เพราะเหงามันตัวเท่าบ้าน จูงมือกันลาออกจากงานประจำ ทำ ฟาร์มฝันแม่ เป็นจริง

เพราะเหงามันตัวเท่าบ้าน จูงมือกันลาออกจากงานประจำ ทำ ฟาร์มฝันแม่ เป็นจริง
เพราะเหงามันตัวเท่าบ้าน จูงมือกันลาออกจากงานประจำ ทำ ฟาร์มฝันแม่ เป็นจริง

เพราะเหงามันตัวเท่าบ้าน จูงมือกันลาออกจากงานประจำ ทำ ฟาร์มฝันแม่ เป็นจริง

คุณโอเล่-ภิญญา ศรีสาหร่าย เจ้าของแปลงผักอินทรีย์ บนพื้นที่ 15 ไร่ ตั้งอยู่ที่ ต.น้ำพุ อ.เมือง จ.ราชบุรี ให้ชื่อกิจการที่ดูแลอยู่ว่า ฟาร์มฝันแม่ เริ่มต้นให้ฟัง คุณพ่อ-คุณแม่ ของเขา มีประสบการณ์ปลูกผักอินทรีย์ มายาวนานพอตัว เลยใฝ่ฝันอยากมีที่ดินเป็นของตัวเอง กระทั่งปี 2557 มาซื้อที่ดินที่จังหวัดราชบุรี และลงมือพลิกฟื้นที่ดินจากสวนมันสำปะหลังโล่งๆ ให้กลายเป็นที่ดินเหมาะแก่การทำเกษตรผสมผสาน

“เริ่มทำสวนบนที่ดินตัวเองได้ 2 ปี มี คุณพ่อ-คุณแม่ ช่วยกันดูแล ส่วนผมยังทำงานบริษัทในตำแหน่งวิศวกร แต่คุณพ่อมาเสียชีวิตกะทันหัน ไม่มีใครมาสานต่อ เลยตัดสินใจออกจากงานประจำมาทำเกษตร” คุณโอเล่ เล่าที่มา

ก่อนเผยต่อ ความตั้งใจในการทำเกษตรของเขา ต้องทำแบบคนรุ่นใหม่ คือ ไม่ทำแบบเดิมๆ ต้องไปศึกษาคนที่ทำสำเร็จ และนำมาปรับเปลี่ยนจากวิชาที่ได้จากคุณแม่ลำพึง ของเขา

“ผมโชคดีอย่างหนึ่ง คือ คุณแม่ลำพึง ท่านทำเกษตรอินทรีย์มานานเป็นสิบปีแล้ว เมื่อมาสานต่อ ก็นำความรู้จากแม่ไปศึกษาและต่อยอด เลยไปได้ไว ทำให้ทุกวันนี้ มีพืชผักที่ได้มาตรฐานอินทรีย์ พร้อมจำหน่ายรวมกว่า 40 รายการ เช่น คะน้า กวางตุ้ง สลัด ปลูกหมุนเวียน แคร์รอต ไชเท้า ผักชี ปลูกตามฤดูกาล ไม่ปลูกซ้ำ บนพื้นที่ 15 ไร่ แบ่งเป็นโซน คือ พืชผัก พืชไร่ ป่าผสมผสาน และ ไม้ผสมผสาน” คุณโอเล่ เผย

คุณปลา-คุณโอเล่

ส่วนคุณปลา – ภีรดา ภรรยาคู่ชีวิตของคุณโอเล่ ซึ่งเรียนจบด้านจิตวิทยา และก่อนหน้านี้ทำงานบริษัท เล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า สาเหตุที่ตัดสินใจทิ้งงานประจำ คือ อยากมีเวลากับครอบครัว ที่ผ่ามมาต่างคนต่างทำงาน แถมอยู่กันคนละจังหวัด แม้มีเงินเดือนสูง แต่ชีวิตไม่มีอิสระ หาความสุขไม่ได้เลย ตื่นเช้ามาต้องแข่งกับเวลา รีบอาบน้ำแต่งตัว หัวฟูไปทำงาน ตกเย็นกลับมาบ้านพัก ต้องอยู่คนเดียว ไม่มีเพื่อนคู่คิด

“วันไหนเหนื่อยล้า ความเหงาตัวเท่าบ้านโผล่มาหลอน เลยตั้งคำถามกับตัวเอง ชีวิตนี้ต้องการอะไร แว่บหนึ่งคำตอบโผล่มา  ความสุขที่จะได้อยู่กับครอบครัว อยู่กับคนที่เรารัก เราต่างมุ่งหาเงิน เก็บไว้ใช้ซื้อโน่น นี่นั่น ที่อยากได้ เพื่อเป็นของขวัญเป็นรางวัลให้กับชีวิต แท้จริงแล้วไม่ได้ช่วยเพิ่มมวลความสุขในชีวิตที่ขาดหายไปได้เลย ไม่เอาแล้วชีวิตแบบนี้ ในที่สุดตัดสินใจร่วมกันลาออกจากงาน กลับไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ ตั้งใจสานฝันของคุณแม่-คุณพ่อ ของสามี วันนี้ความตั้งใจหลายอย่างชัดขึ้น จึงตั้งชื่อสวนว่า ฟาร์มฝันแม่” คุณปลา บอก อย่างนั้น

จากจุดเริ่มถึงปัจจุบัน ประสบการณ์ในการทำฟาร์มอินทรีย์มา 4 ปี ทั้ง คุณโอเล่ และ คุณปลา ให้ความสำคัญกับการจดบันทึก ซึ่งพบว่าหากสภาพอากาศยังเปลี่ยนแปลงบ่อยแบบนี้ ต้องหาทางใหม่ๆ มาพัฒนา ซึ่งคำตอบอยู่ที่การทำ สมาร์ทฟาร์ม

สอนทำปุ๋ย

“ท่ามกลางความท้าทายของอากาศ ต้องมีการเตรียมพร้อมอยู่เสมอ เราจึงเรียนรู้ และลงทุนทำเป็นสมาร์ทฟาร์ม มีระบบตรวจจับอุณหภูมิ ระบบเซ็นเซอร์ การวัดความชื้นสัมพัทธ์ ให้น้ำตามเวลา แม้ไม่มีแรงงานยังสามารถทำได้ เพื่อให้คุณภาพสินค้าดี ปลูกผักได้ทุกฤดู” สองสามีภรรยา ช่วยกันให้ข้อมูล

ก่อนบอกอีกว่า จากวันที่เดินออกมาจากห้องทำงานประจำ หันมาจับจอบจับเสียม สวมหมวกเกษตรกรอินทรีย์เต็มรูปแบบ ไม่รู้สึกเสียดายเลย เพราะทำให้สัมผัสได้ถึงความสุข อยู่พร้อมหน้าครอบครัวตื่นเช้ามาทำอาหารให้ลูกกิน มีเวลาพาไปเที่ยว โดยไม่ต้องลุ้นลายเซ็นอนุมัติจากหัวหน้า สามารถตอบโจทย์สมการชีวิต ความสุขของครอบครัว

“อาชีพเกษตรอินทรีย์ สร้างคุณค่าให้ชีวิตเรามากมาย ทำให้ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสามพรานโมเดล ในนามกลุ่มเกษตรอินทรีย์ร่มเย็นราชบุรี ได้เจอลูกค้าโตยตรง ไม่ต้องขายผ่านพ่อค้าคนกลาง สามารถกำหนดราคาขายเองได้ มีการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม ทุกคนช่วยกันคิด และนำความรู้ใหม่ๆ มาแชร์กันทุกเดือน โดยมีทีมสามพรานโมเดล เข้ามาเป็นพี่เลี้ยง สอนเทคนิค ชี้แนะช่องทางการตลาดใหม่ๆ ทำให้เห็นโอกาสในการสร้างรายได้ และเกิดพลังในที่จะพัฒนาเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพมาตรฐาน ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค” คุณโอเล่ เผย

ก่อนบอกทิ้งท้าย สำหรับผลผลิตของฟาร์มฝันแม่ ปกติจะถูกส่งเข้าห้องครัวของโรงแรมสวนสามพราน และ แบ่งไปจำหน่ายที่ตลาดสุขใจ จ.นครปฐม (เฉพาะเสาร์-อาทิตย์) ตลาดวิถีธรรมชาติ จ.ราชบุรี (วันศุกร์) ที่เหลือกระจายสู่ผู้บริโภคในกรุงเทพฯ

นักท่องเที่ยวสนใจ

ปัจจุบัน ฟาร์มฝันแม่ เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ เทคนิคการเพาะและอนุบาลผักสลัด ตั้งแต่การหยอดเมล็ด การย้ายต้นกล้า การดูแล และการเก็บเกี่ยว การทำอาหารของผัก การชมสวนผลไม้ผสมผสาน และเดินชมสวนป่า รู้จักประโยชน์และคุณค่า

“สิ่งที่ฟาร์มฝันแม่ อยากให้ทุกคนได้เรียนรู้ได้รับกลับไปคือ เห็นถึงความตั้งใจในการผลิตพืชผักอินทรีย์ที่มีคุณภาพ พร้อมส่งมอบให้ผู้บริโภค ที่ทุกขั้นตอนต้องเข้าใจและใส่ใจ เรียนรู้ว่าการปลูกพืชผักอินทรีย์นั้นไม่ยาก แต่การปลูกให้รอดนั้นยาก เพราะผักแต่ละชนิดต่างกัน ต้องการการดูแลที่แตกต่างกัน ในการทำเกษตรอินทรีย์ จึงต้องมีการจดบันทึก ทดลองทำ ทำให้เกิดความรู้ใหม่ๆ เพื่อนำมาปรับพัฒนาแปลง” เจ้าของเรื่องราว ฝากทิ้งท้ายไว้อย่างนั้น