เชื่อใคร! AI หรือ หลักฐานประจักษ์ “ไพศาล” เป็นไกด์ทั้งชีวิต แต่ SMS เป็น ผปก.

เชื่อใคร! AI หรือ หลักฐานประจักษ์ “ไพศาล” เป็นไกด์ทั้งชีวิต แต่ SMS เป็น ผปก.
เชื่อใคร! AI หรือ หลักฐานประจักษ์ “ไพศาล” เป็นไกด์ทั้งชีวิต แต่ SMS เป็น ผปก.

เชื่อใคร! AI หรือ หลักฐานประจักษ์ “ไพศาล” เป็นไกด์ทั้งชีวิต แต่ SMS เป็น ผปก.

“ยืนยันว่าระบบการตรวจสอบของกระทรวงการคลัง ผ่านระบบเอไอนั้น ไม่ได้มั่วอย่างแน่นอน กระทรวงการคลัง ไม่ได้ไปกำหนดว่าใครจะเป็นเกษตรกร เป็นเจ้าของกิจการ หรือเป็นนักศึกษา เพื่อไม่ให้เงินเยียวยา แต่เป็นเพราะระบบตรวจสอบเจอในฐานข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ ดังนั้นยืนยันว่า ระบบที่วางไว้นั้นมีมาตรฐาน และพร้อมเปิดให้กลุ่มคนที่ไม่ผ่านเกณฑ์อุทธรณ์ผลการพิจารณา”

คือ คำให้สัมภาษณ์หนักแน่นจาก คุณลวรณ แสงสนิท โฆษกกระทรวงการคลัง ให้ไว้ผ่านสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 13 เม.ย.ที่ผ่านมา

แต่คล้อยหลังเพียงแค่วันเดียว กลุ่มคนที่กระทรวงการคลัง ให้นิยามไว้ว่า “ผู้ที่คิดว่ามีความผิดพลาดเกิดขึ้น” ในการขอรับเงินเยียวยาตามโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ก็พากันไปรวมกลุ่มประท้วงหน้าที่ทำการกระทรวงการคลัง เขตพญาไท แม้มีจำนวนแค่หลักร้อย แต่เสียงเรียกร้องจากพวกเขา ก็สั่นสะเทือนสร้างแรงกระเพื่อมได้ไม่น้อย เพราะทุกคน ต่างมีหลักฐาน ยืนยันว่ากำลังเดือดร้อนหนักจริงๆ

“ร้านค้าถูกคำสั่งปิดกิจการตลาดนัด ทำให้ไม่สามารถค้าขายได้ ขาดรายได้เลี้ยงดูครอบครัว ขณะที่ไม่สามารถลงทะเบียนได้ เพราะรับแจ้งเป็นเจ้าของกิจการ มีผู้ขับรถแท็กซี่ ร้องเรียนเรื่องไม่ได้รับสิทธิ์ เพราะถูกระบุเป็นเกษตรกรหลายราย ทั้งที่ไม่เคยทำอาชีพเกษตรกร รวมทั้งกลุ่มที่ได้รับ SMS แจ้งว่าได้รับสิทธิ์ แต่เงินไม่ได้เข้าบัญชี” เหล่านี้คือข้อเท็จจริงที่อยากให้รัฐ รับฟัง

คุณไพศาล วงษ์เล็ก มัคคุเทศก์หนุ่มใหญ่ วัยห้าสิบเศษ คือ หนึ่งในกลุ่ม “ผู้ที่คิดว่ามีความผิดพลาดเกิดขึ้น” ในการขอรับเงินเยียวยาตามโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ กับ “เส้นทางเศรษฐีออนไลน์”  ว่า ตัวเขาไม่ได้ไปร่วมกลุ่มกับผู้คนที่หน้ากระทรวงการคลัง ดังกล่าว แต่ก่อนหน้านี้เคยร้องเรียนผ่านเพจของสื่อสำนักหนึ่งไป แต่ไม่เห็นมีผลตอบรับอะไรกลับมา

“ผมลงทะเบียนไปเมื่อวันที่ 28 มี.ค. พอบ่ายวันที่ 12 เม.ย. ได้รับ SMS แจ้งว่า เป็นผู้ประกอบการ ทั้งๆ ที่ทำอาชีพมัคคุเทศก์ มาตั้งแต่อายุ 22 ปี ได้บัตรไกด์ตั้งแต่อายุ 24 ปี มีการต่ออายุบัตรถูกต้องตามกฎหมายมาตลอดการทำงาน 20 กว่าปี  ทุกวันนี้ยังมีชื่ออยู่ในสารบบของกรมการท่องเที่ยว” คุณไพศาล ลำดับเหตุการณ์ให้ฟัง

ก่อนเล่าต่อ ในกลุ่มเพื่อนไกด์ด้วยกัน ซึ่งมีจำนวนไม่น้อย ต่างมั่นใจถึงอย่างไรพวกเขาต้องได้รับเงินเยียวยา เพราะก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลัง ออกมาระบุเอง กลุ่มที่มีบัตรตรวจสอบได้ วินจักรยานยนต์  แท็กซี่ อาชีพพิเศษ อย่าง มัคคุเทศก์ ผู้ค้าสลาก จะได้รับการช่วยเหลือเป็นกลุ่มแรกๆ

“ถ้ากระทรวงการคลัง ทำตามข้อตกลงที่ว่ามาอย่างจริงจัง ช่วยเหลือคน 4 กลุ่มอาชีพอย่างที่พูด เรื่องจบไปนานแล้ว ไม่วุ่นวายอยู่อย่างนี้ ข้อมูลพวกนี้ตรวจสอบหมายเลขได้อยู่แล้ว ติดต่อไปหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงเลย อย่างมัคคุเทศก์  ติดต่อไปกรมการท่องเที่ยว แท็กซี่ หรือ วินจักรยานยนต์  ก็ประสานไปที่กรมการขนส่งทางบก ตรวจสอบเลย มีกี่คนที่มีบัตรถูกต้องชัดเจน” คุณไพศาล บอกจริงจัง

และว่า ตัวเขาหากเลี้ยงชีพด้วยอาชีพไกด์ร้อยเปอร์เซ็นต์  เพราะเป็นอาชีพไม่มีวันตก ที่ผ่านมาไม่ว่าสถานการณ์ชาติบ้านเมืองจะเป็นยังไง การเมือง เคลื่อนไหวลุกฮือแค่ไหน  อาชีพไกด์ ยังไปได้เรื่อยๆ  โดยเฉพาะ ประเทศไทย พึ่งพาการท่องเที่ยวมาโดยตลอด  แต่ต้องยอมรับว่าสถานการณ์โควิด-19 สร้างผลกระทบให้กับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอาชีพที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว กระทบเต็มๆ

“ทุกวันนี้ หลายคนไม่มีงานทำ ซึ่งไม่โทษว่าเป็นเพราะใคร แต่ยังติดใจนโยบายของกระทรวงการคลัง ที่ว่าจะแจกกลุ่ม 4 อาชีพหลักก่อน เพราะสามารถตรวจสอบได้ แต่สุดท้ายกลับมายัดเยียดว่าไม่ใช่ ให้คนที่มีอาชีพไกด์ มาตลอดชีวิต เป็นเกษตรกรบ้าง เป็นผู้ประกอบการบ้าง ทั้งที่ตอนลงทะเบียนไม่มีการให้ลงว่า คุณเป็นมัคคุเทศก์ มีบัตรมั้ย บัตรหมายเลขอะไร” คุณไพศาล ระบุ

ถามไถ่ถึงความเป็นอยู่ยามนี้ของชาวไกด์ เพื่อนร่วมอาชีพ คุณไพศาล บอก หลายคนไปขายอาหารตามสั่ง  บางคนส่งกุนเชียง ส่งผลไม้ ขาย ส่วนตัวเขาเองยังไม่มีอาชีพสำรอง ไม่มีรายได้อะไร อาศัยกินเงินเก่า และคนในครอบครัวช่วยดูแลกัน

“ทุกวันนี้ อยู่แบบประหยัดกิน ประหยัดใช้ ผมอาจไม่ค่อยเครียดเท่าไหร่ เพราะคิดซะว่าอะไรจะเกิดก็ต้องเกิด มันมีผลกระทบกันทั่วโลก ไม่ได้โชคร้ายแค่เรา แต่สงสารพวกไกด์รุ่นน้อง หลายคนที่กำลังสร้างครอบครัว  มีภาระผ่อนบ้าน ผ่อนรถ” คุณไพศาล บอกอย่างนั้น

และว่า เคยประเมินไว้คร่าวๆ ถ้าสิ้นเดือนนี้โควิด หมดได้จริง กว่าการท่องเที่ยวจะฟื้นคงไม่ต่ำกว่า 3 เดือน นั่นหมายความว่า เดือนสิงหาค หรือ กันยายน ถึงจะเริ่มมีทัวร์ นี่คือเร็วสุด แต่ถ้าสถานการณ์ยังอยู่ยาวไปเรื่อยๆ ตุลาคม คงยังไม่ฟื้น

“ไกด์ เป็นอาชีพที่พอเลี้ยงตัวได้ รายได้ในการจัดจ้างต่อวันไม่เยอะ สมมติไปเวียดนาม 3 วัน รายได้อยู่ที่ 1,000-1,200 บาทต่อวัน แล้วแต่เกณฑ์แต่ละบริษัทต้นสังกัดจะให้  ที่เหลืออาจได้เป็นทิปจากลูกค้า หรือถ้าไปในประเทศที่มีการลงร้านค้า จะได้ค่าคอมมิสชั่นบ้าง แต่ถ้าโควิดยังอยู่อีกยาวเป็นปี คงต้องหาอย่างอื่นทำ อาจไปขับจักรยานยนต์ส่งอาหาร ก็ได้” คุณไพศาล บอกอย่างนั้น

สนทนามาถึงตรงนี้มีอะไรอยากฝากถึงผู้มีอำนาจในบ้านเมืองมั้ย คุณไพศาล ถอนใจยาว ก่อนกล่าวจริงจัง

“ผมไม่เคยต่อต้านรัฐบาลนะไม่ว่าจะเป็นชุดไหน แต่รัฐบาลชุดนี้ มาให้ความหวัง แล้ววันหนึ่ง บอกไม่ใช่แล้ว เหมือนหาว่าเราโกหก อย่ามากล่าวหาแบบนี้ คนที่เดือดร้อนมีจริงๆ อย่าเอาความรู้สึกของประชาชนมาเล่น กระทรวงการคลัง ควรออกมาขอโทษ แล้วยอมรับตรงๆ ว่า AI มันผิดพลาด”

เมื่อถามถึงการเปิดให้ “อุทธรณ์” คุณไพศาล บอกทันที

“ผมจะอุทธรณ์ เพราะเป็นสิทธิ์…ที่พึงได้”