์ ปรากฏได้รับรางวัล เสมือนเป็นใบเบิกทางให้ธุรกิจ
“หลังการประกวดหลายๆ อย่างถูกพัฒนาไปในทิศทางที่ดี จนได้รับเครื่องหมาย GMP, HACCP, Codex ตลอดจนสินค้าได้ไปวางจำหน่ายในเซเว่นฯ กว่า 3,600 สาขา ขายได้เดือนละประมาณ 16,000 ห่อ และส่งขายในห้างสรรพสินค้า และขายผ่านออนไลน์ อีก 70 เปอร์เซ็นต์ แม้ในช่วงสถานการณ์โควิด ยอดขายก็ไม่ลดลง กลับเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย ยอดส่งร้านเซเว่นฯ ดีขึ้น จากเดิมส่งสินค้าสัปดาห์ละครั้ง ขยับเพิ่มเป็นสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เพิ่มขึ้นราว 4,800 ซองต่อสัปดาห์”
เจ้าของธุรกิจสาว ทิ้งท้ายว่า ช่วงวิกฤตโควิด-19 พนักงานที่มีอยู่ 25 คน ไม่มีใครตกงานเลย คนงานในโรงงานที่ส่งวัตถุดิบให้ก็มีงานทำ เกษตรกรที่ส่งข้าวเจ้าให้ก็มีรายได้