เที่ยววิถีอินทรีย์ เครื่องมือสร้างระบบอาหารยั่งยืน ตามดูผัก-ไข่ ปลอดภัย มาจากไหน

เที่ยววิถีอินทรีย์ เครื่องมือสร้างระบบอาหารยั่งยืน ตามดูผัก-ไข่ ปลอดภัย มาจากไหน
เที่ยววิถีอินทรีย์ เครื่องมือสร้างระบบอาหารยั่งยืน ตามดูผัก-ไข่ ปลอดภัย มาจากไหน

เที่ยววิถีอินทรีย์ เครื่องมือสร้างระบบอาหารยั่งยืน ตามดูผัก-ไข่ ปลอดภัย มาจากไหน

จากประสบการณ์ขับเคลื่อน สามพรานโมเดล หรือ โมเดลธุรกิจเกื้อกูลสังคม เชื่อมโยงห่วงโซ่อินทรีย์ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มายาวนานกว่า 10 ปี และประสบการณ์ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวยาวนานกว่า 5 ทศวรรษ ของสวนสามพราน ได้ช่วยพัฒนายกระดับให้เกษตรกรอินทรีย์ในเครือข่าย รวมถึงกลุ่มเกษตรอินทรีย์ร่มเย็นราชบุรี มีความพร้อมที่จะเปิดบ้าน เปิดฟาร์ม ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยววิถีอินทรีย์

คุณอรุษ นวราช กรรมการผู้จัดการ สวนสามพราน ในฐานะผู้ริเริ่ม สามพรานโมเดล กล่าวถึงความหมายของการเที่ยววิถีอินทรีย์ หรือ Organic Tourism ว่า เป็นการท่องเที่ยวที่ให้มากกว่าเที่ยว แต่การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือสร้างระบบอาหารยั่งยืน  ซึ่งคุณค่าที่ผู้บริโภคหรือนักท่องเที่ยวได้สัมผัส ไม่เพียงแค่ ได้เข้าถึง ได้บริโภคอาหารปลอดภัย แต่ยังได้เข้าใจการทำเกษตรอินทรีย์ ได้เห็นกระบวนการผลิต การทำงานในแปลง หลักคิดต่างๆ ที่สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้เองที่บ้าน รวมถึงได้เปิดมุมมองใหม่ๆ ทั้งจากปราชญ์เกษตรกร และเกษตรกรอินทรีย์รุ่นใหม่ ที่สามารถนำพื้นฐานความรู้เดิมมาบริหารจัดการฟาร์มให้ได้มาตรฐานสากล มีการนำนวัตกรรมเข้ามาใช้ เพื่อเอาชนะข้อจำกัดด้านฤดูกาล ทำให้ได้ผลผลิต ดีขึ้น และช่วยลดต้นทุน ทั้งมีการเชื่อมโยงทำงานกับกลุ่มอย่างเป็นระบบ ทำให้สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในแปลง

โดยเมื่อเร็วๆ นี้ สามพรานโมเดล และสวนสามพราน ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้นำผู้บริโภคลงพื้นที่ ท่องเที่ยววิถีอินทรีย์  เป็นโปรแกรมเที่ยววันเดียวกลับ นักท่องเที่ยวสามารถปักหมุดไปเที่ยวยังฟาร์มอินทรีย์ในจังหวัดราชบุรีได้เอง ถึง 2 ฟาร์ม คือ ไปดูฟาร์มไก่ไข่อินทรีย์ บ้านสวนสานสุข ต.อ่างหิน อ.ปากท่อ และไปชมฟาร์มผักอินทรีย์ ที่ ฟาร์มฝันแม่ ต.น้ำพุ อ.เมือง จ.ราชบุรี

ผสมอาหารเสริมให้ไก่

ที่ ฟาร์มไข่ไก่อินทรีย์ บ้านสวนสานสุข นักท่องเที่ยวจะได้พบกับ การนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในฟาร์ม สามารถลดต้นทุนได้ไม่น้อย โดย คุณจี๊ป-ศุภกร ชินบุตร เกษตรรุ่นใหม่ เจ้าของพื้นที่ บอกว่า การเลี้ยงไก่ไข่ในระบบอินทรีย์ต้องดูแลเอาใจใส่ โดยเฉพาะเรื่องอาหารไก่ วัตถุดิบที่นำมาผสมต้องผ่านการผลิตในระบบอินทรีย์ที่ได้มาตรฐาน เช่น รำ ปลายข้าว ผัก ผลไม้สุก ซึ่งหาซื้อค่อนข้างยาก เขาจึงเลือกทำเกษตรผสมผสาน ผลิตอาหารสัตว์ควบคู่ไปด้วย ทำนา ปลูกข้าว ปลูกพืชผักต่างๆ และ นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในฟาร์ม เพื่อลดต้นทุน ขณะเดียวกันลดผลกระทบปัญหาสิ่งแวดล้อมในฟาร์มด้วย

ผลผลิตอินทรีย์ ของเพื่อนสมาชิกในกลุ่มเกษตรอินทรีย์ร่มเย็นราชบุรี

นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวจะได้รับความรู้เรื่องการทำฟาร์มไก่อินทรีย์ครบวงจร ได้เห็นถึงการเตรียมอาหาร สูตรอาหารไก่ ทั้งอาหารหลัก อาหารเสริม  ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการมาฟาร์มไก่ไข่อินทรีย์  ที่ผู้บริโภคได้เข้าใจว่าเหตุใด ไข่แดงอินทรีย์จึงไม่ใช่สีแดงสด เหมือนไข่แดงทั่วไป พร้อมทั้งได้ชิม ได้ช็อป อาหารแปรรูปที่มีส่วนผสมของไข่ไก่อินทรีย์ เช่น เส้นบะหมี่ไข่ แผ่นเกี๊ยวไข่ ไอศกรีม และเบเกอรี่ต่างๆ รวมถึงผลผลิตอินทรีย์ของเพื่อนสมาชิกในกลุ่มเกษตรอินทรีย์ร่มเย็นราชบุรี เช่น มะพร้าวน้ำหอม สับปะรดบ้านคา ไวน์ม่อน ฯลฯ

คุณจี๊ป-ศุภกร ชินบุตร

ส่วนที่ ฟาร์มฝันแม่ ต.น้ำพุ อ.เมือง จ.ราชบุรี มี คุณลำพึง ศรีสาหร่าย เป็นหัวเรือใหญ่ ที่พร้อมเปิดฟาร์มจริงให้เรียนรู้วิธีการบริหารจัดการแปลง ที่ทำให้มีพืชผักอินทรีย์คุณภาพหลากหลาย ออกสู่ตลาดตลอดทั้งปี รวมถึงประโยชน์ของการจดบันทึกที่ทำให้สามารถยกระดับพัฒนาแปลง เอาชนะความท้าทายของธรรมชาติ ฤดูกาล และก้าวสู่การเป็นสมาร์ทฟาร์ม

นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้หลักคิดการทำเกษตรอินทรีย์ ระบบการจัดการ ของฟาร์มฝันแม่ ในรูปแบบสมาร์ทฟาร์ม ที่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ได้เรียนรู้เทคนิคการปลูกผักสลัดได้ทั้งปี ได้เรียนรู้การทำปุ๋ยหมัก เดินชมสวนผลไม้ สวนป่า และสิ่งที่ ฟาร์มฝันแม่ อยากให้ทุกคนได้เรียนรู้ คือ อยากให้เห็นถึงความตั้งใจในการผลิตพืชผักอินทรีย์ที่มีคุณภาพ การปลูกนั้นไม่ยาก แต่การดูแลให้เติบโตพร้อมส่งถึงมือผู้บริโภคนั้นยากกว่า

ที่ ฟาร์มฝันแม่
เรียนรู้การทำปุ๋ย

สำหรับหน่วยงาน องค์กร หรือผู้บริโภค ที่สนใจการท่องเที่ยว-เรียนรู้วิถีอินทรีย์ กับสามพรานโมเดล ติดต่อมาได้ที่ สวนสามพราน หรือปรึกษาโปรแกรมการท่องเที่ยว เรียนรู้วิถีอินทรีย์ ติดต่อได้ที่ สมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย หรือสมัคร TOCA Platform กด Link: https://lin.ee/1uDee1A หรือ ติดต่อ คุณธนัญญา ลาภจิรานนท์  โทรศัพท์ (082) 337-7881