เจ้าของอู่ล้างรถ ยัน! “คาร์แคร์” ยังไงก็ไม่ตาย

เจ้าของร้านล้างรถ ยัน! “คาร์แคร์” ยังไงก็ไม่ตาย ขอเพียงเห็นโอกาส ยังไงก็ผ่านวิกฤตโควิดไปได้

ปัจจุบัน ธุรกิจการท่องเที่ยวและการโรงแรม ถือว่าเป็นธุรกิจอันดับต้นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ธุรกิจในภาคต่างๆ ก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้เช่นเดียวกัน “เส้นทางเศรษฐีออนไลน์” มีการนำเสนอข่าว รวมถึงบทสัมภาษณ์ เกี่ยวกับสถานการณ์ธุรกิจต่างๆ ในช่วงโควิด-19 ของผู้ประกอบการ ให้ผู้อ่านได้ติดตามกันเป็นระยะ

คุณชาญวิชญ์ เผ่าพงษ์ เจ้าของร้าน Pavilion Wash Car Care (พาวิลเลี่ยน วอช คาร์แคร์)

โดยอีกหนึ่งธุรกิจที่เราจะมาพูดถึงกันในวันนี้ก็คือ “คาร์แคร์” ที่ได้ คุณชาญวิชญ์ เผ่าพงษ์ เจ้าของร้าน Pavilion Wash Car Care (พาวิลเลี่ยน วอช คาร์แคร์) ที่มาพูดคุยกับเราในวันนี้

คุณชาญวิชญ์ เล่าว่า ธุรกิจคาร์แคร์ของเขา เปิดให้บริการมากว่า 3 ปี มีพนักงานอยู่ในความดูแลกว่า 8 ชีวิตธุรกิจดำเนินมาได้ด้วยดี จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ธุรกิจของเขา ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ

“ตอนโควิดเข้ามาใหม่ๆ ร้านเราก็ยังไม่ถึงกับกระทบมากเท่าไหร่ เพราะเราเน้นลูกค้าที่มีรถเป็นส่วนตัวมากกว่ารถสาธารณะ เพราะราคาเราค่อนข้างเป็นแบบ Premium อีกทั้งเป็นการลดความเสี่ยงเนื่องจากเป็นรถที่เจ้าของมาใช้บริการเอง พอมีประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ทำให้ลูกค้าลดลง เพราะคนก็ไม่ค่อยอยากออกจากบ้าน บางคนเขาก็อยากมาล้างรถ แต่ก็ไม่อยากออกไปไหน ก็คิดว่าล้างรถจะล้างเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ยังไงเราก็ได้ลูกค้ากลุ่มที่เป็นเซลส์แมน หรือ คนใช้รถเป็นประจำ รวมถึง Member จะเข้ามาใช้บริการที่ร้าน ซึ่งร้านเรายังสามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ เพราะคาร์แคร์เป็นธุรกิจประเภทการบริการลูกค้าที่เข้ามาล้างรถ จอดรถทิ้งไว้ให้ล้างแล้วก็นั่งรอหรือไปทำธุระ พอเสร็จเขาก็กลับมารับรถแล้วขับกลับบ้าน ไม่ใช่แหล่งที่คนมารวมตัวกันแออัดมากเกินไป แต่ก็ต้องยอมรับว่าลูกค้าก็หายไปเยอะเหมือนกัน” คุณชาญวิชญ์ กล่าว

เมื่อลูกค้าหาย รายได้ก็ลด แต่ภาระค่าใช้จ่ายยังคงมีเท่าเดิม คุณชาญวิชญ์ กล่าวว่า ตนในฐานะคนทำธุรกิจ ก็ต้องมองหาลู่ทางการประคองธุรกิจให้สามารถไปต่อได้ จึงมีการเรียกประชุมกันกับลูกน้องที่ร้าน ในการช่วยกันคิดหาทางออกจากสถานการณ์ในครั้งนี้ ก็มีมติว่า จะยังคงเปิดร้านต่อไป แต่ก็แลกมาด้วยการรับงานเพิ่มขึ้น เพื่อให้ได้จำนวนเงินค่าจ้างเท่าเดิม

“พอลูกค้าลดลง แต่เราตัดสินใจที่จะเปิดร้านและเดินต่อ อีกทั้งจะต้องรักษาลูกน้องของเราไว้ และยังจ่ายเงินเดือนเท่าเดิม เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ ทีนี้จะทำยังไงล่ะ เพราะลูกค้าก็ไม่เยอะเหมือนเมื่อก่อน เรามีคนที่พร้อมจะทำงาน แต่งานมีให้ทำน้อยลงก็จำเป็นต้องคิดหารูปแบบงานอย่างอื่นทำเพิ่ม เพื่อชดเชยรายได้ที่หายไป พร้อมทั้งสร้างแรงจูงใจและแรงกระตุ้นให้เขามีกำลังใจที่จะทำงานกันต่อ ผมก็เพิ่มบริการพิเศษ คือ การฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ที่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสและแบคทีเรียได้ทุกตัว ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ทางร้านใช้ ก็เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่มีการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งผลตอบรับจากลูกค้าเป็นไปในทางที่ดี ตรงนี้ก็ช่วยชดเชยตรงส่วนที่ลูกค้าหายไปได้ส่วนหนึ่ง นอกจากบริการเสริมที่เพิ่มเข้ามา ผมก็ใช้สื่อออนไลน์อย่าง Website, Facebook, Line, และ IG ในการอัพเดตความเคลื่อนไหวของร้าน เพื่อบอกให้ลูกค้ารับรู้ว่าร้านเรายังเปิดให้บริการอยู่ อีกทั้งนำ Google Map ในการค้นหาตำแหน่งร้าน โดยพิมพ์แค่ชื่อร้านเพื่อค้นหาก็ทำให้ลูกค้าง่ายที่จะมาใช้บริการร้านเราถูก หากร้านไหนถ้าไม่มีการประชาสัมพันธ์ ลูกค้าเขาก็จะไม่รับรู้ว่าเรามีบริการ หรือทำอะไรรวมถึงเรามีมาตรการอะไรในการป้องกันการแพร่ระบาดในครั้งนี้บ้าง ซึ่งทางร้านก็ให้พนักงานสวมถุงมือและใส่หน้ากากในร้านตลอด จนทำงานเสร็จก็ถอดทิ้งอย่างถูกต้อง ส่วนจุดสัมผัสต่างๆ และห้องรับรอง ก็มีการทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์บ่อย เป็นการสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นใจให้ลูกค้า และเป็นโอกาสที่เขาจะยังมาหรือกลับมาใช้บริการที่ร้านด้วย” คุณชาญวิชญ์ กล่าวมาอย่างนั้น

“ผมมั่นใจว่าธุรกิจคาร์แคร์ ยังไงก็ไม่ตาย เพราะส่วนใหญ่คนไทยจะมีนิสัยปรับตัวที่ค่อนข้างเร็วกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วจะเริ่มชินกับกฎเกณฑ์ที่กำหนดออกมา และรู้จักการป้องกันทำอย่างไรให้ตัวเองปลอดภัย ถ้ามองอันดับแรกให้มองก่อนว่า เราสามารถทำอย่างอื่นได้ไหม ให้มันมีรายได้เข้ามาบ้าง ทุกวิกฤตยังไงมันก็มีโอกาส อยู่ที่มุมมองเท่านั้น ต้องหามันให้เจอ ธุรกิจทุกอย่าง ไม่ว่าจะร้านอาหาร หรือการบริการ มันจะมีจุดตัดที่ทำให้เจริญเติบโตต่อ จากนั้นก็จะเข้าสู่จุดที่เป็นสมดุล เพื่อพัฒนาด้านที่เราไม่เคยทำ เมื่อเจอแบบนี้เราต้องเอาจุดที่ผ่านมาเป็นประสบการณ์ปรับปรุงแก้ไข เปลี่ยนแปลง เมื่อกลับสู่ภาวะปกติ เศรษฐกิจก็จะกลับมาอีกครั้ง คือทุกอย่างมันจะต้องใช้เวลาในการปรับตัวมันเอง ในเมื่อเราปิดร้านไม่ได้ เพราะมีลูกน้องที่ต้องดูแล สิ่งที่ไม่เคยทำก็ต้องทำซะ เพื่อให้ธุรกิจเราฝ่าฟันไปได้ ถ้ามันรอดก็รอดด้วยกัน พอผ่านมันไปได้ เราก็จะมีต้นทุนเป็นประสบการณ์ที่จะเอาไปต่อยอดธุรกิจได้อีกเยอะ” คุณชาญวิชญ์ กล่าวทิ้งท้าย