“คนตาบอดทำงานได้ทุกอย่าง” วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ นักสู้เพื่อคนพิการ

วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์
วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์

“คนตาบอดทำงานได้ทุกอย่าง” วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ นักสู้เพื่อคนพิการ

ในซอยอรุณอมรินทร์ 39 คือที่ตั้งของ ยิ้มสู้คาเฟ่ ร้านกาแฟจากบาริสต้าที่เงียบที่สุด แต่ส่งมอบความสุขเสียงดังมาก และผู้ก่อตั้งร้านนี้ คือ ศาสตราจารย์ วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ นักสู้ที่เปี่ยมล้นไปด้วยรอยยิ้ม ผู้คอยช่วยเหลือและหยิบยื่นโอกาสมาให้คนพิการอีกหลายคนได้มีอาชีพ มีรายได้ เลี้ยงตัวเอง

โดย ศาสตราจารย์ วิริยะ ไม่ลืมที่จะเอ่ยถึงมิสเจนีวีฟ คอลฟิลด์ (Miss Genevieve Caulfield) สตรีตาบอดชาวอเมริกัน ผู้ก่อตั้งโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ผู้สร้างความเชื่อให้เขาสามเรื่อง

“ผมถูกปลูกฝังความเชื่อมาตลอดว่าคนตาบอดทำอะไรไม่ได้ เมื่อเชื่ออย่างนั้นก็ทำไม่ได้จริงๆ อยู่แต่บ้าน มีคุณพ่อคุณแม่คอยเอาใจ เอาของกินมาให้ถึงห้อง โดยไม่ต้องทำอะไร จนได้พบกับมิสเจนีวีฟ คอลฟิลด์ สตรีตาบอดชาวอเมริกัน ผู้ก่อตั้งโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ท่านมีอุปการคุณต่อพวกเราอย่างมาก”

“ความเชื่อเรื่องแรก ที่ท่านบอกคือ ต้องเชื่อว่า คนตาบอดทำได้ทุกอย่าง และหาเรื่องท้าทายทำ เพราะเรื่องท้าทายจะทำให้เราทำงานได้มากขึ้น และคนจะเห็นว่าเราทำงานได้มากเท่านั้น ที่ผมมาเป็นอาจารย์ได้เพราะความเชื่อข้อนี้ เคยไปดูเรื่องราวของคนตาบอดที่อเมริกา พบว่าคนตาบอดที่นั่นประสบความสำเร็จมากในอาชีพกฎหมาย คนตาบอดเป็นได้ทุกอย่าง ทั้งทนายความ อัยการ ผู้พิพากษา ผมเลยคิดว่าเมืองไทยควรจะมีนักกฎหมาย อย่างน้อยเรามาเรียกร้องเรื่องสิทธิ เราต้องเข้าใจเรื่องกฎหมาย แล้วถ้าเราสอนนักกฎหมาย แล้วเขารู้ว่าคนตาบอดทำอะไรได้ ความคิดเรื่องการจำกัดสิทธิคนตาบอดจะน้อยลง ผมเลยตั้งหน้าตั้งตาเรียนกฎหมายจนสำเร็จ”

“ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มีนโยบายรับคนพิการเป็นอาจารย์ ให้พวกเราสอบเป็นอาจารย์ประจำ และ ดร.ปรีดี ช่วยหาทุนจากสถานทูตต่างๆ ส่งพวกเราไปเรียนต่างประเทศ ผมได้ทุนไปเรียนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด อเมริกา รุ่นเดียวกับ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย เป็นสิ่งที่ทางมหาวิทยาลัยทุ่มเททำ แล้วก็เปิดโอกาสให้กับคนพิการด้วย”

ศาสตราจารย์ วิริยะ
ศาสตราจารย์ วิริยะ

ศาสตราจารย์ วิริยะ เล่าถึงความเชื่อเรื่องที่สองว่า คนทั่วไปจะเข้าใจว่าคนตาบอดมีแต่รอรับ เพราะฉะนั้น ต้องสร้างความเชื่อใหม่ว่า ตาบอดให้ได้

“ผมเถียงไปว่า ตาบอดจะไปให้อะไรใครได้ แค่ตัวเองก็ลำบากอยู่แล้ว ท่านบอกมีเลือดหรือเปล่า ผมบอกมี มีก็ไปบริจาคโลหิต ตั้งแต่นั้นมาทำให้เราบริจาคโลหิตกันเป็นประเพณี รวมถึงรณรงค์เรื่องนี้อยู่เสมอ”

และความเชื่อเรื่องสุดท้าย ที่ทำ ศาสตราจารย์ วิริยะ ตั้งมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ คือ “ท่านบอกว่าข้ามน้ำข้ามทะเลมาช่วยพวกผมไม่ได้หวังอะไร หวังอยู่อย่างเดียวว่า เมื่อดูแลตัวเองได้แล้ว อย่าลืมช่วยรุ่นน้อง ช่วยคนอื่นต่อไป สิ่งเหล่านี้ก้องอยู่ในหูพวกเรา ท่านแนะนำให้รวมตัวกันตั้งสมาคมคนตาบอด และสมาคมนี้คือกลไกขับเคลื่อนกฎหมายสำหรับผู้พิการ”

โดยหลังจากตั้งมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ สิ่งแรกที่มูลนิธิทุ่มเททำ คือ เรียกร้องการนำเข้าอุปกรณ์ใช้สำหรับคนพิการ

“สมัยก่อนอุปกรณ์ที่ใช้กับคนตาบอด ไม่ว่าจะเป็นที่เขียนอักษรเบรลล์ ไม้เท้าขาว ไม่มีขายในไทย ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาแพงมาก เพราะภาษีร้อยละ 30 วิธีแก้ปัญหา คือ ให้สถานทูตช่วยสั่งอุปกรณ์ของใช้มาให้ เพราะสถานทูตไม่ต้องเสียภาษี เราเรียกร้องจนศุลกากรยอม ว่าของใช้สำหรับคนตาบอดนำเข้ามาไม่ต้องเสียภาษี จะเห็นว่าเรื่องที่มิสเจนีวีฟปลูกฝังไว้ ทำให้เกิดดอกเกิดผลมากมายสำหรับการดำเนินชีวิตของพวกเรา” ศาสตราจารย์ วิริยะ ทิ้งท้าย