สู้ไปด้วยกัน! รีสอร์ตดังชวนพนักงาน เก็บผักสดขึ้นรถสองแถวไม้ วิ่งขายกว่า 120 กิโล 

สู้ไปด้วยกัน! รีสอร์ตดังชวนพนักงาน เก็บผักสดขึ้นรถสองแถวไม้ วิ่งขายกว่า 120 กิโล 
สู้ไปด้วยกัน! รีสอร์ตดังชวนพนักงาน เก็บผักสดขึ้นรถสองแถวไม้ วิ่งขายกว่า 120 กิโล 

สู้ไปด้วยกัน! รีสอร์ตดังชวนพนักงาน เก็บผักสดขึ้นรถสองแถวไม้ วิ่งขายกว่า 120 กิโล 

จากผลกระทบของโควิด-19 รอบแรก ธุรกิจต่างๆ ยังไม่ทันได้ฟื้นตัว กลับต้องมาเจอวิกฤตระลอกใหม่ ที่ดูหนักหน่วงไม่แพ้กัน และสิ่งที่ผู้ประกอบการทำได้ตอนนี้คือการช่วยเหลือตัวเอง หาช่องทางทำเงินใหม่ๆ เพื่อหล่อเลี้ยงกิจการให้อยู่รอด

อย่างรีสอร์ตดังในจังหวัดระนอง บ้านไร่ ไออรุณ ที่ผ่านมา ต่อสู้ด้วยการขายน้ำพริกออนไลน์ มีรายได้เข้ามาหลักล้านบาท มาโควิดระลอกใหม่ ยังขอสู้สุดใจ เก็บผลผลิตทางการเกษตรขึ้นรถสองแถวไม้ สัญลักษณ์ประจำจังหวัดระนอง วิ่งขายไป-กลับระยะทางกว่า 120 กิโลเมตร

เจ้าของรีสอร์ทและพนักงาน
เจ้าของรีสอร์ตและพนักงาน

“บ้านไร่ ไออรุณ” เปิดให้บริการเมื่อ 5 ปีก่อน จากน้ำพักน้ำแรงของอดีตสถาปนิกหนุ่ม คุณเบส-วิโรจน์ ฉิมมี วัย 34 ปี เขาตัดสินใจลาออกจากงานประจำ เดินทางกลับบ้านเกิด อ.กะเปอร์ จ.ระนอง เพื่อดูแลพ่อแม่ พร้อมกำเงินเดือนก้อนสุดท้ายมาต่อยอดความฝันสร้างรีสอร์ตดังกล่าว

“อ.กะเปอร์ จ.ระนอง ไม่ใช่เส้นทางท่องเที่ยวเหมือน สมุย ภูเก็ต หรือเชียงใหม่ แต่เป็นชุมชนที่ไม่ค่อยมีคนผ่าน ไปขอกู้แบงก์ก็ไม่ผ่าน เพราะโลเกชั่นไม่สามารถทำรีสอร์ต หรือร้านอาหารได้ เลยต้องเริ่มต้นจากเงินตัวเองหมื่นกว่าบาท นำมารีโนเวตบ้านเก่า และทำสวนเกษตร ช่วยกันทำกับพ่อแม่ ใช้กิ่งไม้ และไม้ไผ่ ตกแต่ง และได้ส่งบ้านเข้าประกวดในงานบ้านและสวนแฟร์ ปีนั้นเราได้รางวัลชนะเลิศ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สื่อรู้จัก ผมเลยใช้โอกาสนี้พูดให้คนรู้จักแบรนด์ รู้จักอำเภอของเรา ผ่านการประชาสัมพันธ์ของสื่อ” หนุ่มสถาปนิก เล่า

บ้านไร่ ไออรุณ
บ้านไร่ ไออรุณ

จากการประกวด คุณเบสสะสมเงินสร้างรีสอร์ตเรื่อยมา ปัจจุบันเปิดให้บริการบ้านพัก 15 หลัง มีร้านอาหาร และคาเฟ่ร่วมด้วย และยังมียอดผู้ติดตามเฟซบุ๊กกว่า 7 แสนคน ส่วนรีสอร์ตจากที่ใช้วัสดุธรรมชาติ เมื่อขนาดธุรกิจใหญ่ขึ้น ได้เปลี่ยนมาใช้วัสดุที่แข็งแรง มีโครงสร้างเหล็ก คอนกรีต เสริม ส่วนการบริการมีพนักงานซึ่งเป็นคนในพื้นที่กว่า 40 คน

มาต้นปีเกิดโควิดรอบแรก สถานการณ์ไม่สู้ดี คุณเบส ประกาศปิดรีสอร์ต ก่อนที่รัฐจะสั่งปิดเสียด้วยซ้ำ

“เราปิดก่อนดีกว่า ชาวบ้านเริ่มเพ่งเล็งเพราะเป็นสถานที่ท่องเที่ยว มีคนนอกพื้นที่เข้ามา ทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัย ปิดทั้งๆ ที่มีพนักงานฝากชีวิตไว้เกือบ 40 คน เพื่อพยุงธุรกิจ ผมตัดสินใจนำวัตถุดิบที่มีมาแปรรูป เป็นน้ำพริก ฯลฯ ขายออนไลน์ กระแสตอบรับดีตั้งแต่ครั้งแรกที่โพสต์ ออร์เดอร์เข้าเป็นหมื่นคน จำได้ว่าโพสต์สามครั้ง ขายครั้งนึงเป็นเดือน เพราะของทุกอย่างเราตั้งใจทำ ได้เงินมาหลักล้าน ผมคิดว่าคนมาอุดหนุนไม่ใช่เพราะน้ำพริกอร่อย แต่ซื้อเพราะอยากสนับสนุนเราให้อยู่รอด มาจากคนไทยช่วยกันแชร์ สามารถเลี้ยงดูพนักงานได้ประมาณ 2 เดือน” คุณเบส เล่าถึงการเอาตัวรอดจากโควิดรอบแรก

บ้านไร่ ไออรุณ
บ้านไร่ ไออรุณ

ก่อนเล่าต่อว่า กลับมาเปิดรีสอร์ตอีกครั้งในเดือนมิถุนายน ยอดจองห้องพักเต็มเกือบทุกวันไปจนถึงเดือนมกราคม 64 แต่เมื่อเกิดโควิดระลอกใหม่ทำให้ยอดจองเป็นศูนย์

“ถึงรัฐไม่ประกาศปิด แต่เหมือนธุรกิจต้องปิดตัวเอง เพราะ จ.ระนอง ถูกประกาศเป็นพื้นที่สีแดง ยิ่งทำให้ลูกค้าไม่มาโดยอัตโนมัติ ยกเลิกบุกกิ้งภายในวันนั้น และรัฐเองก็ไม่มีการช่วยเหลือที่ชัดเจน ทั้งประกันสังคม การผ่อนชำระหนี้ คือสองเรื่องหลักที่ทำให้ผู้ประกอบการและลูกจ้างหนักใจว่าจะไปต่อยังไง” เจ้าของรีสอร์ต บอกถึงผลกระทบ

บ้านไร่ ไออรุณ
บ้านไร่ ไออรุณ

และโควิดระลอกใหม่ ยังทำให้คุณเบส เกือบตัดสินใจปิดรีสอร์ตชั่วคราวอีกครั้ง ให้พนักงานแยกย้ายกันไปแล้วค่อยมารวมกันใหม่ แต่เมื่อถามความคิดเห็นของทุกคนแล้ว ไม่มีใครอยากให้ปิด

“ไปต่อดูแล้วกัน จัดโปรโมชั่นคนระนอง ลด 50% ผลตอบรับดีมีคนเข้าพักเกิน 5 หลังทุกวัน เสาร์-อาทิตย์ ก็เต็ม และเรายังหาช่องทางเพิ่มรายได้อื่นๆ ไม่ขายน้ำพริกแล้ว เพราะงานหนัก พนักงานไม่มีความสุข เจอสารพัดปัญหา เครียด กดดัน ไม่ถนัดงานขายของออนไลน์จริงๆ ขอเลือกเก็บผักขายบนรถสองแถวไม้ดีกว่า รถเรามีอยู่แล้ว แค่นำไม้มาต่อ และนำตะกร้าหวายมาตกแตกเพิ่ม” คุณเบส เล่า 

บ้านไร่ ไออรุณ
บ้านไร่ ไออรุณ

“ผลผลิตทางการเกษตรต่างๆ ที่นำมาขาย มาจากบ้านของพนักงาน ทั้งขึ้นเองตามธรรมชาติ และมาจากฟาร์มของรีสอร์ต ส่วนใหญ่เป็นผักพื้นบ้าน เช่น ผักกูด ผักเหลียง ส้มจี๊ด ฟักแฟง ฯลฯ แพ็กเกจจิ้งทุกอย่างไม่ใช้ถุงพลาสติก แต่ใช้เชือกกล้วย กาบหมาก ใบตอง นอกจากนี้ ยังมีงานหัตถกรรม เช่น ตะกร้า กระเป๋าสาน ติดรถไปด้วย ขายดีกว่าผักซะอีก” คุณเบส ว่าอย่างนั้น

สำหรับรถพุ่มพวงคันนี้ จะวิ่งขายทุกวันอาทิตย์ ระยะทางไป-กลับ 120 กิโลเมตร โดยตั้งเป้าวิ่งทุกอำเภอให้ทั่วจังหวัด

“วันแรกที่ออกวิ่งผลตอบรับดีเกินคาด คนระนองมาอุดหนุนเยอะกว่าที่คิด ขับไปจอดหน้าบ้านเพื่อนที่เป็นผู้ประกอบการ คนมารุมซื้อกันเต็ม ขายหมดได้มาหมื่นกว่าบาท แต่ถ้าพนักงานคนไหนอยากได้เงินเพิ่มก็ทำของแห้งมาขายเสริม รายได้อาจไม่เยอะเท่าขายน้ำพริก แต่มีความสุขมากกว่า” คุณเบส บอกทิ้งท้าย

อย่างไรก็ตาม สามารถติดตามเรื่องราวของ บ้านไร่ ไออรุณ ได้ที่เฟซบุ๊ก บ้านไร่ ไออรุณ baan rai i arun

บ้านไร่ ไออรุณ
บ้านไร่ ไออรุณ
บ้านไร่ ไออรุณ
บ้านไร่ ไออรุณ