แจกเงิน 5,000 บาททั้งที แจกให้ทุกคน ถึงจะเรียกได้ว่า เราไม่ทิ้งกัน

แจกเงิน 5,000 บาททั้งที แจกให้ทุกคน ถึงจะเรียกได้ว่า เราไม่ทิ้งกัน
แจกเงิน 5,000 บาททั้งที แจกให้ทุกคน ถึงจะเรียกได้ว่า เราไม่ทิ้งกัน

แจกเงิน 5,000 บาททั้งที แจกให้ทุกคน ถึงจะเรียกได้ว่า เราไม่ทิ้งกัน

แจกเงิน 5,000 บาท ผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ของรัฐบาล แทนที่จะเป็น “ดอกไม้” อาจกลายเป็น “ก้อนอิฐ” ไปซะแล้ว

แค่วันแรกของการแจก มีคนประมาณ 2 แสนคนได้รับเงินก้อนแรก 5,000 บาทเข้าบัญชีเรียบร้อย ซึ่งรัฐบาลประกาศมาก่อนหน้าว่า มีกลุ่มคน 4 อาชีพที่เข้าเกณฑ์ได้ก่อน คือ อาชีพไกด์ คนขับแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ และคนขายลอตเตอรี่

เสียงบ่นไม่พอใจ ติติงเกณฑ์การตัดสินคนที่ได้รับความเดือดร้อนจากพิษโควิด-19 ของรัฐบาลที่ไม่ยุติธรรม ใช้อะไรเป็นตัววัดความเดือดร้อนของคนที่เข้าเกณฑ์ได้รับความช่วยเหลือ โดยเฉพาะข้อสงสัยที่ว่า กองสลากฯ เลื่อนการออกรางวัลลอตเตอรี่ไปแค่ 2 งวด แต่คนขายลอตเตอรี่ได้รับการเยียวยาก่อนใคร 5,000 บาท ติดต่อกัน 6 เดือน เป็นเงิน 30,000 บาท

— อ่านข่าวเกี่ยวข้อง เงินเยียวยาเราไม่ทิ้งกัน —

เลยเถิดถึงขั้นกล่าวหาว่า กระทรวงการคลังลำเอียง ดูแลหน่วยงานในสังกัด ก็เลยช่วยคนขายลอตเตอรี่ให้กองสลากฯ ก่อนกลุ่มคนอาชีพอื่น

เริ่มแรกมาตรการเยียวยา 5,000 บาท กระทรวงการคลังระบุว่า จะมีผู้เข้าข่ายได้รับความช่วยเหลือ 3 ล้านคน แต่พอมีคนแห่แหนกันไปลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์เราไม่ทิ้งกัน ถึง 22 ล้านคน กระทรวงการคลังก็ประกาศใหม่ว่า จะขยายจำนวนคนที่ได้รับความช่วยเหลือเป็น 9 ล้านคน มีการจำแนกกลุ่มอาชีพที่เข้าข่าย 4 กลุ่มอาชีพแรก และไม่เข้าข่ายอีก 10 กลุ่ม (ดูตารางประกอบ)

ลุ่มอาชีพที่เข้าข่าย 4 กลุ่มอาชีพแรก และไม่เข้าข่าย 10 กลุ่ม

แต่คำตอบสุดท้ายว่า ใครจะได้หรือไม่ได้ ขึ้นอยู่กับ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือเข้าใจง่ายๆ คือ เจ้าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใส่ข้อมูลประชากรเอาไว้สำหรับคัดกรองข้อมูลนั่นเอง

รัฐบาลคงต้องมีคำอธิบายมากกว่านี้ในแต่ละรายละเอียดของมาตรการ ไม่เช่นนั้น จะยิ่งสร้างข้อครหา ระแวงในความบริสุทธิ์ยุติธรรมของการดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นการขยายจำนวนคนจาก 3 ล้านเป็น 9 ล้านคน หรือการเพิ่มเงินเยียวยาเดือนละ 5,000 บาท จาก 3 เดือนเป็น 6 เดือนนั้น มาจากสมมติฐานอะไร และวัดความเดือดร้อนจากพิษโควิด-19 แบบไหน เหตุใดคนอายุต่ำกว่า 18 ปี หรือนักเรียนนักศึกษา ถึงไม่ผ่านเกณฑ์ได้รับเงิน 5,000 บาท ทั้งที่ในยุคปัจจุบัน คนรุ่นหนุ่มสาวเข้าสู่วัยทำงานเร็วขึ้น คนเจนวายหลายคนเรียนไปด้วยทำงานหาเลี้ยงตัวเองไปด้วย หากธุรกิจหรืองานที่ทำได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำไมจึงถูกรัฐบาลกีดกัน หรือในแง่ของผู้ค้าออนไลน์ แม้ว่าจะยังสามารถค้าขายผ่านออนไลน์ได้ในสถานการณ์โรคแพร่ระบาด แต่ยอดขายที่ลดฮวบฮาบ ลูกค้าหมดอารมณ์ช็อปปิ้ง ถือว่า ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หรือไม่

หากพิจารณากันด้วยสติปัญญาของมนุษย์ปกติ โดยไม่ใช้ AI ก็รู้กันได้ว่า เหตุภัยธรรมชาติ หรือโรคระบาด มันส่งผลกระทบต่อทุกผู้ทุกคนถ้วนหน้า โรคร้ายไม่ได้เลือกว่า จะแพร่เชื้อใส่คนจนหรือคนรวย ความกลัวติดเชื้อก็ไม่เลือกชั้นวรรณะ หรือเลือกอาชีพ แม้ว่าจะเป็นข้าราชการ แม่บ้าน หรือคนแก่อยู่บ้านรับเงินบำนาญ ต้องเจอปัญหาเดียวกัน คือ ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงหลายเท่าตัว จากราคาหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ที่ขาดตลาด หาซื้อลำบาก หรือซื้อได้ในราคาแพงลิบ จากหลักสิบกลายเป็นหลักหลายร้อย

หรืออาหารการกินที่ยุ่งยากวุ่นวายมากขึ้น ไหนจะเจอปัญหาไข่แพง อีกสักพักคงข้าวสารแพง ไหนจะต้องซื้อของอุปโภคบริโภคตุน เผื่อรัฐบาลประกาศเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง ล้วนแต่เป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมากมาย

อย่างนี้เรียกว่า ผลกระทบจากโควิด-19 และควรได้รับการเยียวยาหรือไม่?

ถ้าคิดจะใช้มาตรการแจกเงิน รัฐบาลก็ควรใช้วิธีเดียวกับสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สิงคโปร์ หรือไต้หวัน ที่จะแจกเงินเยียวยาโควิด-19 ทั้งที แจกประชากรทุกคน ถ้วนหน้าและเท่าเทียม ไม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับวงเงินที่ทุกคนจะได้รับ ขอเพียงแจกให้ทั่วถึง

หรือไม่เช่นนั้น ถ้าเงินมีน้อย ลองปรับเงื่อนไข จาก 9 ล้านคน แจกคนละ 30,000 บาท ใช้เงิน 270,000 ล้านบาท มาเป็น 18 ล้านคน คน ละ 15,000 บาท  ก็ใช้เงินเท่ากัน แต่ให้ผลทางจิตวิทยา คนได้รับความช่วยเหลือมากขึ้นอีกเท่าตัว ใกล้เคียงกับจำนวน 22 ล้านคนที่แห่กันไปลงทะเบียน

การแจกเงินให้กันคนไทยทั้ง 66 ล้านคน สมมติว่า รัฐบาลมีเงินไม่มาก แจกได้แค่เพียงเดือนเดียว 5,000 บาท ซึ่งต้องใช้เงินเพิ่มขึ้นเป็น 330,000 ล้านบาท แต่ให้ผลกับจิตใจคนไทยดีขึ้นหลายเท่า

3 แสนกว่าล้าน เมื่อเทียบกับทั้งก้อนที่รัฐบาลตั้งใจกู้แก้ปัญหาโควิด-19 ที่ 1.9 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนแค่ 15 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง!!