เป็นหนี้ ไม่ใช่เรื่องน่าอาย แค่ปลดล็อกความเข้าใจ และแก้หนี้ง่ายๆ ด้วยเทคนิคนี้ 

เป็นหนี้ ไม่ใช่เรื่องน่าอาย แค่ปลดล็อกความเข้าใจ และแก้หนี้ง่ายๆ ด้วยเทคนิคนี้ 
เป็นหนี้ ไม่ใช่เรื่องน่าอาย แค่ปลดล็อกความเข้าใจ และแก้หนี้ง่ายๆ ด้วยเทคนิคนี้ 

เป็นหนี้ ไม่ใช่เรื่องน่าอาย แค่ปลดล็อกความเข้าใจ และแก้หนี้ง่ายๆ ด้วยเทคนิคนี้ 

การเป็นหนี้ ถือเป็นปัญหาด้านการเงินที่แก้ไม่ตก ยิ่งในยุคสมัยนี้เราทุกคนมีแนวโน้มเป็นหนี้ได้ง่ายขึ้น อันเนื่องมาจากปัจจัยหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต การใช้เงินเกินตัว จนต้องกู้หนี้ยืมสินทั้งในและนอกระบบ เป็นต้น

โดยข้อมูลจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562 พบคนไทยประมาณ 21 ล้านคนเป็นหนี้ และข้อมูลจากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics พบว่า ในปี 2561 หนี้ของคนไทยส่วนใหญ่มีแนวโน้มมาจาก การบริโภค สะท้อนจากหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลที่มีสัดส่วนสูงถึง 34% ขณะที่หนี้รถมีสัดส่วน 25% หนี้บ้านมีสัดส่วน 40% และหนี้อื่นอีก 1%

นอกจากนี้ สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ออกรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 1 ปี 2563 ระบุว่า มีแรงงานเสี่ยงถูกเลิกจ้างทั้งสิ้น 8.4 ล้านคน ยังไม่นับรวมยอดอื่นๆ ที่อาจจะถูกเลิกจ้างในอนาคตจากการปิดกิจการ หรือปรับโครงสร้างองค์กร

คุณดุจดาว วัฒนปกรณ์ นักจิตวิทยาบำบัด เผยว่า ข้อมูลทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นเรื่องกระทบจิตใจ โดยกรมสุขภาพจิตได้เก็บสถิติ ช่วงล็อกดาวน์ วันที่ 20 มี.ค.-25 เม.ย. พบว่า สถิติการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น 3 เท่าเมื่อเทียบกับระยะเวลานั้นในช่วงปีที่แล้ว เมื่อมองลงไปลึกๆ พบว่า คนที่ตัดสินใจจบชีวิต ส่วนใหญ่มีปัญหาหนี้สิน ที่ไม่สามารถจัดการได้

แต่เมื่อเป็นหนี้แล้ว ทำอย่างไรไม่ให้เรื่องเหล่านี้มากระทบจิตใจ?

ประตูที่ 1 หนีความจริ เมื่อจิตใจไม่ยอมรับความจริง คนเรามักหาคนรับผิดแทน โทษทุกสิ่งอย่างรอบตัว เช่น โทษภรรยา ไม่น่าบอกให้เปิดธุรกิจใหม่เมื่อ 4 ปีที่แล้ว หรือ โทษเพื่อน ทำไมต้องมาชวนลงทุน แย่จะตายอยู่แล้ว ทั้งหมดล้วนเป็นกลไกการจัดการความสุขสบายในใจ นำพาไปสู่ความเคียดแค้น ท้อแท้ และหาทางออกแบบโกรธๆ

หรือบางคนไม่โทษคนอื่น เพราะถูกสอนมาให้โทษตัวเอง ซึ่งอันตรายมาก เพราะการโทษตัวเองจะกัดกร่อนความแข็งแรงไปเรื่อยๆ เมื่อนั้นความรู้สึกผิดจะก้าวมาแทนที่ รู้สึกไม่มีความหวัง เป็นภาระต่อตนเอง และคนที่รัก จึงมีแนวโน้มที่คนเราจะเลือกตัดตัวเองออกไปจากวงจรการมีชีวิต

ประตูที่ 2 ยอมรับความจริง หากคนเรายอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น และบอกกับตัวเองว่าเราเป็นหนี้ มันเกิดขึ้นได้พร้อมย้ำกับตัวเองอีกครั้งเมื่อตอนที่เริ่มเป็นหนี้ ว่ามันเริ่มต้นมาจากเจตนาที่เราอยากเพิ่มศักยภาพให้ตัวเอง เช่น กู้เพื่อเรียน กู้ซื้อบ้านให้ครอบครัวที่รัก ฯลฯ และการเป็นหนี้ ไม่ใช่เรื่องน่าอาย เมื่อไหร่ก็ตามที่กล้าบอกคนอื่นว่าเป็นหนี้ นั่นคือเราได้เข้าสู่ประตูบานนี้แล้ว

ยอมรับสภาวะจิตใจ จัดการความกังวลในจิตใจ เมื่อไหร่ก็ตามที่รู้สึกกังวล ให้โยนความกังวลนั้นออกไปนอกหัว เพราะยิ่งปล่อยไว้นาน จะยิ่งปิดทางออกขึ้นเรื่อยๆ

ยอมรับความช่วยเหลือ การขอความช่วยเหลือไม่ได้แปลว่าเราไม่เก่ง เมื่อเจอวิกฤตไม่จำเป็นต้องฝ่าไปคนเดียว หาคนมาช่วยได้ มี 3 ทาง คือ Action ช่วยพยุงภาระ Knowledge อยากได้ความรู้ กลยุทธ์ และ Mental สนับสนุนด้านจิตใจ เป็นสิ่งสำคัญที่สุด

ยอมที่จะมองทะลุตัวเงิน  บางคนรู้สึกว่าการที่เงินหายไป หรือมีหนี้ก้อนโต ทำให้ความรู้สึกมั่นคงทางจิตใจหายไป จริงๆ แล้ว ความล้มเหลวทางการเงิน ไม่ใช่ความล้มเหลวของชีวิต เพราะเงินไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต

เมื่อเข้าใจเรื่องหนี้ในมุมของนักจิตวิทยาแล้ว เทคนิคที่จะทำให้ทุกคนปลดหนี้ได้ คุณจักรพงษ์ เมษพันธุ์ มันนี่โค้ชคนดัง แนะว่า คือการ หันหน้าคุยกับคู่สัญญา 

เพราะคนส่วนใหญ่มักแก้ปัญหาผิดวิธี หนีปัญหา และถูกสอนเสมอว่า ไม่ควรเป็นหนี้ เป็นไปได้ยังไงที่มนุษย์จะไม่เป็นหนี้ มีกี่คนในประเทศนี้ที่ซื้อบ้านด้วยเงินสดได้ หลายคนต้องใช้สินเชื่อ โดยไม่มีคนให้ความรู้ จนขาดการแก้ปัญหา

เมื่อแก้ไม่ได้ก็เป็นเรื่องน่าอาย กลัวว่าคนอื่นจะรู้ จึงเลือกที่จะพูดอ้อมๆ ไม่ขอความช่วยเหลือตรงๆ การหันหน้าคุยกับคู่สัญญา จึงเป็นวิธีการที่ชัดเจนและง่ายที่สุด การรีไฟแนนซ์ ไม่ใช่วิธีการแก้หนี้ แต่เป็นเพียงการบรรเทาเท่านั้น

สิ่งสำคัญ คือ เปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อกลับมาตั้งหลักใหม่ วิธีการแก้หนี้ ใครๆ ก็รู้ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ซึ่งคนเราอยากหารายรับก่อน เป็นสิ่งที่ทำยาก เพราะต้องดึงเงินจากกระเป๋าคนอื่น เข้ากระเป๋าเรา เมื่อจะทำ สินค้าและบริการต้องตอบโจทย์ ไม่อย่างนั้นคนจะไม่มาซื้อ ต้องถามตัวเองว่าทำอะไรได้บ้าง แล้วค่อยคิดต่อ ส่วนที่คุมง่าย คือ การลดรายจ่าย ต้องทำให้เป็น ที่ถูกคือ ลดค่าใช้จ่ายหนี้ สุดท้าย คณิตคิดนอกใจ ควบคุมอนาคตการเงิน ให้นำตัวเลข รายรับ รายจ่ายต่างๆ กางออกมาให้เห็น นี่คือช่องทางที่จะนำพาไปสู่ทางออก

เผยแพร่เมื่อ วันเสาร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2563