เงิน 5,000 บาท กับ ความหวังของคนที่รอ “เราไม่ทิ้งกัน”

เงิน 5,000 บาท กับ ความหวังของคนที่รอ “เราไม่ทิ้งกัน”

เราไม่ทิ้งกัน – เข้าสู่วันที่ 6 แล้ว สำหรับมาตรการลงทะเบียนรับเงินช่วยเหลือ 5 พันบาทต่อเดือน สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 “เส้นทางเศรษฐีออนไลน์” เคยนำเสนอเรื่องราวในด้านของผู้ที่ได้รับเงินไปแล้ว (อ่านข่าว คลิก) วันนี้ เราจะมาดูในมุมของผู้ที่ยังไม่ได้รับเงินเยียวยากันบ้าง

คุณพิชญา โชคบัณฑิต แม่เลี้ยงเดี่ยว วัย 27 ปี ให้สัมภาษณ์ว่า เธอยึดอาชีพค้าขายในตลาดนัดกับคุณพ่อและคุณแม่ ซึ่งเป็นธุรกิจครอบครัวที่ทำกันมาหลายปีแล้ว เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ที่ผ่านมา ตลาดที่เป็นแหล่งทำมาหาเลี้ยงชีพของครอบครัวเธอได้ถูกสั่งปิด ลากยาวมาถึงวันที่ 2 เมษายน ทำให้ครอบครัวของเธอมีรายได้เท่ากับศูนย์เป็นเวลากว่า 2 สัปดาห์

“ตอนยังไม่มีโรคโควิด-19 เราออกไปขายของกับแม่ปกติ และคุณพ่อก็ไปขายอีกตลาดหนึ่ง ปกติการขายของจะต้องใช้ต้นทุน ในช่วงตลาดปิด พวกเราก็ต้องใช้เงินที่เก็บไว้ในการลงทุน พอรัฐออกมาตรการสั่งปิดตลาด เท่ากับตอนนั้นไม่มีรายได้เลยค่ะ หยุดไปครึ่งเดือนไม่มีเงินลุงทุนก็ต้องไปหาหยิบยืม พอออกมาขายของปกติก็ยังขายไม่ได้เหมือนเมื่อก่อน ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำค่าไฟ ค่าเช่าที่ตลาดไม่ได้หยุดตาม รายได้เราไม่มีแต่รายจ่ายเท่าเดิม เท่ากับว่าครอบครัวเป็นหนี้เพิ่มไปอีก สำหรับพ่อค้าแม่ค้าที่อาศัยเงินรายวัน มันแย่ค่ะ บางวันก็ขาดทุน บางวันก็ได้กำไรไม่กี่ร้อย จึงหวังว่าเงิน 5,000 ที่แม่จะได้ จะช่วยเป็นค่าข้าว ค่าปัจจัยต่างๆ ที่ดำรงชีวิตในแต่ละวันไปในช่วงที่ไม่มีรายได้ค่ะ เงินเก็บใช่ว่าจะมีทุกบ้านค่ะ ลำบากและเดือดร้อนจริงๆ ถ้าที่บ้านยังไม่ได้รับเงิน 5,000 ก็ไม่ทราบเหมือนกัน ว่าจะทำอย่างไร คงต้องสู้กันต่อ ถึงแม้จะมีให้อุทธรณ์ก็คงจะยุ่งยากยาวนาน” คุณพิชญา กล่าว

ด้าน แม่ค้าขายของหน้าโรงเรียนรายหนึ่ง ให้สัมภาษณ์ว่า ตนขายของที่หน้าโรงเรียนมาได้ประมาณ 25 ปีแล้ว ถ้าช่วงโรงเรียนปิด จะอาศัยขายตอนเด็กมาเรียนพิเศษ แต่พอมาปีนี้งดหมดทุกอย่าง โรงเรียนประกาศเลื่อนการเรียนการสอน ซึ่งพอดีกับที่มีให้เปิดลงทะเบียนรับเงินชดเชย

“ก็มีความหวังค่ะ ว่าจะได้เงินมาใช้จ่ายในครอบครัว เงินส่วนนี้มันมีค่ามากนะ สำหรับคนค้าขายแบบพี่ ถ้าพี่ได้เงินก็จะมาชื้อของกินของใช้ เก็บไว้ค่าน้ำค่าไฟ มันอาจจะเป็นเงินน้อยนิดสำหรับคนที่มี แต่สำหรับพี่มันเป็นเงินมากอยู่ พอให้อยู่ได้ ถ้าเรารู้จักใช้อย่างประหยัด จริงๆ แล้วมันก็ไม่พอหรอก เพราะค่าใช้จ่ายในปัจจุบันนี้มันเพิ่มมากขึ้น ความหมายคือของแพงขึ้น แล้วกว่าโรงเรียนจะเปิดเรียนอีก ถ้ามันไม่ได้จริงๆ ก็คงต้องดิ้นรนทางอื่น อาจจะรับจ้างทั่วไปก่อน มีงานอะไรก็จะทำเพื่อความอยู่รอด บางทีเงินที่คนจ้างเราทำงาน อาจจะไม่คุ้มกับที่เราต้องเหนื่อย แต่ทำไงได้เพื่อความอยู่รอด ก็จำเป็นต้องทำค่ะ