ดนุชา สินธวานนท์ เลขาฯ กปร. “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องระดับนานาชาติไปแล้ว”

เพิ่งมารับตำแหน่ง เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ได้ไม่กี่เดือน สำหรับ “คุณดนุชา สินธวานนท์” วันก่อน เลขาธิการ กปร. คนใหม่ท่านนี้ ได้มีโอกาสสนทนากับบรรดาสื่อมวลชนเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่และแนวทางการดำเนินงานของสำนักงาน กปร. ซึ่งมีหลากหลายด้าน โดยเฉพาะโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่มีอยู่ทั่วประเทศทั้งหมด 4,685 โครงการ

%e0%b8%81%e0%b8%9b%e0%b8%a3-22

คุณดนุชา เกริ่นว่า สำนักงาน กปร. พร้อมสานต่อแนวพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตลอดจนแนวพระราโชบายต่อไปในอนาคตของสถาบันพระมหากษัตริย์

บางโครงการยังไม่เสร็จ

สำหรับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ผ่านมา มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และขยายผลออกไปมาก ขณะที่บางโครงการยังไม่แล้วเสร็จ จึงเป็นหน้าที่ ที่สำนักงาน กปร. จะดำเนินการและประสานงานต่อ ไม่ว่าจะเป็นงานในเชิงของการบริหารจัดการ หรือทำให้โครงการเกิดความต่อเนื่อง หรือการสร้างเครือข่ายอะไรก็ตาม

ส่วนงานบางอย่างที่เป็นงานในเชิงของงานวิชาการ การศึกษาทดลองวิจัย โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง 6 แห่ง ก็มีงานที่อยู่ระหว่างการดำเนินงาน บางอย่างผลงานใกล้ออกมาแล้ว ถ้าสามารถดำเนินงานต่อจะเป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้น

เลขาธิการ กปร. อธิบายให้ฟังว่า สำนักงาน กปร. เป็นหน่วยราชการที่ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี การทำงานต่อไปข้างหน้า ต้องรอข้อสั่งการจากข้างบนลงมา ในฐานะที่ท่านเป็นหัวหน้าของรัฐบาล ทางสำนักงาน กปร. ก็จะดำเนินการตาม เรียกว่างานทุกอย่างไม่หยุดนิ่ง และคิดว่าน่าจะมีมากขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ

ภารกิจหน้าที่ของสำนักงาน กปร. มีหลายๆ มิติ หลายๆ ด้าน และเกี่ยวข้องงานทางด้านวิชาการด้วย โดยเฉพาะโครงการที่บูรณาการ หรือเป็นเรื่องเฉพาะ ตัวอย่างเช่น เรื่องของศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ทั้ง 6 แห่ง จะมีการศึกษาทดลองวิจัยอยู่ในนั้น ทำอย่างไรที่จะหารูปแบบของการทำการเกษตรตามแนวพระราชดำริ เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของแต่ละคน

หรืออย่างเรื่องของหญ้าแฝกที่มีเรื่องของวิชาการอยู่ด้วย เป็นการทำร่วมกับหน่วยงานอื่น แต่ว่างานส่วนใหญ่ของสำนักงาน กปร. เป็นหน่วยงานประสานงาน สำนักงาน กปร. ไม่ได้เป็นคนทำ เพราะฉะนั้น การคุยกันหรือการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น การหาข้อมูลพื้นฐาน จนถึงกราบบังคมทูล คือหัวใจหลักที่สำนักงาน กปร. ได้ปฏิบัติมา ถ้าทำไม่ได้ก็ขอความร่วมมือจากนักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญ

กว่า 4 พันโครงการ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องน้ำ

คุณดนุชา เล่าว่า ในจำนวนโครงการ 4,685 โครงการ เกินร้อยละ 60 เป็นเรื่องของแหล่งน้ำ ที่กระจายอยู่หลายๆ ภูมิภาค โดยแบ่งโครงการพวกนี้เป็น 8 ประเภท ด้านแหล่งน้ำ ซึ่งก็มีหลายเรื่อง ทั้งอ่างเก็บน้ำ เขื่อน ฝาย และระบบน้ำตามแนวพระราชดำริ นอกจากนี้ มีด้านเกษตร ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านบูรณาการ ฯลฯ

ยกตัวอย่างในพื้นที่ปากพนัง ในอดีตที่ผ่านมา ปากพนังถือว่าเป็นแหล่งอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญของทางภาคใต้ เมืองนครศรีธรรมราชเป็นเมืองท่าที่ใหญ่ แต่ว่าในการพัฒนาที่ผ่านมามีอยู่ในยุคสมัยหนึ่ง โดยเฉพาะด้านการทำการเกษตร มีการทำนากุ้งต่างๆ ทำให้เกิดผลกระทบจำนวนนาข้าวลดลง ด้วยคนเปลี่ยนมาทำนากุ้งแทน แต่ในด้านของสิ่งแวดล้อม น้ำเค็มเข้ามาในทางพื้นที่แถวปากพนัง จนเกิดปัญหาขึ้น

แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 คือการบริหารจัดการน้ำในส่วนของลุ่มน้ำปากพนัง ทำอย่างไรที่จะระบายกั้นไม่ให้น้ำเค็มรุกล้ำเข้ามา แล้วระบายน้ำไล่น้ำเค็มออกไป พร้อมเก็บน้ำจืดไว้ เป็นการพลิกพื้นที่ที่สิ่งแวดล้อมกำลังจะเสื่อมโทรม ช่วยให้กลับมามีสภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีให้พอสำหรับปลูกข้าว เป็นเรื่องการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ที่มีการทำการเกษตรโดยเฉพาะที่กระทบกับสิ่งแวดล้อม

ในส่วนของศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง มีอยู่ด้วยกัน 2 ส่วน 2 ลักษณะ ส่วนแรกเป็นส่วนที่สำนักงาน กปร. ได้เริ่มทำมาด้วยบทบาทหน้าที่ของสำนักงาน กปร. เอง ตั้งแต่ประมาณปี 2550-2553 มีการจัดประกวดทั้งหน่วยงานราชการ ภาครัฐ ภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ ภาคประชาชนต่างๆ ทำเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง และมีการติดตามว่าผลขององค์กรภาคเอกชน หรือรัฐบาล ได้มีการขับเคลื่อนกันอย่างไร เป็นการดำเนินการกันอย่างต่อเนื่อง

ส่วนที่ 2 ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ในภาคส่วนของราชการอื่นๆ สำนักงาน กปร. ก็ไปร่วมด้วย ก็ถือว่าเป็นภาคีเครือข่ายในการขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

“ปัจจุบันนี้จะเห็นว่าหลายๆ ภาคส่วนมีเรื่องของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแทรกอยู่ เป็นหลักสำคัญในพื้นฐานหลายๆ ส่วน ทั้งเรื่องเกษตร เรื่องอุตสาหกรรม และแม้กระทั่งตอนนี้เป็นเรื่องของนานาชาติไปแล้ว สังเกตว่านโยบายหรือการชี้แนะของท่านนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือเรื่องของการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปให้เป็นที่ยอมรับในสังคมโลกมากขึ้น ทั้งใกล้ประเทศไทย และระดับนานาชาติที่สนใจ เรียกว่า G77 หรืออาเซียนก็เป็นเรื่องหนึ่งที่สำนักงาน กปร. มีส่วนเข้าไปช่วยเรื่องข้อมูล หรือใครต้องการมาชมตัวอย่างก็พาไปดูในพื้นที่”

ชี้บางอย่างวัดเป็นเงินไม่ได้

เลขาธิการ กปร. พูดถึงทิศทางการขยายผลความสำเร็จของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยเฉพาะเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงว่ามีหลายๆ รูปแบบ เพราะมีเครือข่ายภาคีจำนวนมาก อย่างกระทรวงมหาดไทย กระทรวงอื่นๆ หรือตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ทำอยู่ ทางสำนักงาน กปร. ก็ไปร่วมด้วย โดยมีเครือข่ายการให้ความรู้ผ่านหมู่บ้านรอบศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ต่างๆ

ขณะเดียวกัน ในศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ก็เปิดรับการอบรมจากหลายๆ ภาคส่วนมากขึ้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนี้ก็มีส่วนที่จะนำพาเกษตรกรผู้ที่สนใจมาเรียนรู้ นี่ก็เป็นวิธีการหนึ่ง แต่ว่าทั้งนี้ทั้งนั้นต้องค่อยๆ ทำ เพราะว่าพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ หรือจำนวนผู้สนใจ ผู้ที่เข้าอบรมเยอะมาก จึงต้องวางแผนให้ดี สิ่งที่เป็นห่วงคืออบรมแล้วนำไปใช้จริงๆ มากน้อยแค่ไหน อันนี้ต้องมีการติดตามประเมินผลก็พยายามทำอยู่

สำหรับตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการนั้น คุณดนุชา ระบุว่า ถ้าพูดถึงในภาพรวมบรรลุผลสำเร็จไปแล้วหลายโครงการ แล้วถ้าจะไปวัดในอนาคตอีกก็วัดได้อีกว่าสำเร็จ อย่างไรก็ตาม บางทีผลสำเร็จในทางเศรษฐศาสตร์ หรือทางการเงินก็เรื่องหนึ่ง แต่บางทีมีมิติอื่นที่วัดเป็นเงินไม่ได้ เช่น เรื่องความมั่นคงทางด้านอาหาร เรื่องความมั่นคงของการประกอบอาชีพของพี่น้องประชาชน มีหลายๆ โครงการ รวมทั้งภาคการเกษตร ถ้าไปถามพี่น้องประชาชนที่เป็นคนรับพระราชทานความช่วยเหลือจากพระองค์ท่าน คนกลุ่มนี้จะตอบได้ว่ามีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นอย่างไร

เลขาธิการ กปร. ยังให้รายละเอียดเกี่ยวกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ในแต่ละพื้นที่ 6 พื้นที่ 6 ศูนย์ ว่า แต่ละศูนย์ปัญหาก็ไม่เหมือนกัน หรืออย่าง “สวนจิตรลดา” ก็เหมือนห้องศึกษาทดลองของพระองค์ท่าน เมื่อได้ผลอย่างไรก็ร่วมกับนักวิชาการ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำในพื้นที่นั้นๆ เป็นตัวอย่าง แต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน

กรณีโครงงานที่เห็นตัวอย่างแล้วสามารถพูดได้ว่าอันนี้เป็นพระอัจฉริยภาพแล้วก็พระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลก็คือเรื่องของแหล่งน้ำ ในการป้องกันปัญหาเรื่องน้ำ โดยเฉพาะน้ำท่วม ซึ่งก็มีโครงการใหญ่ๆ หรือขนาดกลาง หรือระบบวิธีการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ หรืออ่างเก็บน้ำ และแก้มลิงต่างๆ

“อันนี้ผมคิดว่าเป็นพระอัจฉริยภาพโดยตรงของพระองค์ท่าน เราได้รับพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานโครงการเหล่านี้มา เด็กรุ่นใหม่ๆ อาจจะไม่ค่อยทราบว่าสมัยก่อนปัญหาคืออะไร เพราะโครงการเสร็จแล้ว แต่ว่าถ้าถามผู้ใหญ่ในอดีต ก่อนที่มีโครงการพวกนี้จะรู้ว่าปัญหาของน้ำท่วมคืออย่างไร กรุงเทพมหานครที่บอกว่าน้ำท่วมในสมัยก่อนหนักหนากว่านี้ ต้องค่อยๆ แก้ไข ฉะนั้น ในอนาคตถ้ามาคุยกันเรื่องของผลสัมฤทธิ์หรือว่าความสำเร็จก็พูดได้อีกเพราะว่าสำเร็จมาตลอด ดีกว่าสมัยก่อนตลอด แต่บางอย่างวัดเป็นเงินไม่ได้ วัดในทางเศรษฐศาสตร์ไม่ได้อย่างเดียว แต่มีความมั่นคงในด้านอื่นๆ”

%e0%b9%83%e0%b8%99%e0%b8%ab%e0%b8%a5%e0%b8%a7%e0%b8%87

ทรงทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง

สำหรับโครงการสำคัญๆ ที่ประสบความสำเร็จ อาทิ เรื่องการคมนาคม เรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม บางทีก็เป็นพระราชดำริโดยตรงหรือว่ามีส่วนที่พระราชทานความช่วยเหลือ หรือทรงชี้แนะแนวให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะเห็นได้ว่าโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเป็นเสมือนสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานเพื่อเป็นตัวอย่าง มีผลสัมฤทธิ์ มีโครงการ มีข้อมูลสถิติอะไรไว้แล้วก็พระราชทานให้พสกนิกรน้อมนำไปทดลองทำ แล้วปฏิบัติหรือขยายผล

ฉะนั้น การที่จะสืบสานแนวพระราชปณิธานของพระองค์ท่าน ไม่ใช่เฉพาะหน่วยราชการอย่างเดียว มีทางภาคเอกชน ภาคประชาชน อย่างเรื่องทางการเกษตรอาจจะเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่าคนน้อมนำเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปทำจำนวนมาก

“พระองค์ท่านพระราชทานและทรงทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง เป็นโครงการที่ทรงต้องการให้เป็นมรรคเป็นผล ไม่ได้ทรงงานเหมือนกับว่าทำแข่งกับรัฐบาล งานโครงการพระราชดำริเห็นด้วยให้ไปลองทำดู ประชาชนเห็นชอบก็น้อมนำไปทำ ขณะที่บางอย่างเป็นปรัชญาสำหรับน้อมนำไปคิดไปใช้”

%e0%b9%83%e0%b8%99%e0%b8%ab%e0%b8%a5%e0%b8%a7%e0%b8%872222

เลขาธิการ กปร. ท่านนี้ยังบอกด้วยว่า ปัจจุบันนี้โครงการสำคัญๆ ที่ขับเคลื่อนร่วมกับรัฐบาล คือเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงภาคเกษตรและชนบท ซึ่งในเมืองไทยทั้งหมดมีประมาณ 78,000 กว่าหมู่บ้าน การที่จะขับเคลื่อนตามแนวทางนี้ อย่างน้อยควรจะต้องมีประมาณร้อยละ 25 ของหมู่บ้านทั้งหมดประมาณ 24,000 กว่าหมู่บ้าน เพื่อให้เกิดแรงกระตุ้นให้เป็นมรรคเป็นผลของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นลักษณะของการที่ภาครัฐส่วนกลางมีส่วนร่วม และให้ชาวบ้านสำรวจตัวเอง เพราะเงื่อนไขอันหนึ่งของเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ทุกคนหรือทุกหมู่บ้านต้องรู้จักตัวตนว่าปัญหา หรือความต้องการที่เหมาะสมเป็นอย่างไร ภาครัฐ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฉพาะด้านนั้นๆ ก็คงไปช่วย

“นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายโครงการที่พระองค์ท่านทรงทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง และช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม-ฝนแล้ง อย่างเช่น โครงการแก้มลิง หรือเรื่องของป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง หรืออย่างการแก้ปัญหาโรคเรื้อน พระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่านที่ทั่วโลกยกย่องและหลายประเทศมาขอศึกษาดูงาน นั่นคือ เรื่องฝนหลวง เดี๋ยวนี้เป็นกรมฝนหลวง เป็นพระอัจฉริยภาพที่ทรงค้นคิดขึ้น หน่วยราชการกระทรวงเกษตรฯ เข้าไปน้อมนำมาทำ ประโยชน์ก็เกิดขึ้น”