ลูกเนย ผลไม้วิเศษจากพระราชา สร้างอาชีพให้ราษฎรนับร้อยนับพัน

ลูกเนย ผลไม้วิเศษจากพระราชา สร้างอาชีพให้ราษฎรนับร้อยนับพัน

ลูกเนย หรือ อะโวกาโด (Avocado) หลายคนยังเข้าใจผิดคิดว่าเป็นผลไม้ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แต่จริงๆ แล้วในไทยก็ปลูกได้ด้วยการเพาะเมล็ด ปลูกง่าย แทบจะไม่ต้องดูแลมาก ก็ปลูกขึ้น สามารถปลูกแซมในสวนผลไม้อื่นก็ได้ เพาะเมล็ด 3-4 ปี ให้ผลผลิตและเก็บเกี่ยวได้ และจะให้ผลผลิตมากขึ้น ต่อเมื่อ อะโวกาโดอายุ 5-6 ปี เกษตรกรภาคเหนือตอนบนและตอนล่างนิยมปลูกกันมาก

คุณโจ้-ยุทธนาศักดิ์ แก้วคำ จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ วิทยาเขตแพร่ คณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยี ปัจจุบันสวมบทบาททั้งเกษตรกรและนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจากการปลูกอะโวกาโด เพราะนอกจากจะขายผลสด ยังนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ความงามบำรุงผิวพรรณทั้งผิวหน้าและผิวกาย ภายใต้แบรนด์ “อะโวกาโด ไร่ยังคอย” ขยายตลาดด้วยตัวแทนจำหน่าย รวมถึงส่งออกต่างประเทศ สร้างรายได้ต่อเดือนหลักล้านบาทเลยทีเดียว

คุณโจ้ เผยกับ เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ ว่า หลังจากเรียนจบปริญญาตรี ไปเพาะพันธุ์ไก่ชนหายาก ซึ่งเป็นพันธุ์พื้นเมืองของแม่ฮ่องสอน มีการขยายตลาดไปยังต่างประเทศ ส่งจีน ลาว มาเลเซีย และอินโดนีเซีย มีทั้งส่งตรงและส่งผ่านพ่อค้าคนกลาง ทว่าระยะหลังเศรษฐกิจเริ่มไม่ดี ราคาไก่ตกต่ำ เลิกทำฟาร์มไก่ หลังเพาะพันธุ์ไปได้ปีเศษ

หลังฟาร์มไก่ชนยุติลง คราวนี้คุณโจ้หันมาขายส่งกาแฟขี้ชะมด ประกอบกับปลูกอะโวกาโดควบคู่ เพราะเห็นว่า อะโวกาโด ราคาดี ขณะเดียวกัน ปลูกง่ายไม่ต้องดูแลมาก ราวปี 58 เริ่มหันมาปลูกอะโวกาโดอย่างจริงจัง จากตอนแรกปลูกเนื้อที่ 10 ไร่ ปัจจุบันปี 60 ขยายพื้นที่ปลูก 30 ไร่ โดยอะโวกาโดที่ปลูกมีอยู่ 3 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ปีเตอร์สัน พันธุ์แฮส และ พันธุ์กลาย ซึ่งพันธุ์แฮสเป็นพันธุ์ที่ตลาดต้องการมากเพราะรสชาติดี แต่การดูแลรักษาค่อนข้างยาก ให้ผลผลิตน้อย ส่วนพันธุ์กลายและพันธุ์ปีเตอร์สัน รสชาติไม่คงที่ แต่ให้ผลผลิตมาก

คุณโจ้-ยุทธนาศักดิ์ แก้วคำ

สำหรับที่มาของการปลูกอะโวกาโดนั้น ต้องนับย้อนหลังไปเมื่อราวปี พ.ศ. 2522 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมราษฎรชาวเขาในเขตหมู่บ้านวัดจันทร์ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ราษฎรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาชนเผ่ากะเหรี่ยง มีอาชีพทำนา เเละทำไร่เลื่อนลอย พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้พัฒนาบ้านวัดจันทร์และหมู่บ้านใกล้เคียง เพื่อให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยครอบคลุมพื้นที่ 17 หมู่บ้าน ซึ่ง ไร่ยังคอย ก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยอยู่ห่างจากโครงการหลวงเพียง 500 เมตร

พระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในครั้งนั้นคือ ทำการทดสอบพันธุ์พืช โดยเน้นว่าต้องต้านทานโรคและคุณภาพผลผลิตดี เพื่อที่จะได้นำไปถ่ายทอดและส่งเสริมให้กับเกษตรกรปลูกต่อ ซึ่งพืชและสายพันธุ์ที่ทดสอบ มี 19 ชนิด หนึ่งในนั้นมี อะโวกาโด นับตั้งแต่บัดนั้นมา ดินแดนแห่งนี้ก็มีผลไม้วิเศษที่พระราชทานมาจากพระราชา นั่นคือ อะโวกาโด ที่สร้างรายได้ สร้างอาชีพให้เหล่าราษฎรนับร้อยนับพันคน นี่คือพระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่านโดยแท้

“พื้นที่ 1 ไร่ ผมปลูกอะโวกาโดได้ 45 ต้น ระยะห่างต่อต้น 6X6 เมตร ปลูกแบบปลอดสารเคมี ผลผลิตต่อปี ราว 10-15 ตัน เก็บผลสดขายต่อไร่ มีรายได้เกือบ 2 แสนบาท แต่ทว่าการทำเกษตรมีความเสี่ยงหลายอย่าง บางครั้งผลผลิตไม่ออกตามฤดูกาล ผลไม่สวย ด้วยเหตุนี้ จึงคิดหาแนวทางเพิ่มมูลค่าให้กับผลไม้ชนิดนี้” คุณโจ้ เผย

ลูกเนย หรือ อะโวกาโด

ต้องบอกก่อนว่า น้องสาวเจ้าของไร่ยังคอยนั้น จบการศึกษาด้านเคมี และพบว่า อะโวกาโด เป็นไม้ผลที่มีคุณค่าทางอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายสูงมาก อุดมไปด้วยวิตามิน E และมีแอนตี้ออกซิแดนต์ ช่วยบำรุงผิวพรรณ ปัจจุบันถูกนำไปสกัดเป็นเครื่องสำอางของผู้หญิง และเป็นที่ต้องการมากของตลาดจีน ทวีปอเมริกา ยุโรป

สำหรับอะโวกาโดผลสด ลูกสวย เนื้อเยอะ น้ำหนักต่อลูก 5 ขีด ถึง 1 กิโลกรัม คุณโจ้จะขายเอง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง จำหน่ายตั้งแต่ราคา 80-100 บาท ขณะเดียวกัน อะโวกาโดผลไม่สวยจะนำมาสกัดทำเป็นครีมทาผิว ครีมกันแดด สครับผิว ทรีตเมนต์ ครีมหมักผม เป็นต้น

ปัจจุบันรายได้จากการจำหน่ายอะโวกาโด 20 เปอร์เซ็นต์มาจากการจำหน่ายผลสด อีก 80 เปอร์เซ็นต์มาจากการแปรรูป ยกตัวอย่างเช่น เฉลี่ยแต่ละวันจะผลิตสบู่อะโวกาโด ได้วันละ 500 ก้อน ขายเกือบหมดทุกวัน ส่งออกไปจีน ลาว ส่วนผลสดก็มีชาวบ้านทั้งในเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอนมารับซื้อ จึงกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้ให้แต่ละเดือนเป็นหลักล้านบาท

 

เผยแพร่แล้วเมื่อ 5 ธันวาคม 2020