บ้านวัยเก๋า ก่อสร้าง-ต่อเติม อย่างไร ให้คนที่คุณรัก อยู่สบายและปลอดภัย

บ้านวัยเก๋า ก่อสร้าง-ต่อเติม อย่างไร ให้คนที่คุณรัก อยู่สบายและปลอดภัย

สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดการณ์ไว้ปี 2564  ไทย จะเข้าสู่ สังคมผู้สูงวัย อย่างสมบูรณ์ เป็นประเทศที่สองของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ โดยประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จะมีจำนวนไม่น้อยกว่า 13 ล้านคน หรือร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด

สังคมผู้สูงวัย จึงกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวในทุกมิติ โดยเฉพาะเรื่องของความต้องการขั้นพื้นฐาน อย่าง ที่อยู่อาศัย ซึ่งหลายคนให้ความสำคัญ

ล่าสุด ทาง SCG Experience สาขาเลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา เปิดพื้นที่ บ้านวัยเก๋า ที่ขนเอานวัตกรรมเพื่อบ้านสำหรับผู้สูงวัย ตั้งแต่การให้ความรู้ คำปรึกษา เพื่อออกแบบพื้นที่ผู้สูงวัย และการออกแบบเพื่อรองรับการอยู่อาศัยในแต่ละกลุ่ม อาทิ ห้องนอน ห้องน้ำ เป็นต้น มาคอยให้บริการลูกค้าผู้สนใจ

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะก่อสร้างต่อเติมบ้านเพื่อผู้สูงวัย ต้องมีการสำรวจก่อนว่าปูชนียบุคคลในครอบครัวนั้น  ย่างเข้าสู่วัยสูงอายุหรือยัง เริ่มต้นจากการสังเกต การทำงานของร่างกายภายนอก เช่น จมูก การดมกลิ่น และ รับกลิ่นไม่ดี  ระบบหายใจ เหนื่อยง่าย สำลักอาหารง่าย  ร่างกายเคลื่อนไหวช้าลง หกล้มง่าย มือสั่น สมอง     ขี้ลืม พูดซ้ำเรื่องเดิม นอนหลับยาก ลิ้น การรับรสไม่ดี เบื่ออาหาร ผิวหนัง เหี่ยวย่น เส้นเลือดฝอยแตกง่าย  ระบบขับถ่ายปัสสาวะบ่อย ไม่สะดวก หูได้ยินไม่ชัดเจน ด้านจิตใจ ยึดมั่นในความคิดของตนเอง ขี้น้อยใจ หงุดหงิดง่าย โกรธง่าย เป็นต้น

ตัวอย่าง เตียงนอนสำหรับผู้สูงวัย

จากนั้นจึงควรเข้าใจว่า ผู้สูงวัย สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ คือ

Green – ผู้สูงวัยกลุ่มสีเขียว คือ ผู้สูงวัยที่สามารถใช้ชีวิตหรือกิจกรรมทั้งในบ้านและนอกบ้านได้ตามปกติ

Yellow – ผู้สูงวัยกลุ่มสีเหลือง คือ ผู้สูงวัยที่เริ่มมีปัญหาการเสื่อมถอยของร่างกาย หรือมีปัญหาด้านสุขภาพเล็กน้อย แต่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้

Orange – ผู้สูงวัยกลุ่มสีส้ม คือ ผู้สูงวัยที่มีปัญหาด้านสุขภาพค่อนข้างมาก ในการใช้ชีวิตประจำวัน มีความสะดวกน้อยลง  ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในบางกิจกรรม

ซึ่งในกรณี ที่ต้องการให้ผู้สูงวัยกลุ่มสีเหลืองและกลุ่มสีส้ม อยู่สบาย อุ่นใจ ทุกช่วงเวลา สามารถปรับปรุงได้หลายจุด เช่น พื้นที่ที่มีการเปลี่ยนระดับ อย่าง บันได ควรมีความสูงไม่เกิน 15 เซนติเมตร และใช้สีที่ตัดกันของลูกตั้งและลูกนอน เพื่อสะดวกต่อการมองเห็น ไม่มีสิ่งกีดขวางตามทางเดิน และ พื้นที่ที่เป็นจุดเสี่ยง เช่น ทางขึ้นลงบันได หน้าประตูห้องน้ำ ควรเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ ที่ไม่มีเหลี่ยมมุม เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ

และหากใช้ชีวิตสะดวก ต้องการใช้พื้นที่ชั้นบนของที่พักอาศัย สามารถเพิ่มความสะดกสบาย ด้วยลิฟท์บันได เป็นตัวเลือกในการขึ้นลงระหว่างชั้น นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ช่วยให้ผู้สูงอายุดำเนินกิจวัตรประจำวันภายในบ้าน เข้าถึงพื้นที่ทั้งชั้นบนและชั้นล่าง ได้อย่างมั่นใจในความปลอดภัย

ตัวอย่าง ห้องน้ำในบ้านวัยเก๋า

ส่วน  ห้องน้ำ สำหรับผู้สูงอายุ นับเป็นพื้นที่สำคัญในบ้าน ที่ควรให้ความใส่ใจในทุกรายละเอียด นับแต่

อ่างล้างหน้า ควรใช้อ่างล้างหน้า ที่สามารถรับน้ำหนักการเท้าแขนของผู้สูงอายุได้ดี สำหรับผู้สูงอายุที่ใช้ วีลแชร์ควรเลือกอ่างที่มีส่วนโค้งด้านหน้า และพื้นที่ว่างใต้อ่าง เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการใช้วีลแชร์ และมีราวจับช่วยทรงตัวขณะล้างหน้า

ก๊อกน้ำ ควรเป็นแบบก้านโยกมากกว่าแบบหมุน เพราะผู้สูงอายุ อาจจะกำมือไม่แน่น ไม่มีแรงหมุน และควรเป็นก๊อกผสมน้ำร้อนและน้ำเย็นในหัวเดียวกัน เพื่อป้องกันน้ำร้อนลวก

ตัวอย่าง ราวจับติดผนัง ช่วยทรงตัว

โถสุขภัณฑ์ ควรเป็นโถนั่งราบ ที่กดชำระแบบคันโยก สูงจากพื้นประมาณ 42.5-45 เซนติเมตร สายชำระติดตั้งด้านข้าง เลือกใช้กระเบื้องที่มีความฝืดผิวกระเบื้องตั้งแต่ R 10 ขึ้นไป

ประตูบานเลื่อน ควรเป็นแบบรางแขวนติดช่องหน้าต่างให้มองจากภายนอกได้ หากใช้ประตูบานเปิด ควรเป็นลักษณะเปิดออก มือจับเปิดประตู แบบแกนหรือแบบฝัง เพราะผู้สูงอายุอาจจะกำลูกบิดไม่ถนัด และไม่มีแรงในการเปิดประตู