10 อาชีพ/ธุรกิจ สุดช้ำ รายได้หาย กำไรหด เพราะวิกฤตไวรัส

10 อาชีพ/ธุรกิจ สุดช้ำ รายได้หาย กำไรหด เพราะวิกฤตไวรัส

ในรอบปีที่ผ่านมา ผู้คนทั่วโลกต้องเผชิญกับวิกฤตไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด จนถึงตอนนี้จำนวนผู้ป่วยรายใหม่ยังเพิ่มขึ้นทุกวัน สะสมกว่า 80 ล้านคนทั่วโลก ในส่วนของผลกระทบ เรียกว่าเจ็บช้ำไปตามๆ กัน ไม่ว่ารายเล็กหรือรายใหญ่ ก่อนส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ ขอรวบรวม 10 อาชีพ/ธุรกิจ สุดช้ำ ในปี 2563 มาให้ดูกัน ว่ามีอะไรบ้าง  

1. นักบิน จากวิกฤตไวรัส ส่งผลให้ธุรกิจการบินหยุดชะงัก นักบิน หรือกัปตัน เลยต้องหันมาทำอาชีพเสริม หารายได้เลี้ยงตัวในช่วงหยุดบิน เช่น คุณเดช-เดชพนต์ พูลพรรณ กัปตันการบินไทย วัย 39 ปี จากคนขับเครื่องบิน ต้องเปลี่ยนมาควบคุมไฟอบบราวนี่ แบรนด์ Flying sweets ขาย ในทุกๆ วัน คุณเดชพนต์จะเป็นเชฟหลักทำบราวนี่ทุกชิ้นด้วยตัวเอง ส่วนภรรยาจะช่วยเช็กและรับออร์เดอร์จากลูกค้า ลูกสาวคอยพับกล่อง ติดสติ๊กเกอร์แบรนด์ เป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ และยังเป็นกิจกรรมที่ทำให้คนในครอบครัวมีเวลาอยู่ร่วมกันอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม กัปตันการบินไทย ทำบราวนี่ขายยาวๆ แถมผุดโครงการ ช่วย รร.ขาดแคลน 

2. แอร์โฮสเตส คืออีกอาชีพที่ได้รับผลกระทบเช่นกันกับนักบิน คุณแนน-นนทพรรณ ศรีกลชีพ แอร์โฮสเตสสาว วัย 37 ปี ที่เบนเข็ม หันมาทำธุรกิจในช่วงโควิด เปิดร้านแซ่บหน้าแน่น ร้านขายยำ-ส้มตำ เพราะเป็นคนชอบทานอาหารรสจัด อย่าง ยำและส้มตำ ซึ่งได้รับกระแสตอบรับดี มีทั้งจำหน่ายหน้าร้านและขายผ่านดีลิเวอรี่  

อ่านเพิ่มเติม แอร์ฯ สาว เปิดร้านยำ ไม่ง่าย-คู่แข่งเยอะ ยอมโดนหักค่าหัวคิว เพื่อดึงลูกค้า 

3. ไกด์ เมื่อการบินหยุดชะงัก ผู้คนไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้เหมือนเดิม ทำให้การท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศได้รับผลกระทบ ทำให้ไกด์หนุ่มมากความสามารถผู้คร่ำหวอดในวงการท่องเที่ยวมานานพอตัว อย่าง คุณโอล่า-อัมรินทร์ โภคา ชวนพรรคพวกในแวดวง “คนทำทัวร์” ไม่ว่าจะเป็นไกด์ หัวหน้าทัวร์ เจ้าหน้าที่ธุรการ เจ้าหน้าที่บัญชี เกือบสิบชีวิต รวมตัวกันทำอาหาร ขายในร้าน นั่งล้าน บนถนนนวมินทร์ และส่งดีลิเวอรี่                                                          

อ่านเพิ่มเติม “นั่งล้าน” ฟู้ดคอร์ตน้อยๆ ของ “คนทำทัวร์” รวมตัวฝ่าวิกฤตโควิด

4. บริษัททัวร์ สืบเนื่องจากผลกระทบในธุรกิจท่องเที่ยว คนที่เจ็บสาหัสเห็นจะเป็นบริษัทนำเที่ยว รายได้เป็นศูนย์ตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้ คุณเก๋-สรัญรัชต์ หาญภาคภูมิ ผู้บริหาร บริษัท อะเดปท์ ทัวร์ จำกัด ซึ่งจัดทัวร์ต่างประเทศ ต้องหาวิธีเอาตัวรอด ทั้งลดวันทำงาน และระดมความคิดจัดทริปท่องเที่ยวในประเทศ แบบ วันเดย์ทริป เที่ยวจังหวัดใกล้กรุงในราคาพิเศษ เพื่อพยุงธุรกิจ

อ่านเพิ่มเติม บริษัททัวร์จัดทริปใกล้กรุง กำไรหัวละร้อยก็สู้

5. โฮสเทล/โรงแรม ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว อย่างที่พัก โรงแรม หรือ โฮสเทล ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน อย่าง Nappark Hostel โฮสเทลบนถนนข้าวสาร แหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง ที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ คือ ชาวต่างชาติ เมื่อประเทศปิด ทำให้โฮสเทลขาดรายได้ เพื่อความอยู่รอด จึงต้องปรับตัวเปิดร้านอาหาร Napfood Goodhub จากพนักงานต้อนรับ แม่บ้าน ต้องเปลี่ยนมาเป็นพ่อครัวแม่ครัวช่วยกันเสิร์ฟอาหาร  

อ่านเพิ่มเติม ถนนข้าวสาร กลายเป็นเมืองร้าง ผปก.โฮสเทล สุดกลั้นน้ำตา

6. คนบันเทิง จากวิกฤตไวรัส ส่งผลให้อุตสาหกรรมบันเทิงได้รับผลกระทบ งานบันเทิงต่างๆ ที่มีการรวมตัวของคนหมู่มากถูกยกเว้น หรือยกเลิก เช่น หนุ่ม กอล์ฟ ฟักกลิ้งฮีโร่ นักร้องแรปเปอร์ชื่อดังของเมืองไทย ที่ช่วงหนึ่งเว้นว่างจากงานบันเทิง เพราะโควิด-19 ในฐานะหัวหน้าครอบครัว เขาจึงเลือกที่จะออกมาทำอาชีพเสริม ขายหมูปิ้ง ซึ่งเป็นเมนูที่ลูกสาวชอบทาน โดยไม่เขินอาย

อ่านเพิ่มเติม “กอล์ฟ” แตกไลน์สินค้าใหม่ “หมูปิ้งฮีโร่”

7. ร้านนวด เมื่อเกิดการแพร่ระบาด ทุกคนต้องเว้นระยะห่างทางสังคม ทำให้ธุรกิจร้านนวดได้รับผลกระทบ จนต้องปิดกิจการชั่วคราวไปพักใหญ่ เช่น Perception Blind Massage ร้านนวดโดยคนตาบอด ที่สูญเสียรายได้ไปนานกว่า 3 เดือน หมอนวดที่เป็นผู้พิการเองก็ขาดรายได้ และไม่สามารถหางานอื่นทำได้ แต่อย่างไรก็ตาม ร้านนวด ก็สู้ทุกทาง ทั้งจัดโปรโมชั่น นวดดีลิเวอรี่ เพื่อพยุงธุรกิจให้สามารถเดินต่อไปได้

อ่านเพิ่มเติม ‘หมอนวดตาบอด’ เดินสายนวดดีลิเวอรี่ประทังชีวิต

8. ผับบาร์ แม้ธุรกิจกลางคืนจะสร้างสีสัน ความสนุกสนานให้กับผู้คน แต่ต้องยอมรับว่าธุรกิจนี้ไม่อนุญาตให้เปิดกิจการในช่วงโควิด-19 อย่าง บาร์โฮสต์ ย่านรัชดาภิเษก คุณเจมส์ วัย 43 ปี หนึ่งในหุ้นส่วนบาร์โฮสต์หนุ่มหล่อ ร้าน เออ อินฟินิตี้ ต้องปิดร้านนานกว่า 3 เดือน แม้จะกลับมาเปิดได้แล้ว แต่ผู้ประกอบการก็ต้องเจอต้นทุนที่สูงขึ้น เพราะต้องปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตใหม่ นิวนอร์มอล มีการวางเจลล้างมือและแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อไว้ทั่วทั้งร้าน

อ่านเพิ่มเติม ผปก.บาร์โฮสต์โอด เปิดร้านหลังโควิด ลูกค้าหด-ทุนเพิ่ม 

9. ร้านอาหาร ธุรกิจนี้สร้างความอิ่มท้องให้กับทุกคน แต่เมื่อเกิดโควิดกลับไม่สามารถนั่งทานอาหารที่ร้านได้เหมือนเดิม บางร้านถึงกับต้องปิดตัว เพราะขายไม่ได้ แต่บางร้านก็สู้ต่อ หันมาขายดีลิเวอรี่ เช่น เพนกวิน อีท ชาบู ร้านบุฟเฟ่ต์ชื่อดัง ที่ปรับตัว ขายชาบูแถมหม้อ สร้างปรากฏการณ์ยอดขายสวนกระแสโควิดในพริบตา

อ่านเพิ่มเติม “เพนกวิน อีท ชาบู” พลิกเกมสู้โควิด จนเปลี่ยนสถานะเป็นหนี้ แต่ไม่ล้ม!

10. บริการรถตู้นำเที่ยว ตามแหล่งท่องเที่ยวในหัวเมืองใหญ่ รถตู้ หรือรถนำเที่ยวถือเป็นอาชีพสร้างรายได้ เมื่อไม่มีการท่องเที่ยว จึงได้รับผลกระทบเต็มๆ คุณสมชาย ผู้ประกอบการรถตู้ให้บริการทัวร์ ต้องสูญรายได้ไปกว่า 90% เพราะไม่มีนักท่องเที่ยวใช้บริการ ในทางกลับกัน ยังมีภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกรับ โดยหวังให้สถานการณ์คลี่คลายโดยเร็ววัน

อ่านเพิ่มเติม กิจการรถตู้ เครียดหนัก ‘ไวรัสอู่ฮั่น’ ทำรายได้หด

ทั้งหมดนี้ คือ 10 อาชีพ/ธุรกิจ สุดช้ำ ที่เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ รวบรวมมาให้ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ถึงวันนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการระบาดรอบใหม่ แต่เชื่อว่าทุกคนจะสามารถผ่านไปได้ เพียงร่วมมือร่วมใจ