เกษตรกรภาคใต้ ไอเดียเฉียบ ปลูก “ขึ้นฉ่ายไฮโดรฯ” ส่งเทสโก้ โลตัส เสริมรายได้ราคายางตก

นับจากราคายางพาราตกต่ำเรื่อยมา เกษตรกรชาวสวนยางต้องหาทางออกในการปลูกพืชอื่นทดแทน หรือหันไปประกอบอาชีพอื่น เช่นเดียวกับที่พื้นที่ อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา ที่เกษตรกรชาวสวนยาง รายเล็กรายน้อย หันมาปลูกขึ้นฉ่าย ส่งให้เทสโก้ โลตัส นับพันกิโลกรัมต่อสัปดาห์ ซึ่งเรื่องนี้มีโจทย์ใหญ่อยู่ 2  ข้อคือ การปลูกขึ้นฉ่ายในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งมีอากาศร้อนชื้น และฝนตกชุก ไม่ใช่เรื่องง่าย รวมทั้งการติดต่อประสานงาน ส่งผักให้กับห้างค้าปลีกระดับใหญ่ อย่างเทสโก้ โลตัส ยิ่งยากกว่า

และจากนี้ไป เราจะไปหาคำตอบกันว่า  เกษตรกรในพื้นที่ตีโจทย์ 2 ข้อนี้อย่างตรงจุดได้อย่างไร

img_5124

ในเบื้องต้น ตัวละครสำคัญของเรื่องนี้คือ คุณพิโชติ ผุดผ่อง วัย 40 ต้นๆ เกษตรกรผู้นำเครือข่าย ผู้ที่เคยได้รับตำแหน่ง young smart farmer ซึ่งเขาเป็นต้นแบบในการเรียนรู้และขยายองค์ความรู้สู่ชาวสวนยาง ให้มีทางเลือกในการประกอบอาชีพนอกจากการกรีดยาง  และเพิ่มรายได้ให้ครัวเรือนในยามราคายางตกต่ำ

คุณพิโชติ เคยปลูกผักสลัด และนำไปเสนอขายให้กับทางเทสโก้ โลตัส ภาคใต้ แต่ทางเทสโก้ โลตัส ตอบกลับมาว่า ผักสลัดมีคนส่งเยอะแล้ว เปลี่ยนเป็น ขึ้นฉ่าย ดีกว่ามั้ย เนื่องจากทางภาคใต้ปลูกผักขึ้นฉ่ายไม่ค่อยได้ผล ส่วนใหญ่ต้องรับซื้อจากทางภาคกลาง อย่างจังหวัดราชบุรี คุณพิโชติจึงรับโจทย์นี้มา และทดลองปลูกขึ้นฉ่ายด้วยระบบไฮโดรโปนิกส์ กางมุ้งกันน้ำฝน และมีซาแรนช่วยพรางแสง เมื่อได้ผลดีแล้ว จึงไปชักชวนให้เกษตรกรรายย่อยมาร่วมกันปลูกอีก เพื่อให้ได้ปริมาณมากพอที่จะส่งห้างค้าปลีกระดับใหญ่ อย่างเทสโก้ โลตัส

img_5148

“ปัญหาของชาวสวนยางคือเมื่อยางราคาต่ำ ก็จะมีรายได้ลดลง ผมเองจบทางด้านการเกษตรมา เคยทำงานในบริษัทเกี่ยวกับการเกษตรในอำเภอหาดใหญ่ 4-5 ปี แล้วก็หันมาสนใจทำผักไฮโดรโปนิกส์ เริ่มแรกมีเพียงไม่กี่โต๊ะ เงินทุนประมาณหลักแสน เดิมผักไฮโดรโปนิกส์ที่ปลูกจะเป็นผักสลัด แต่พอได้พูดคุยกับทางเทสโก้ โลตัส ได้ทราบว่ามีความต้องการผักประเภทขึ้นฉ่าย เนื่องจากสภาพฝนในภาคใต้ ทำให้ปริมาณขึ้นฉ่ายที่ปลูกไม่สม่ำเสมอ ผมจึงเริ่มทดลองปลูกในแบบไฮโดรโปนิกส์กางมุ้งดู ปรากฏว่าได้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจมาก จึงขยายกำลังการผลิตมาเรื่อยๆ ปัจจุบันมี 70 โต๊ะ  นอกจากนี้ ผมยังเป็นศูนย์ถ่ายทอดความรู้การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ให้ชาวบ้าน กับทางจังหวัด โดยทางจังหวัดจะส่งเกษตรกรชาวสวนยางที่ผ่านการคัดเลือกแล้วว่ามีรายได้น้อย คือมีพื้นที่สวนไม่เกิน 5 ไร่ เป็นลูกจ้างกรีดยาง และต้องขยัน รับผิดชอบ สามารถทำงานกลุ่มได้ และทุกวันนี้ ทุกคนสามารถปลูกผักเพื่อส่งให้กับทางเทสโก้ โลตัส ทำให้มีรายได้เสริมจากการทำสวนยาง สภาพคล่องในครอบครัวก็ดีขึ้น ไม่เป็นหนี้นอกระบบ” คุณพิโชติ ว่าอย่างนั้นและกล่าวอีกว่า

img_5152 img_5114

“ผมเดินตามรอยในหลวง รัชกาลที่ 9 ไม่หยุดที่จะพัฒนาตัวเองในด้านการเกษตร เพราะโตมาก็เห็นพระองค์ท่านอยู่กับการเกษตรมาตลอด พระองค์ท่านเห็นความสำคัญว่าสังคมเกษตรต้องมาก่อน ต้องทำให้เกษตรกรเข้มแข็ง เวลาผมเป็นพี่เลี้ยงให้เกษตรกรที่มาเรียนรู้ ผมมักจะบอกเสมอว่า อย่าท้อ ถ้าท้อแล้วทำอะไรไม่ได้ ก็เหมือนในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ท่านทรงทดลอง เก็บข้อมูล พิสูจน์แล้วทุกอย่าง เกษตรกรของพระราชา จะต้องพึ่งพาตัวเองได้”

img_5162

คุณสลิลลา สีหพันธุ์ รองประธานกรรมการฝ่ายกิจการ บริษัท เทสโก้ โลตัส เผยว่า การที่เกษตรกรเพาะปลูกแล้วไม่รู้ว่าจะไปขายที่ไหน ขายให้ใคร ซึ่งถ้าจะมองในมุมของผู้ซื้อแล้วก็มีคำแนะนำว่า อันดับแรก ผู้ที่จะปลูกพืชผักส่งห้างค้าปลีกระดับใหญ่ ควรจะต้องมีโปรไฟล์ หรือมีประวัติการเพาะปลูกพืชมาแล้ว ไม่ใช่ว่าเป็นมือใหม่ ไม่เคยปลูกอะไรเลย แล้วมาหาตลาดอย่างนี้ ก็จะยาก จากนั้นก็ต้องเข้าไปพูดคุยกับแผนกจัดซื้อ หรือติดต่อไปตามช่องทางต่างๆ ของห้างที่เราจะติดต่อ เช่น โทรศัพท์ หรือเข้าติดต่อผ่านไปทางเว็บไซต์ เป็นต้น แต่หากต้องการส่งตลาดทั่วไปก็ต้องไปสำรวจตลาด เก็บข้อมูล ด้วยการไปพูดคุยกับพ่อค้า แม่ค้า ไปดูว่าเขาค้าขายอะไรกัน ถ้าเราจะมีผลผลิตมาส่ง จะสนใจหรือไม่

นอกจากนี้ ยังมีคำแนะนำอีกว่า เรื่องปริมาณผลผลิตก็สำคัญ การคิดค้าขายกับห้างค้าปลีก ต้องมีปริมาณสม่ำเสมอ มีผลผลิตมากระดับหนึ่ง คิดง่ายๆ ในเรื่องการขนส่ง ถ้าเราผลิตคนเดียว ขนส่งไปกับรถครึ่งคัน ค่าขนส่งก็เท่ากับรถเต็มคัน หากตัวคนเดียวไม่สามารถผลิตได้ ก็ควรรวมกลุ่มกัน ก็จะทำให้การค้าส่ง เป็นไปได้โดยง่าย

ถามว่า จะมีราคาประกันให้เลยหรือไม่ คุณสลิลลา ตอบว่า “แล้วแต่การคุยกัน เกษตรกรบางรายชอบราคาเฉลี่ยทั้งปี คืออาจจะต้องแล้วแต่พืชแต่ละชนิดด้วย แต่ไม่ถึงกับเป็นพันธะสัญญา (contract farming) เป็นเรื่องเป็นราว เป็นแค่ใบสั่งซื้อ ที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องพยายามรักษาฐานลูกค้า และผู้ซื้อของตัวเองไว้ด้วยคุณภาพสินค้า ความตรงเวลาในการส่งสินค้า เป็นต้น ไม่เช่นนั้นทั้ง 2 ฝ่ายก็ไม่อาจจะมีที่ค้าขายกันได้”

“เทสโก้ โลตัส มีเป้าหมายที่จะเพิ่มปริมาณการรับซื้อผักปลอดภัยในภาคใต้เพิ่มขึ้น ไม่เพียงแต่ขึ้นฉ่าย แต่ผักประเภทอื่นๆ ก็ยังเป็นที่ต้องการในแถบนี้ ซึ่งจะใช้แนวทางประชารัฐ ซึ่งเป็นการร่วมมือกับทั้งรัฐและชุมชนต่อไป และจะใช้ตลาดเป็นตัวนำ เพราะพิสูจน์แล้วว่า เป็นรูปแบบที่สร้างความสำเร็จ โดยการที่เทสโก้ โลตัส เข้ามาช่วยวางแผนประเภทและปริมาณผักที่ต้องการปลูก รวมทั้งวางแผนการจัดส่ง ทำให้เกษตรกรสามารถบริหารต้นทุนได้ดี มีกำไร และวางแนวทางการเติบโตอย่างต่อเนื่อง พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ตามพระราชปณิธานของพ่อหลวงที่รักของเรา” คุณสลิลลา กล่าว

img_5131

ทั้งนี้ เทสโก้ โลตัส ยังมีโครงการประชารัฐเพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตอีกหลายโครงการ ซึ่งได้ช่วยสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ อาทิ โครงการ ปลูกผักกลางนาทุ่งกุลายิ้มได้ ซึ่งสนับสนุนให้ชาวนาจังหวัดร้อยเอ็ดปลูกผักเสริมในหน้าแล้ง สร้างรายได้เพิ่มให้ครัวเรือนละ 5,000 บาท ต่อรอบการเก็บเกี่ยว รวมทั้งมอบพื้นที่ให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นำสินค้าโอท็อปจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาจำหน่ายที่เทสโก้ โลตัส สร้างรายได้ให้ชาวบ้านรวมกว่า 27 ล้านบาทในปีนี้

ทางด้าน คุณทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า จังหวัดสงขลามีเกษตรกรชาวสวนยางอยู่เป็นจำนวนมาก พอราคายางตก หลายครัวเรือนจึงประสบปัญหารายได้น้อย ทางจังหวัดจึงส่งเสริมให้เกษตรกรมีอาชีพหลากหลาย เช่น การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ที่มีคุณพิโชติ เป็นต้นแบบ ก็เป็นทางหนึ่งที่ช่วยเสริมรายได้ให้พวกเขา โดยทางจังหวัดได้เข้ามาสนับสนุนให้เกิดการอบรม ขยายองค์ความรู้ไปสู่ชาวสวนยางที่มีรายได้น้อย

“นอกจากการสนับสนุนด้านการขยายองค์ความรู้แล้ว ทางจังหวัดยังได้ให้การสนับสนุนงบประมาณในการจัดหาอุปกรณ์ให้กับชาวบ้านที่ผ่านการคัดเลือก 10 โต๊ะ ทำให้พวกเขาได้เห็นว่า ยังมีอาชีพเสริมอื่นๆ ที่สร้างรายได้ให้เขาได้ ซึ่งเทสโก้ โลตัส ได้เข้ามารับซื้อ ทำให้เกิดการตลาดแบบครบวงจร”

และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวความร่วมมือดีๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และตัวเกษตรกรเอง ในอันที่จะช่วยกันสร้างสรรค์อาชีพ อันก่อให้เกิดรายได้ เพื่อนำมาสู่ความกินดีอยู่ดีของกลุ่มชาวบ้านเอง