หนุ่มจบปริญญาโทรับช่วงเฟอร์นิเจอร์ไม้สักเมืองแพร่ ธุรกิจไปได้สวย เน้นขายผ่านออนไลน์

“แพร่” ได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งไม้สัก มีผู้ประกอบการรายเล็กรายใหญ่ทำอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้สักหลายพันราย และเมื่อปี 2556 ทางจังหวัดได้มียุทธศาสตร์การพัฒนาให้เป็น “เมืองแห่งเฟอร์นิเจอร์” (Furniture City) ซึ่งถือเป็นเรื่องดีที่ทำให้หลายฝ่ายเข้ามาสนับสนุนเพื่อให้อุตสาหกรรมไม้ของที่นี่พัฒนาอย่างยั่งยืน โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นหน่วยงานหนึ่งที่เข้าร่วมด้วย ภายใต้โครงการ ITAP ตั้งแต่ต้นน้ำ คือการเพาะเลี้ยงและการปลูกต้นสัก กลางน้ำ การออกแบบ และปลายน้ำ เป็นเรื่องเทคโนโลยีแปรรูป

img_3643

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของสวทช.แอ็คชั่นให้ถ่ายรูป

สวทช. ร่วมพัฒนาดีไซน์ให้ทันสมัย

วันก่อนทาง สวทช. พานักข่าวจากส่วนกลางไปศึกษาดูงานเฟอร์นิเจอร์ของเมืองนี้ ซึ่งทาง สวทช. ได้ช่วยเหลือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ค้าเฟอร์นิเจอร์หัวดง ตำบลดอนมูล อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ ในเรื่องการสนับสนุนเครื่องจักรบางส่วนเพื่อให้การแปรรูปมีคุณภาพ โดยมี วิทยาลัยชุมชนแพร่ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ

อาจารย์ฐานวัฒน์ วิทยปรีชาศิลป์ ที่ปรึกษาแผนงานไม้สัก สวทช. กล่าวว่า โดยรวมแล้วแผนการดำเนินงานสนับสนุนอุตสาหกรรมไม้สักของ ITAP สวทช. ที่ร่วมกับจังหวัดแพร่ เป็นแนวทางที่สร้างงานและรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกรมากขึ้น สร้างมูลค่าเพิ่มสูงสุดจากไม้สัก ส่งเสริมให้มีการปลูกป่าไม้สักมากขึ้น โดยในส่วนการพัฒนาด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ไม้สัก เดิมผู้ประกอบการในจังหวัดแพร่ยังคงเน้นการผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่คงรูปแบบในอดีตและเน้นการทำตลาดแบบการลดราคาแข่งขันกัน

“ที่ผ่านมาวิทยาลัยชุมชนแพร่ได้ร่วมกับชุมชนต้นแบบคือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ค้าเฟอร์นิเจอร์หัวดง ตำบลดอนมูล ที่ต้องการจะพัฒนาการออกแบบและพัฒนาเฟอร์นิเจอร์รูปแบบใหม่ และ ITAP เข้าไปช่วยเหลือทั้งการยกระดับความสามารถด้านเทคโนโลยี การศึกษาความต้องการของผู้บริโภค และตลาดไม้สักในตลาดต่างประเทศ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และรู้ถึงแนวโน้มความต้องการของรูปแบบเฟอร์นิเจอร์สมัยใหม่ และร่วมจัดงานนิทรรศการอีกหลายแห่งทั้งในระดับจังหวัด ประเทศ และนานาชาติ นับเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ประกอบการพัฒนาการผลิตรูปแบบใหม่ๆ ตามมาอีกจำนวนมาก ถือเป็นความสำเร็จที่ก้าวกระโดดจากระดับท้องถิ่นไปสู่ระดับโลก”

img_3645

ขณะเดียวกัน ทางวิทยาลัยชุมชนแพร่ ได้จัดหลักสูตรประกาศนียบัตรสำหรับผู้ประกอบการไม้สัก โดยให้ความรู้ตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ ตลอดจนการตลาดและการสร้างตราสินค้า พร้อมกับสร้างศูนย์เรียนรู้ สร้างโมเดลต้นแบบของการพัฒนาโรงงานต้นแบบสำหรับผลิตเฟอร์นิเจอร์คุณภาพสูง ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ ฝึกอบรม และทดลองผลิตผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์รูปแบบใหม่ที่เน้นคุณภาพ โดยมีเครื่องจักรที่เหมาะสมในการผลิต

ด้าน คุณอุบลศักดิ์ ขีดสร้อย ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนแพร่ กล่าวว่า หลังจากที่ได้มีการสร้างองค์ความรู้ในการพัฒนากระบวนการทำผลิตภัณฑ์ไม้สัก ทั้งเรื่องการออกแบบ ฝีมือการจัดการ โดยนำเทคโนโลยีเข้าใช้ในการผลิต เพื่อให้มีการใช้ไม้สักอย่างคุ้มค่า ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพ สวยงาม ราคาสูง จูงใจให้ผู้ผลิตขายฝีมือมากกว่าขายความเป็นไม้สัก ปรากฏว่าช่วยลดปัญหาการใช้ไม้อย่างฟุ่มเฟือย นับเป็นการพัฒนาการทำไม้สักอย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล มีประโยชน์และคุ้มค่า

img_3641

                                                   คุณชูชีพ แว่นฉิม

มีบริการส่งสินค้าให้ทั่วประเทศ

ทีนี้ไปคุยกับผู้ประกอบการตัวจริงกันบ้าง คุณชูชีพ แว่นฉิม ประธานวิสาหกิจชุมชนผู้ค้าเฟอร์นิเจอร์หัวดง ตำบลดอนมูล กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เป็นพนักงานบริษัท และภรรยาที่เป็นคนเมืองแพร่ได้มาเปิดร้านขายเฟอร์นิเจอร์ไม้สักกว่า 10 ปีแล้ว จากนั้นตนก็ลาออกมาทำกันอย่างเต็มตัว โดยมีหน้าร้านชื่อร้านดอกฝ้าย (โทรศัพท์ (081) 965-1776) ย่านหัวดง ตำบลดอนมูล และมีโรงงานผลิตเอง ลูกค้ามีทั้งพวกรีสอร์ต โรงแรม และคนทั่วไป ซึ่งที่ผ่านมาการทำธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ไม้สักขึ้นอยู่กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามีการก่อสร้างเยอะก็จะขายดีมีออร์เดอร์เยอะตามไปด้วย สินค้าที่ร้านมีตั้งแต่ชิ้นใหญ่อย่างตู้เสื้อผ้า เตียง โต๊ะเครื่องแป้ง หากขายเป็นเซตตกชุดละแสนกว่าบาท โดยมีบริการส่งทั่วประเทศ นอกนั้นก็เป็นข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ

“ตอนนี้ลูกสาวที่เรียนจบระดับปริญญาตรีก็มาเปิดร้านขายเฟอร์นิเจอร์เหมือนกัน จุดเด่นของคนรุ่นใหม่ที่มารับช่วงต่อคือ พ่อแม่ได้วางพื้นฐานให้หมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดซื้อวัตถุดิบ การขนส่ง พวกนี้ก็มาเสริมในเรื่องการขายผ่านออนไลน์ และการหาช่องทางการขายที่มีเยอะกว่า ปัจจุบันสินค้ามีการดีไซน์มีแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นเยอะ ลูกค้าที่เข้ามาเป็นกลุ่มวัยรุ่นเริ่มเยอะขึ้น ลูกค้าเก่าๆ ที่เป็นคนรุ่นเก่าก็ยังชอบสไตล์เก่าๆ ก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม”

คุณชูชีพ เล่าว่า การช่วยเหลือของ สวทช. ในเรื่องเครื่องจักรที่ทันสมัยและความรู้ต่างๆ ทำให้การผลิตเฟอร์นิเจอร์แต่ละชิ้นมีคุณภาพมากขึ้นและใช้เวลาน้อยลง เศษไม้ที่เคยเหลือใช้ก็มีการใช้ประโยชน์มากขึ้น แถมยังมีคนมารับซื้อไปทำเป็นขี้เลื่อยอัดเม็ดส่งต่างประเทศ ขอยืนยันว่าการทำเฟอร์นิเจอร์ของกลุ่มไม่ได้ไปตัดไม้ทำลายป่าอย่างที่หลายคนเข้าใจผิด เพราะปัจจุบันซื้อไม้ท่อนผ่าน อ.อ.ป. ก่อนจะนำมาแปรรูปขาย

ประธานวิสาหกิจชุมชนผู้ค้าเฟอร์นิเจอร์หัวดง ตำบลดอนมูล บอกอีกว่า ย่านการค้าเฟอร์นิเจอร์หัวดง ตำบลดอนมูล เป็นย่านค้าเฟอร์นิเจอร์ไม้สักเก่าแก่ ส่วนใหญ่เป็นร้านดั้งเดิม แต่ก่อนเป็นร้านค้าเล็กๆ มีประมาณ 10 กว่าร้าน ตอนนี้ขยายเพิ่มขึ้นถึง 30 กว่าร้าน และห่างจากอำเภอสูงเม่นไปทางใกล้ตัวเมืองแพร่ ก็มีร้านค้าเฟอร์นิเจอร์อีกเกือบร้อยกว่าร้าน ซึ่งแต่ละร้านคุณภาพก็ไม่แตกต่างกันนัก ขึ้นอยู่กับการใช้ไม้สักแบบไหนและการทาสีว่าเนียน เรียบ สวยหรือไม่

เขาอธิบายถึงการทำเฟอร์นิเจอร์ไม้สักในยุคนี้ว่า หากจะซื้อควรจะสอบถามเจ้าของร้านก่อนว่า เป็นไม้เก่า ไม้แห้ง หรือไม้ท่อน ไม้แห้ง คือใช้ไม้เก่าที่รื้อบ้านมาทำเฟอร์นิเจอร์ ส่วนไม้ท่อนเมื่อนำมาแปรรูปทำเฟอร์นิเจอร์คุณภาพจะแตกต่างกันไป โดยเฉพาะการหดตัวไม้เก่าจะหดน้อยกว่าไม้ใหม่ แต่ถ้าเป็นไม้ใหม่ไม้ท่อนถ้ามีการอบแห้งถูกต้องตามวิธีในเตาอบบอยเลอร์ที่กำลังติดตั้งอยู่ ถ้าอบแบบนี้ไม้เก่าไม้ใหม่คุณภาพก็ไม่แตกต่างกัน แต่ตัวสินค้าไม้เก่าจะบางกว่า ส่วนไม้ใหม่ที่เข้าเตาอบ เมื่อแห้งแล้วจะมีความหนากว่า

img_3646

                                                   คุณศิรพงศ์ ศักดิ์สิทธิ์

จบโทมาสานต่อกิจการครอบครัว

คุณศิรพงศ์ ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์ไม้สักของอำเภอสูงเม่นอีกราย ซึ่งจบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ให้ข้อมูลว่า เป็นรุ่นที่ 2 ที่เข้ามาดูแลกิจการของครอบครัวที่ทำมากว่า 30 ปีแล้ว เป็นโรงงานแปรรูปไม้สักและประกอบเฟอร์นิเจอร์แบบครบวงจร โดยบางส่วนให้ชาวบ้านผลิตและทางโรงงานหาวัตถุดิบให้ โดยมีหน้าร้านของตัวเองด้วย ซึ่งการที่ สวทช. มาช่วยเรื่องเครื่องจักรในการอบไม้ทำให้การผลิตไม้ประสานเรียบขึ้น และใช้เวลาเร็วขึ้น เป็นการใช้เศษไม้อย่างคุ้มค่า เพราะสามารถนำเศษไม้เหล่านั้นมาประกอบเป็นตู้เตียงได้ จากแต่ก่อนใช้ทำฟืนอย่างเดียว

ทั้งนี้ การหาซื้อไม้เก่าเพื่อมาผลิตเฟอร์นิเจอร์นั้นไม่ยาก เพราะบางบ้านที่สร้างด้วยไม้สักก็อยากจะรื้อปลูกใหม่โดยเน้นเป็นบ้านปูนแทน ไม้เก่าดีตรงที่ไม่หดตัว ส่วนการซื้อไม้สักใหม่ก็ซื้อจาก อ.อ.ป.

ทายาทรุ่นสองรายนี้บอกว่า มารับช่วงงานเฟอร์นิเจอร์ของครอบครัว 9 ปีมาแล้ว และมองว่าธุรกิจนี้น่าจะไปได้ดีเพราะปัจจุบันมีช่องทางการขายมากขึ้น โดยเฉพาะผ่านออนไลน์ อีกทั้งการซื้อหาวัตถุดิบก็ง่ายด้วย รวมถึงการมีเครือข่ายการผลิตทำให้สามารถเพิ่มคุณภาพของผลิตภัณฑ์ได้ไม่ยาก สำหรับสินค้าที่ขายดีนั้น ส่วนใหญ่เป็นเซตห้องนอนที่มีหลายราคา ขึ้นอยู่กับขนาด ผู้ประกอบการโรงแรมหรือรีสอร์ตบางรายก็ให้ไปทำแบบบิวด์อิน

สนใจเฟอร์นิเจอร์ไม้สักร้านศักดิ์สิทธิ์ โทรคุยกับคุณศิรพงศ์ ได้ที่ โทรศัพท์ (089) 851-7540