เปิดประวัติ โรงเรียนวัดห้วยหมู (อมรธรรมรัตราษฎร์บำรุง) สถานที่ขึ้นชื่อเรื่องดูแลเด็กพิเศษ

เปิดประวัติ โรงเรียนวัดห้วยหมู (อมรธรรมรัตราษฎร์บำรุง) สถานที่ขึ้นชื่อเรื่องดูแลเด็กพิเศษ
เปิดประวัติ โรงเรียนวัดห้วยหมู (อมรธรรมรัตราษฎร์บำรุง) สถานที่ขึ้นชื่อเรื่องดูแลเด็กพิเศษ

เปิดประวัติ โรงเรียนวัดห้วยหมู (อมรธรรมรัตราษฎร์บำรุง) สถานที่ขึ้นชื่อเรื่องดูแลเด็กพิเศษ เมืองโอ่งมังกร

เด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ หรือเรียกสั้นๆ ว่า เด็กพิเศษ หมายถึงเด็กที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลและช่วยเหลือเป็นพิเศษ ทั้งในด้านการใช้ชีวิตประจำวัน การเรียนรู้ และการเข้าสังคม เพื่อให้เด็กได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพของตนเอง ซึ่งการดูแลช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ จะทำตามลักษณะความจำเป็น และความต้องการของเด็กเป็นรายบุคคล ในจังหวัดราชบุรี โรงเรียนวัดห้วยหมู (อมรธรรมรัตราษฎร์บำรุง) ถือเป็นโรงเรียนที่ขึ้นชื่อเรื่องการดูแลเด็กพิเศษเป็นอย่างมาก และเป็นโรงเรียนต้นแบบการจัดการเรียนรวมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 โดยมี คุณจิราพร หลายพูนสวัสดิ์ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนรุ่นที่ 3 ในการบริหารงาน และเล่าที่มาที่ไปของโรงเรียนดูแลเด็กพิเศษแห่งนี้ให้ เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ ฟังว่า โรงเรียนแห่งนี้ เปิดการเรียนการสอนเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2500 โดยจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ ปัจจุบันมีนักเรียนชั้นอนุบาล 2 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวนทั้งสิ้น 291 คน โรงเรียนได้ให้ความสำคัญของการจัดการศึกษาสำหรับนักเรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ที่มีอยู่ในสังคม  และยังมีโอกาสได้เข้าเรียนในระบบโรงเรียน ในปีการศึกษา 2563 จึงได้ดำเนินการรับนักเรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษให้เข้าเรียน จำนวน 59 คน ประกอบด้วย นักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา (MR) จำนวน 18 คน ห้องเรียนคู่ขนานบุคคลออทิสติก จำนวน 7 คน นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเห็น (เลือนราง) 1 คน และนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ (LD) ที่สามารถเรียนร่วมกับเด็กปกติได้ จำนวน 33 คน “เด็กที่นี่มีทั้งเด็กปกติและเด็กพิเศษรวมกัน 291 คน โดยเด็กพิเศษบางคนไม่สามารถเรียนรวมในชั้นเรียนกับเด็กปกติได้ เราจะแบ่งเด็กพิเศษแยกออกมาเรียนห้องต่างหาก 3 ห้องเรียน ห้องแรกจะเป็นห้องเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา เด็กพิเศษประเภทนี้เขาจะมีหน้าเหมือนเด็กดาวน์ซินโดรม ซึ่งมีเด็ก 3 คน ครูดูแล 1 คน ส่วนห้องที่สองจะเป็นห้องของเด็กออทิสติก ซึ่งมีเด็ก 7 คน ครูดูแล 2 คน และห้องที่สามจะเป็นสติปัญญาเหมือนกัน แต่เด็กจะหน้าเหมือนเด็กปกติทั่วไป ห้องนี้จะมีจำนวนมากหน่อย ซึ่งมีเด็ก 9 คน ครูดูแล 1 คน เพราะเด็กกลุ่มนี้เขาพอจะรู้เรื่อง แต่มีความบกพร่องทางสติปัญญา” “ส่วนเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ สามารถเรียนรวมกับเด็กปกติทั่วไปได้ ซึ่งก็จะมีเด็กพิเศษที่เป็นเด็กสมาธิสั้นเรียนอยู่ในห้องเรียนเหมือนกัน โดยเราให้เด็กสมาธิสั้นนั่งเรียนกับเพื่อน เพื่อให้เขาได้มีพัฒนาการและมนุษยสัมพันธ์ เพื่อจะได้ใช้ชีวิต เหมือนอย่างกับเด็กปกติทั่วไป เช่น ซื้อขนมเป็น เล่นกับเพื่อนได้ ซึ่งก็เป็นวัตถุประสงค์ของพ่อแม่เด็กด้วย ที่เขาอยากให้ลูกมาใช้ชีวิตมากกว่าอยู่บ้านเพียงลำพัง” ผอ. กล่าวมาอย่างนั้น โดยเกณฑ์การคัดเลือกเด็กของโรงเรียน จะมีการคัดกรองเบื้องต้นว่าสามารถอ่านหนังสือได้หรือไม่ อ่านได้ในระดับไหน และพาไปตรวจคัดกรองที่โรงพยาบาล เพื่อตรวจวัดระดับสติปัญญา (ไอคิว) ถ้ามีสติปัญญาอยู่ระหว่าง 90-110 จะไม่ใช่เด็กพิเศษกลุ่มสติปัญญาแต่จะเป็นกลุ่มเรียนรู้ช้า แต่หากวัดไอคิวแล้วต่ำกว่า 70 ถึงจะถือว่าเป็นเด็กพิเศษที่เข้าเกณฑ์กลุ่มสติปัญญา “มีเหมือนกันที่พ่อแม่เด็กบางคนเขารับไม่ได้ว่าลูกมีความบกพร่องทางด้านการเรียนรู้  เราก็จะบอกว่าถ้าผู้ปกครองไม่อนุญาตให้เด็กได้รับการคัดกรอง หรือว่าบอกว่าลูกเป็นเด็กเรียนช้าทั้งๆ ที่ไม่ใช่ ลูกคุณก็เรียนซ้ำชั้นอยู่แบบนั้น คุณจะเอาแบบนั้นหรือ แต่ถ้าพวกเขายอมรับว่าลูกมีความบกพร่องทางการเรียนรู้ เราก็จะปรับการเรียนการสอนให้เข้ากับความสามารถของเขา เช่น ระดับความสามารถทางสติปัญญาของเด็ก อยู่ในระดับชั้น ป.3 แต่เขาเรียนอยู่ชั้น ป.6  เขาก็นั่งเรียนในห้อง ป.6 ได้ แต่ข้อสอบจะไม่เหมือนเพื่อน ต้องเอาข้อสอบของเด็ก ป.3 มาให้เขาทำ ซึ่งการทำแบบนี้ เขาจะได้ทั้งเพื่อนและได้ทั้งความรู้ ครูก็จะสอน 2 รอบ สอนเด็กปกติเสร็จก็มาสอนเด็กพิเศษ แต่ห้องหนึ่งก็จะมีไม่เกินห้องละ 4-5 คน โดยไม่เพิ่มภาระให้ครู” ผอ. กล่าว

ห้องเรียนเด็กพิเศษ

ผอ.จิราพร ยังกล่าวต่อว่า ครูที่จะเข้ามาสอนที่นี่ จะต้องผ่านการอบรมให้เข้าใจบริบทของโรงเรียนก่อนจะเข้ามาสอน ทำให้โรงเรียนวัดห้วยหมูแห่งนี้ เป็นต้นแบบจัดการเรียนรวม ที่มีชื่อเรื่องการดูแลเด็กพิเศษ ทำให้มีเด็กพิเศษเยอะกว่าที่อื่น “ครูที่จะย้ายมาที่นี่ เราจะบอกก่อนเลยว่า เด็กที่นี่ไม่เหมือนเด็กที่อื่นนะ ครูต้องมีเมตตาเยอะกว่าที่อื่น อย่าคิดว่าเขาเป็นภาระ ถ้าคิดจะย้ายมาประจำที่นี่ก็ต้องดูแลเด็กๆ พวกนี้ด้วย เพราะที่อื่นเขาไม่มีเยอะเท่าโรงเรียนนี้ ซึ่งอดีต ผอ.คนแรกของโรงเรียน เขาพาครูคนหนึ่งไปอบรมการเรียนการสอนเด็กพิเศษ 200 ชั่วโมง แล้วก็กลับมาดูแลเด็กพวกนี้ จากที่ใหม่ๆ เด็กเข้ามาแล้วไม่รู้เรื่อง ไม่มีพัฒนาการอะไรเลย ก็เริ่มดีขึ้น พอเริ่มประสบความสำเร็จ ผู้ปกครองเขาก็บอกต่อๆ กัน”

ห้องเรียนเด็กพิเศษ

“พอครูท่านนั้นเกษียณอายุราชการ ด้วยความที่ ผอ. ก็เป็นครูที่นี่มาก่อน ก็ได้รับมอบหมายให้ดูแลเด็กพิเศษต่ออีก 11 ปี แล้วไปสอบติด ผอ. ไปเป็น ผอ. ที่โรงเรียนอื่นอยู่ 3 ปี พอ ผอ.คนที่ 2 ปลดเกษียณ ด้วยความที่เรามีวุฒิทางการศึกษาพิเศษ และผ่านการอบรมมาเหมือนกัน เลยทำให้เราสามารถตอบคำถามผู้ปกครองได้ เลยได้กลับมาดูแลที่นี่ ทางพื้นที่เห็นว่า เด็กพิเศษสามารถมีพัฒนาการได้ ครูรักเด็ก เด็กก็ไม่แกล้งกัน ผู้ปกครองเชื่อมั่น เราเลยมีชื่อเสียงด้านการดูแลเด็กพิเศษ” ผอ.จิราพร กล่าว นอกจากนั้น ผอ.จิราพร ยังเล่าต่อว่า “โรงเรียนแห่งนี้เด็กพิเศษสามารถเรียนฟรี 15 ปี เหมือนเด็กปกติ เด็กพิเศษที่เรียนจบเกณฑ์การศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว ไม่มีที่เรียนต่อ เพราะพ่อแม่ก็ไม่รู้จะส่งไปเรียนที่โรงเรียนไหนต่อ แต่ในการรับเด็กพิเศษก็มีเกณฑ์ในการรับ เนื่องจากมีจำนวนครูพี่เลี้ยงเด็กพิการไม่เพียงพอ หากรับเด็กมาเพิ่มเกินกำลัง ก็ทำให้การเรียนการสอนเด็กไม่มีคุณภาพ” “จริงๆ ในจังหวัดราชบุรี มีโรงเรียนเปิดรับเด็กบกพร่องทางด้านต่างๆ แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายบางส่วนในการเรียน บางครอบครัวเขาก็ไม่สามารถส่งลูกเรียนได้ แต่ทางโรงเรียนของเราจึงได้รับงบประมาณจากเขตพื้นที่ แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะมาพัฒนาอะไรหลายๆ อย่าง ผอ. ก็คิดว่าถ้ามีห้องเพิ่ม มีครูเพิ่ม เราก็รับพวกเขาได้อีก คุณภาพไม่เสีย เราก็ได้จากการบริจาคที่มีคนเข้ามาบริจาคนี่แหละ มาพัฒนาโรงเรียน แล้วด้วยความที่โรงเรียนอยู่ใกล้วัด ท่านเจ้าอาวาสวัดห้วยหมู ท่านสงสารเด็ก ก็สร้างสถานสงเคราะห์สาธารณะ ไว้ดูแลเด็กพิเศษกลุ่มนี้ มีการฝึกอาชีพให้ โดยมีจิตอาสามาดูแลและฝึกพัฒนาการต่างๆ เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข” ผอ.โรงเรียนวัดห้วยหมู กล่าวทิ้งท้าย