หอการค้าไทยลุ้นตั้งตลาดไทในเมืองไพลิน ตั้งเป้าซื้อขายผักผลไม้ไทย-เขมร

เสร็จสิ้นแล้วสำหรับการเดินทางไปประชุมของคณะกรรมการและสมาชิกสภาธุรกิจไทย-กัมพูชา ที่มี คุณนิยม ไวยรัชพานิช รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นหัวหน้า ร่วมกับ คุณเจีย เรียบ รองผู้ว่าราชการจังหวัดไพลิน และบรรดาตัวแทนหอการค้าจังหวัดต่างๆ ของกัมพูชาเกือบ 20 คน เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ศาลากลางจังหวัดไพลิน ประเทศกัมพูชา ซึ่งทางฝ่ายกัมพูชาได้หยิบยกปัญหาต่างๆ ในเรื่องส่งออกสินค้าเกษตร รวมถึงปัญหาการเดินทางเข้าไทยของชาวกัมพูชามานำเสนอ

img_2098

สมาชิกหอการค้าจังหวัดต่างๆ ของกัมพูชา ถ่ายภาพร่วมกับคณะกรรมการสภาธุรกิจไทย-กัมพูชา 

เล็งเปิด 4 เส้นทางเข้ากัมพูชา

การประชุมครั้งนี้ คุณเจีย แจกแจงว่า ขอให้ฝ่ายไทยช่วยส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรจากกัมพูชาด้วย เนื่องจากเวลานี้มีผลิตผลหลายอย่าง นอกเหนือจากมะม่วงแก้วละเมียด (ไทยเรียกแก้วขมิ้น) และขอให้อะลุ่มอล่วยบ้าง เพราะการผลิตยังต้องมีการปรับปรุงแก้ไข ยังไม่ได้มาตรฐานสากล แต่ต่อไปต้องทำให้ได้ตามมาตรฐานสากล นอกจากนี้ ควรมีความร่วมมือกันให้เข้มแข็งมากกว่านี้ และให้มีการประชุมปรึกษาหารือเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

ทางด้านตัวแทนหอการค้าจากจังหวัดต่างๆ ของกัมพูชา ระบุว่า ในกัมพูชามีผลผลิตทางการเกษตรเยอะ อย่างเช่น เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ถั่วเหลือง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ข้าว มันสำปะหลัง และปลา ซึ่งทางไทยควรให้นำข้าวและมันสำปะหลังเข้ามาขายด้วย ไม่เช่นนั้นแล้วจะไปขายให้ใคร ในขณะที่เกษตรกรกัมพูชาก็ซื้อปุ๋ยซื้อยาจากประเทศไทย จึงอยากให้ช่วยซื้อเพื่อไม่ให้การค้าของ 2 ประเทศเหลื่อมล้ำกันมากนัก

img_2411

คุณนิยม ไวยรัชพานิช

คุณนิยม กล่าวว่า สิ่งที่ทางกัมพูชาเสนอเป็นปัญหาเดิมๆ ที่เคยพูดกันมาแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข เช่น ทางกัมพูชาเรียกร้องมาว่าทำไมไม่ให้รถกัมพูชาเข้ามาขนสินค้าในประเทศไทย ขณะที่กัมพูชาให้รถไทยเข้าไปขนของได้ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนถูกลง และจะเกิดคลังสินค้าของทั้ง 2 ฝ่าย อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาได้มีข้อตกลงระหว่างจันทบุรีกับทางจังหวัดไพลินและพระตะบองให้รถส่วนบุคคลในพื้นที่ดังกล่าววิ่งเข้าไปได้

ที่ผ่านมา ทางไทยได้เปิดเส้นทางรถโดยสารไปกัมพูชาใน 2 เส้นทางคือ หมอชิตไปเสียมเรียบกับพนมเปญ ยังมีอีก 4 เส้นทางที่อยู่ระหว่างการเจรจากันอยู่ คือ 1. เส้นทางจากพัทยาไปเสียมเรียบ 2. เส้นทางพระตะบอง ไพลิน มาที่จันทบุรี 3. เส้นทางจากอุบลราชธานี ศรีสะเกษ ไปที่เสียมเรียบ และ 4. เส้นทางจากสีหนุวิลล์ เกาะกง มาที่จังหวัดตราด

คุณนิยม ยังเสนอในที่ประชุมร่วมครั้งนี้ว่า สินค้าทางการเกษตรที่ทางการไทยห้ามนำเข้ามี 3 ประเภทคือ ข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลัง และสินค้าอ่อนไหวอีก 22 รายการ ดังนั้น เกษตรกรกัมพูชาควรจะปลูกพืชชนิดอื่นๆ เพื่อให้นำเข้าได้ อย่างเช่น งา ถั่ว มันฝรั่ง กะหล่ำปลี และพืชผักต่างๆ ซึ่งแต่ละปีกัมพูชาต้องสั่งซื้อจากฝั่งไทยเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่มาเที่ยวเสียมเรียบ

img_2021

กาสิโนอีกแห่งของไพลิน ดูภายนอกไกลๆ คนไทยนึกว่าวัด

ชี้ไพลิน-พระตะบอง มีศักยภาพ

คุณดวงใจ จันทร ประธานอนุกรรมการส่งเสริมเศรษฐกิจกับประเทศกัมพูชา สภาหอการค้าไทยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การที่คณะกรรมการและสมาชิกสภาธุรกิจไทย-กัมพูชา เข้ามาที่จังหวัดไพลินผ่านด่านบ้านผักกาด อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี และออกทางด้านด่านบ้านแหลม จังหวัดจันทบุรี นั้น เพื่อให้ได้มาพื้นที่จริง ซึ่งทางสภาธุรกิจไทย-กัมพูชา เสนอให้มีการเปิดตลาดกลางสินค้าเกษตรที่ไพลิน รวมทั้งสินค้าทั่วไปด้วย เป็นการนำร่อง หากทำอย่างนี้จะทำให้สินค้าไทยเข้าไปในกัมพูชาได้เยอะขึ้น

สอง ทำให้การไปมาหาสู่ระหว่างคนไทย-กัมพูชา ดีขึ้นกว่าเดิม สาม เป็นการผลักดันส่งเสริมช่วยเหลือสินค้าเกษตรของกัมพูชา เพราะทางกัมพูชาต่อว่าฝ่ายไทยว่าการนำเข้า-ส่งออกสินค้าระหว่าง 2 ประเทศไม่สมดุลกัน ไทยส่งออกถึง 95 เปอร์เซ็นต์ แต่นำเข้าสินค้าเกษตรของกัมพูชาแค่ 5 เปอร์เซ็นต์ ทางกัมพูชาจึงอยากให้ฝ่ายไทยอะลุ่มอล่วยให้บ้าง

ส่วน คุณวรทัศน์ ตันติมงคลสุข เลขาธิการสภาธุรกิจไทย-กัมพูชา กล่าวว่า ส่วนใหญ่ทางกัมพูชาพูดถึงปัญหาการทำธุรกิจทั่วไป อย่างเช่น การเสนอให้สิทธิสินค้าการเกษตรของฝ่ายกัมพูชาเข้ามาขายในเมืองไทยได้มากขึ้น รวมถึงการให้สินค้าเกษตรผ่านแดนไปสู่ประเทศที่สาม เรื่องของระเบียบพิธีการขั้นตอนในการผ่านแดนของชาวกัมพูชาที่จะเข้าออกด่านของไทยให้สะดวกมากขึ้น

คุณวรทัศน์ กล่าวอีกว่า การมาประชุมที่ไพลินและเดินทางด้วยรถยนต์ไปยังพระตะบองด้วยนั้น ทำให้เห็นถึงโอกาสการค้าการลงทุนใน 2 จังหวัดของกัมพูชา ซึ่งมีศักยภาพในการเติบโตที่ดี เห็นได้จากตัวเลขสถิติการค้าที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ สภาธุรกิจไทย-กัมพูชา กำลังทำแผนยุทธศาสตร์ด่านต่างๆ ที่ติดกับกัมพูชา โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม มีกลุ่ม A  กลุ่ม B และกลุ่ม C

img_2006

บรรยากาศภายในกาสิโนแห่งหนึ่งที่จังหวัดไพลิน

หนุนเพื่อนบ้านปลูกพืชเศรษฐกิจ

กลุ่ม A คือด่านใหญ่ที่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษอยู่แล้ว เช่น ด่านอรัญประเทศ ปอยเปต หรือทางด้านคลองใหญ่ เกาะกง กลุ่ม B แบ่งเป็นจังหวัดพระตะบองกับไพลิน ซึ่งน่าจะพัฒนาจุดแข็งให้เป็นเมืองที่เกี่ยวข้องกับการค้าและบริการที่เกี่ยวข้องด้านการเกษตร อย่างเช่น ให้มีตลาดกลางทางการเกษตรขึ้นที่ไพลินคล้ายๆ ตลาดผักผลไม้ใหญ่ๆ ในบ้านเรา เพื่อให้สินค้าเกษตรทั้งของไทยและกัมพูชาซื้อขายกันได้สะดวกมากขึ้น รวมไปถึงเรื่องเครื่องจักรอุปกรณ์และการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการเกษตร โดยมีการตั้งโรงงานอย่างครบวงจร

ส่วนกลุ่ม C เป็นด่านที่เพิ่งจะมีการค้าการลงทุน อย่างที่ช่องจอม จังหวัดสุรินทร์ ติดต่อกับโอร์เสม็ด อำเภอสำโรง จังหวัดอุดรมีชัย และช่องสะงำ อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ ตรงข้ามช่องจวม อำเภออัลลองเวง จังหวัดอุดรมีชัย

เลขาธิการสภาธุรกิจไทย-กัมพูชา บอกอีกว่า หลังจากนี้จะทำความเข้าใจกับกลุ่มนักธุรกิจในเครือข่ายของทั้งหอการค้า สภาอุตสาหกรรม และสมาคมธนาคารว่า กลุ่ม B เป็นเมืองรองที่มีศักยภาพในการเติบโตไปสู่ธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรและต่อเนื่อง รวมไปถึงการท่องเที่ยวด้วย พร้อมกันนั้นจะเสนอภาครัฐ เกี่ยวกับแผนยุทธศาสตร์นี้ เพื่อให้รัฐเข้ามาช่วยสนับสนุน ขณะเดียวกัน ได้บอกผ่านทางหอการค้ากัมพูชาว่าจะต้องไปคุยกับรัฐบาลของกัมพูชาด้วย เพื่อทำให้ยุทธศาสตร์ของไพลินและพระตะบองเป็นศูนย์อุตสาหกรรมการค้าและการบริการที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรให้ได้

“ผมเชื่อว่าในอนาคตจะเกิดอุตสาหกรรมการเกษตรขนาดใหญ่ในจุดที่เชื่อมโยงกันระหว่างระยอง จันทบุรี และตราด เชื่อมกับไพลิน พระตะบอง อาจเลยไปถึงศรีโสภณด้วย จะเป็นฐานการผลิตสินค้าการเกษตรขนาดใหญ่ อย่างวันนี้มีกรรมการหอการค้าท่านหนึ่งของกัมพูชามาจากกำปงสปือก็มีสวนมะม่วงเป็นหมื่นไร่ หันมาดูที่ฝั่งไทยต้องยอมรับว่าที่ดินหรือปัจจัยการผลิตที่จะขยายพื้นที่การเพาะปลูกยากขึ้นเรื่อยๆ และมีต้นทุนที่แพงขึ้น คิดว่าทางหนึ่งคือต้องนำเข้าผักผลไม้จากประเทศเพื่อนบ้าน โดยทำยุทธศาสตร์ใช้วิธีส่งเสริมให้เขาปลูกพืชเศรษฐกิจที่เราเป็นผู้ขาย” คุณวรทัศน์ กล่าว

พร้อมกันนั้นยังระบุด้วยว่า ถือเป็นยุทธศาสตร์ร่วมกันในเชิงของสินค้าการเกษตร และสินค้าเกษตรเศรษฐกิจ หรือจะทำคอนแทรกต์ฟาร์มมิ่งก็ได้ ซึ่งถ้าร่วมมือกันดีๆ ตรงนี้จะเป็นแหล่งเพาะปลูกการเกษตรขนาดใหญ่และมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี

img_2100

สมาชิกหอการค้าจากจังหวัดต่างๆของกัมพูชา

ทุเรียนกำปอตมีไม่พอส่งออก

ด้าน คุณสัม เฮียง ประธานหอการค้าจังหวัดไพลิน หรือที่คนไทยเรียกกันว่า เจ๊เฮียง ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่นำเข้า-ส่งออกผลไม้ไทย-กัมพูชา กล่าวถึง กรณีที่คนไทยกลุ่มหนึ่งต้องการจะซื้อทุเรียนจากเมืองกำปอตที่อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงพนมเปญห่างกันประมาณ 148 กิโลเมตร คงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากเกษตรกรปลูกไม่มากนัก ไม่เพียงพอกับจำนวนลูกค้าในประเทศ ทั้งที่กรุงพนมเปญและนักท่องเที่ยวของกัมพูชาเองที่มาเที่ยวในเมืองนี้ อันเป็นเมืองที่มีทะเล ซึ่งทุเรียนกำปอตเป็นทุเรียนที่มีรสชาติอร่อยเหมือนหมอนทอง แต่เนื้อไม่เยอะเท่า ราคาแพงกว่าหมอนทอง อย่างถ้าหมอนทองกิโลกรัมละ 100 บาท ทุเรียนกำปอตจะแพงกว่าตกกิโลกรัมละ 200 บาท

เจ๊เฮียง กล่าวว่า จังหวัดไพลินมีพืชเกษตรเยอะ อย่างมะม่วงแก้วละเมียด ข้าวโพด มันสำปะหลัง และลำไย ส่วนใหญ่ใช้ปุ๋ยธรรมชาติ ประมาณต้นปีหน้าช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน มะม่วงจะออกเยอะมาก ตอนนี้ก็มีมะม่วงกัมพูชาส่งเข้าไทยตกกิโลกรัมละ 15-16 บาท ส่วนลำไยนั้นทางกัมพูชาเพิ่งปลูกได้ไม่นาน คุณภาพยังสู้ไทยไม่ได้ กำลังเรียนรู้จากไทย อนาคตอาจจะปลูกได้คุณภาพดีกว่านี้

ประธานหอการค้าจังหวัดไพลิน เล่าด้วยว่า นอกจากจะทำธุรกิจนำเข้า-ส่งออกผลไม้ไทย-กัมพูชาแล้ว ยังสร้างคลังเก็บสินค้าที่จังหวัดไพลินด้วย ห่างจากชายแดนไม่ไกล และยังได้ลงทุนกว่า 100 ล้านบาท สร้างโรงแรม โดยจะให้นักธุรกิจจีนมาเช่าทำกาสิโนอยู่ชั้นล่าง ตอนนี้ก่อสร้างเสร็จแล้ว เหลือแค่ตกแต่งเท่านั้น

ซึ่งคนที่มาเล่นกาสิโนในจังหวัดไพลินนั้น ไม่ใช่มีเฉพาะคนไทยเท่านั้น ยังมีนักท่องเที่ยวต่างชาติอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นจีนและเกาหลี

หลังจากนี้คงต้องติดตามกันต่อไปว่า ข้อเสนอของสภาธุรกิจไทย-กัมพูชาที่เสนอให้มีการจัดตั้งตลาดกลางสินค้าเกษตรที่เมืองไพลินนั้น จะได้รับความเห็นชอบจากภาครัฐของ 2 ประเทศนี้หรือไม่