ราคาตกต่ำขั้นสุด! ชาวสวนยางบึงกาฬ หันแปรรูป “กก-ผือ” ได้วันละ 300 ยังดี

ราคาตกต่ำขั้นสุด! ชาวสวนยางบึงกาฬ หันแปรรูป “กก-ผือ” ได้วันละ 300 ยังดี
ราคาตกต่ำขั้นสุด! ชาวสวนยางบึงกาฬ หันแปรรูป “กก-ผือ” ได้วันละ 300 ยังดี

ราคายางตกต่ำขั้นสุด! ชาวสวนบึงกาฬ หันแปรรูป “กก-ผือ” ได้วันละ 300 ยังดี

ปัญหาภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนในสังคมไทย บางบริษัทต้องปิดกิจการ หลายคนตกงาน ต้องกลับไปอาศัยอยู่บ้านเกิด ที่แม้จะมีฐานทรัพยากรให้พึ่งพิงเป็นจำนวนมาก แต่ไม่สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นอาชีพได้ เพราะขาดทักษะความรู้เรื่องการแปรรูปทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน

แต่ที่ชุมชนในพื้นที่ชุ่มแม่น้ำโลกกุดทิง จังหวัดบึงกาฬ กลับสวนทางกับหลายพื้นที่ เพราะมีการนำกกและผือ  ซึ่งเป็นฐานทรัพยากรที่สำคัญของชุมชน ผสานรวมกับทักษะความรู้เรื่องการแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่ได้เรียนรู้จากการเข้า ‘โครงการพัฒนาอาชีพผลิตภัณฑ์จากกกและผือ พื้นที่ชุ่มแม่น้ำโลกกุดทิง จังหวัดบึงกาฬ’ ที่ดำเนินการโดย ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ  โดยการสนับสนุนของทุนพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่ต้องการนำต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชนมาฝึกทักษะอาชีพด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกกและผือให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายที่เป็นแรงงานนอกระบบหรือผู้ว่างงาน มีอาชีพเสริมและมีรายได้เพิ่มขึ้น

คุณอุดร คำชาตา ชาวสวนยางจังหวัดบึงกาฬ เล่าว่า เธอทำอาชีพเกษตรกรสวนยางพารา แต่ประสบปัญหายางพาราราคาตกต่ำ จากเดิมเคยขายยางได้ราคาสูงถึง 20,000 บาทต่อรอบ แต่ปัจจุบันขายได้เพียง 3,000 บาท ต่อรอบเท่านั้น ขณะที่รายจ่ายยังเท่าเดิม หนี้สินจึงเพิ่มขึ้น เลยต้องหาอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในครัวเรือน จึงตัดสินใจได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาอาชีพนี้

“นอกจากปัญหารายได้ที่ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายแล้ว อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ เพราะเห็นว่ามีการใช้ประโยชน์จากวัสดุจากธรรมชาติในพื้นที่ นำมาแปรรูปเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ๆ ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าและรายได้ให้คนในชุมชนอีกด้วย” คุณอุดร บอกอย่างนั้น

และว่า สิ่งที่เธอได้รับจากโครงการนี้นอกจากกระบวนการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกกและผือ ในรูปแบบต่างๆ ที่ส่งขายในนามกลุ่มพัฒนาอาชีพผลิตภัณฑ์จากกกและผือ แล้ว ทางกลุ่มยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความสามารถในด้านต่างๆ เช่น ความสามารถด้านเย็บจักร ทากาว ขึ้นลาย ฯลฯ ก็จะมีรายได้จากการทำงานนั้นเพิ่มขึ้น โดยคิดค่าจ้างตามจำนวนชิ้นงาน ทำให้เธอมีรายได้เพิ่มขึ้นทั้ง 2 ทาง คือ จากการแปรรูปผลิตภัณฑ์และการรับจ้างเย็บจักร

“โครงการนี้เปรียบเสมือนโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกกและผือ เลยก็ว่าได้ เพราะมีตั้งแต่การแปรรูปผลิตภัณฑ์ การจำหน่าย ทั้งหน้าร้านและในระบบออนไลน์ ซึ่งทำให้เราได้เรียนรู้เรื่องการคิดวิเคราะห์ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ การสำรวจการตลาดว่า ช่วงไหนสินค้าประเภทไหนที่กำลังได้รับความนิยม การขายออนไลน์ควรปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ได้อย่างไร รวมถึงการใช้เทคโนโลยีด้วย” คุณอุดร บอก

อย่างไรก็ตาม ขณะที่กำลังเรียนรู้เรื่องการแปรรูปผลิตภัณฑ์อย่างเข้มข้น กระบวนการเรียนรู้ก็ต้องหยุดชะงักลงเนื่องจากประสบปัญหาโควิด-19 แต่ทางโครงการ เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส ด้วยการนำหลักสูตรการทำการตลาดออนไลน์ มาให้กลุ่มเป้าหมายได้เรียนรู้ ทั้งเรื่องการขายออนไลน์บนอินเตอร์เน็ต จนทางกลุ่มสามารถสร้างเพจ ก.กก บึงกาฬ ไว้ใช้สำหรับโพสต์ขายสินค้าได้ในที่สุด นอกจากนี้ยังได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์รูปแบบอื่นที่ทำได้ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน  เช่น ที่รองจาน ที่รองแก้ว หมวก เป็นต้น เมื่อผ่านช่วงสถานการณ์โควิด-19 ไปได้ ทางโครงการจะได้นำสินค้าออกจำหน่ายทันที

วันนี้แม้รายได้ยังเพิ่มไม่มากนัก แต่หลังจากผ่านวิกฤตนี้ไป คุณอุดร ตั้งเป้าหมายไว้ว่าเธอจะมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 300 บาท/วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งเพียงพอที่จะทำให้เธอมีรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัวเพิ่มขึ้น

สำหรับผู้ที่สนใจงานหัตถกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกกและผือ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าประเภท เสื่อ กระเป๋า หมวก กล่องกระดาษทิชชู หมอนรูปเต่าทิง และสินค้าอื่นๆ อีกมากมาย สามารถเลือกชมและสั่งซื้อสินค้าของทางโครงการได้ที่ ทางเพจเฟซบุ๊ก ก.กก บึงกาฬ