เปิดมาแล้วร้อยปี! “บ้านต้นมะขาม” ร้านเครื่องประดับหัตถศิลป์ เล็งเปิด WorkShop ในต่างแดน

เปิดมาแล้วร้อยปี!
เปิดมาแล้วร้อยปี! "บ้านต้นมะขาม" ร้านเครื่องประดับหัตถศิลป์ เล็งเปิด WorkShop ในต่างแดน

เปิดมาแล้วร้อยปี! “บ้านต้นมะขาม” ร้านเครื่องประดับหัตถศิลป์ เล็งเปิด WorkShop ในต่างแดน

บ้านต้นมะขาม – สมัยก่อน หากพูดถึงงานหัตถกรรมเครื่องทองชั้นสูง คงไม่มีใครไม่นึกถึงร้าน “บ้านต้นมะขาม” เป็นแน่ วันนี้ “เส้นทางเศรษฐีออนไลน์” มีโอกาสได้พูดคุยกับ คุณเติ้ง- ธามาริน เจริญพิทักษ์ ผู้บริหารแบรนด์บ้านต้นมะขาม รุ่นที่ 4 เขาเล่าให้ฟังว่า

คุณเติ้ง-ธามาริน เจริญพิทักษ์ ผู้บริหารแบรนด์บ้านต้นมะขาม รุ่นที่ 4

ร้านทองบ้านต้นมะขามแห่งนี้ เปิดกิจการมานานกว่า 100 ปีแล้ว โดยมีจุดกำเนิด ณ ริมฝั่งแม่น้ำน้อย อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง เมื่อ พ.ศ. 2453 ฉื่น กั๊ด หยี่ หรือคุณทวดของคุณเติ้ง ได้มาตั้งรกรากพร้อมเริ่มกิจการร้านทองเล็กๆ ใต้ต้นมะขามใหญ่ โดยตั้งชื่อร้านว่า “กวง ง่วน เซียง” ซึ่งมีความหมายว่ารุ่งเรืองและสว่างไสว จนได้รับการกล่าวขวัญปากต่อปาก กลายเป็นที่มาของชื่อร้านใหม่ “ต้นมะขามช่างทอง” ในปี พ.ศ. 2480 ที่สร้างสรรค์งานฝีมือด้วยทอง นาค และเงิน ต่อมาคุณแม่ของคุณเติ้ง หรือก็คือเจ้าของร้านรุ่นที่ 3 ได้ขยับขยายสาขามาที่ ซอยนายเลิศ ถนนวิทยุ กรุงเทพมหานคร

“จริงๆ แล้ว ผมไม่ได้คิดจะมาทำกิจการร้านทองของที่บ้านเลยนะ ด้วยความที่เราอยู่กับมันมาแต่เด็กๆ เห็นมาจนชินก็รู้สึกเบื่อ แต่มันคงเป็นความชอบที่ฝังอยู่ในสายเลือดนะ เพราะผมชอบของเก่า เรียนเกี่ยวกับพวกสิ่งพิมพ์ พอจบออกมา ด้วยความที่วัยรุ่นไฟมันยังแรง ก็อยากทำงานตามสายที่จบมา เพราะผมไม่ได้สนใจเรื่องแฟชั่นหรือพวกความสวยงาม เพราะรู้สึกว่างานที่บ้านมันไม่ใช่ทาง ก็ไปทำงานอยู่ที่นิตยสารบ้านและสวน มาก่อน ระหว่างนั้นก็ช่วยงานที่บ้านไปด้วย แล้วก็รับงานซ่อมหนังสือเก่ามาตลอด จนวันดีเกิดต้มยำกุ้ง คุณแม่ก็ได้เข้าไปเปิดร้านในห้าง เพราะเมื่อก่อนเราก็ขายอยู่ที่บ้าน ก็ถือเป็นโอกาสในวิกฤต แม่ก็ประคองร้านมาตลอด จนวันหนึ่งแม่บอกจะเลิก คือมันเป็นสิ่งที่บรรพบุรุษเราสร้างมากับมือ แล้วต้องมาปิดตัวเพราะทำท่าจะไปต่อไม่ได้ ถึงขั้นต้องตัดใจปิดบางสาขาเพื่อให้ธุรกิจยังไปได้ คนที่เขาทำมาก็ปวดใจแหละ แต่เขาไม่อยากบังคับ ผมก็เลย โอเค เข้ามารับช่วงต่อแล้วกัน” คุณเติ้ง เล่า

เขาเล่าต่อว่า ในตอนที่ต้องเข้ามารับช่วงต่อ เป็นช่วงเวลาที่เขาค่อนข้างเครียดและท้อ แต่ด้วยกำลังใจจากคนรอบข้าง จึงทำให้เขามีแรงที่จะก้าวผ่านอุปสรรคนี้ไปได้ โดยใช้ทักษะการขายที่ซึบซับมาจากที่บ้านตั้งแต่เกิด วิเคราะห์จุดแข็งของธุรกิจที่มีความมั่นคงในระดับหนึ่ง ด้วยฐานลูกค้าที่มีมายาวนาน จนดำเนินกิจการมาได้กว่า 100 ปี มีลูกค้าหลักคือกลุ่มผู้หญิงที่มีฐานะหรือกำลังทรัพย์ในการซื้อ เพราะเครื่องประดับทุกชิ้น ค่อนข้างใช้ระยะเวลาในการทำ มีการใส่ลายละเอียดเข้าไปในชิ้นงานเยอะ และใช้เพชรพลอยแท้ในการตกแต่ง

ความโดดเด่นของบ้านต้นมะขามคือ ต้องการสร้างสรรค์ผลงานที่คงความงามตามธรรมชาติของอัญมณีเอาไว้ งานออกแบบของร้านจัดว่าเป็นงานหัตถศิลป์ประเภทงานสานและลงยา รังสรรค์โดยช่างทองโบราณที่ถ่ายทอดทักษะสืบต่อกันมา ผสานกับเครื่องมือที่ทันสมัย แต่ยังคงเอกลักษณ์ดั้งเดิมไว้ อย่างการฉลุลาย ทั้งลายใบมะขาม ลายใบโพธิ์ ลายม้วน ลายขัดแตะ และกลุ่มลายไทยต่างๆ เสริมด้วยเทคนิคของช่างทองโบราณ เช่น สตางค์แดง ข้อมะขามปล้องไผ่ และลูกคิด

ล่าสุด ได้นำเสนองานกรอบพระที่ใช้วัสดุไม่เหมือนใคร อย่าง ทองคำชมพู 18 k (Rose Gold 18 k) ซึ่งได้รับการออกแบบกรอบอย่างโดดเด่นรับกับองค์พระ อย่างลงตัว ทำให้เครื่องประดับของบ้านต้นมะขามมีความสวยงาม และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนใคร

“แบรนด์บ้านต้นมะขาม เราเป็นธุรกิจที่มีความมั่นคงในระดับหนึ่ง เพราะร้านสามารถอยู่มาได้กว่าร้อยปี แต่เราขาดการทำการตลาดและสื่อสารกับลูกค้าที่ดี และตอนรุ่นคุณแม่ แบรนด์มีลูกค้าเป็นชาวไทย 100% เลย ผมเลยตั้งใจทำการตลาด เอาความรู้ด้านการสร้างคอนเทนต์ที่เรียนมา บวกกับความรู้ด้านการผลิตสื่อจากตอนทำงานโปรดักชั่น เฮาส์ มาผลิตคอนเทนต์ที่น่าสนใจ และสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งตอนนี้ก็ได้ลูกค้าที่เป็นต่างชาติเข้ามามากขึ้น แล้วระหว่างที่ขายจิวเวลรี่ไป ผมก็ค่อยๆ ปรับปรุงระบบหลังบ้านอย่างโรงงานไปด้วย ใช้เวลาพัฒนา 4 ปี บ้านต้นมะขามก็มีสินค้าและบริการต่างๆ เพิ่มขึ้น แล้วก็เปิด TMK MEN แบรนด์ใหม่ที่ครบวงจรมากขึ้น เป็นเครื่องประดับยูนิเซ็กส์ ราคาไม่สูงมาก ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดในปัจจุบัน แล้วก็มีการเวิร์กช็อป สอนวิธีการทำเครื่องประดับแบบโบราณ ที่ให้ลูกค้าออกแบบ และใส่ความเป็นตัวเองลงไปในชิ้นงานได้ แล้วก็เป็นการอนุรักษ์การทำเครื่องประดับแบบโบราณไปในตัว” ทายาทบ้านต้นมะขาม รุ่นที่ 4 กล่าวมาอย่างนั้น

เครื่องประดับยูนิเซ็กส์ จาก TMK MEN

ผลตอบรับจากการเปิดให้ลูกค้า หรือผู้ที่สนใจได้เข้าเวิร์กช็อปกับคุณเติ้ง มีมากถึง 10 กว่าคน โดยคุณเติ้ง กล่าวว่า ได้รับความสนใจถึงขนาดที่ว่า มีคนมาเรียนเพื่อไปทำเป็นอาชีพเลยทีเดียว

“ต้องยอมรับว่าพวกเครื่องประดับหรือจิวเวลรี่ มันเป็นของฟุ่มเฟือย เราก็ต้องทำให้ลูกค้ารู้สึกว่า ของมันมีคุณค่านะ มันน่าสะสมนะ ก็เลยจัดให้มีเวิร์กช็อปขึ้น ให้เขาได้เข้ามาดู เข้ามาเรียนรู้วิธีการทำเครื่องประดับแบบโบราณ พอเขาเข้ามาก็จะได้รู้สึกถึงความเป็นแฮนด์เมดแท้ๆ ที่ในปัจจุบันหาคนทำเครื่องประดับงานหัตถกรรมแบบนี้ด้วยมือยากมาก ซึ่งเวิร์กช็อป เป็นแบบเรียนวันเดียวกับผมตัวต่อตัวเลยครับ ราคาก็จะอยู่ที่  3,000 บาท เรียนจบก็ทำเป็นเลย โดยอุปกรณ์ทางเราก็จะเตรียมเอาไว้ให้หมด คุณมาแค่ตัวและความตั้งใจทำก็พอ แต่ตอนนี้โควิดระบาดแบบนี้ ร้านก็ได้รับผลกระทบ ก็ขอหยุดเวิร์กช็อปไว้ก่อนดีกว่า” คุณเติ้ง กล่าวยิ้มๆ

คุณเติ้ง ยังเผยอีกว่า ปัจจุบันเขาให้ความสำคัญกับการทำการตลาดออนไลน์เสียส่วนใหญ่ เพื่อดึงดูดลูกค้าต่างชาติให้เข้ามาใช้บริการมากขึ้น อีกทั้งในอนาคต วางแผนจะทำเครื่องประดับใหม่ๆ ออกมาเพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งเตรียมขยายตลาด ไปเปิดเวิร์กช็อปในต่างประเทศในปีหน้า

หากใครสนใจ เข้าไปสอบถามรายละเอียดได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Baan Tonmakham และ TMK MEN