ฝ่าวิกฤต COVID-19 วิศวะแท็กทีมแพทย์ จุฬาฯ และเอไอเอส นำเทคโนโลยี 5G เสริมขีดความสามารถหุ่นยนต์อัจฉริยะ ดูแลเฝ้าระวังเชื้อไวรัสโควิด-19 ครั้งแรกของเมืองไทย

สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่คนไทยทั้งประเทศกำลังเฝ้าจับตามองกันอย่างใกล้ชิด หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคสังคม ได้ออกมาตรการเพื่อรับมือวิกฤตครั้งนี้อย่างต่อเนื่อง นอกจากปัญหาขาดแคลนหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือ ที่หลายคนกำลังเผชิญอยู่แล้วนั้น ยังมีกลุ่มคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นผู้เสียสละ และเป็นปราการด่านสำคัญ ในการเฝ้าระวังและรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นั่นก็คือเหล่าบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งมีความเสี่ยงติดเชื้อจากการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยได้เช่นกัน 

ด้วยเหตุนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ได้ร่วมกับ เอไอเอส เล็งเห็นถึงความสำคัญของบุคลากรทางการแพทย์ในการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมสถานการณ์ในประเทศไทย ตลอด 24 ชั่วโมง จึงร่วมพัฒนาเพื่อนำเทคโนโลยี 5G และ 4G มาช่วยเสริมขีดความสามารถการทำงานของหุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ ซึ่งคิดค้นและพัฒนาจากฝีมือคนไทย โดย ศ.ดร.วิบูลย์ แสงวีระพันธุ์ศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและหัวหน้าศูนย์ Regional Center of Robotics Technology ศ.พญ.นิจศรี ชาญณรงค์ ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญครบวงจรโรคหลอดเลือดสมอง ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำมาใช้ติดตามอาการกลุ่มผู้ถูกเฝ้าระวังและดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นครั้งแรกของประเทศไทย 

ศ.ดร.วิบูลย์ แสงวีระพันธุ์ศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและหัวหน้าศูนย์ Regional Center of Robotics Technology กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของโครงการนี้ว่า “ในช่วงเริ่มแรก หุ่นยนต์ถูกพัฒนาขึ้น เพื่อช่วยเฝ้าระวังผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง และโรคที่เกี่ยวกับผู้ป่วยสูงอายุ แต่เมื่อสถานการณ์ COVID19 รุนแรงขึ้น จึงได้รับการติดต่อจากแพทย์ที่ต้องการนำเอาหุ่นยนต์ไปช่วยทำงานแทนบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อลดความเสี่ยงในการดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส COVID-19 จึงได้นำหุ่นยนต์มาประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ปัจจุบัน หนึ่งในคุณสมบัติเด่นของหุ่นยนต์นี้ แพทย์สามารถควบคุมสั่งการหุ่นยนต์ให้ขยับหัวเคลื่อนที่ได้ (Automatic Face Tracking) เพื่อติดตามใบหน้าของผู้ป่วย สามารถปรับขนาดภาพใกล้ – ไกล เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการวินิจฉัยโรค ขณะที่ หุ่นยนต์แบบ Mobile จะมีคุณสมบัติเคลื่อนที่ได้อัตโนมัติ สร้างระบบแผนที่ เพื่อเคลื่อนย้ายตัวเองไปยังห้องต่างๆ ภายในโรงพยาบาล ซึ่งถือเป็น Robot Platform ที่ออกแบบมารองรับการใช้งาน 5G มีความเสถียรและตอบโจทย์การใช้งานได้คล่องตัว พร้อมถูกใช้งานตามความต้องการในสถานการณ์ปัจจุบัน”

ด้าน นายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ AIS กล่าวถึงการนำเทคโนโลยี 5G มาช่วยสนับสนุนเพิ่มขีดความสามารถของหุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ว่า “ก่อนหน้านี้ เอไอเอส มีโอกาสทำงานร่วมกับทางวิศวะจุฬาฯ ในการหา Use Case ที่จะพัฒนา 5G
มาใช้ในวงการแพทย์ เริ่มจากหุ่นยนต์กายภาพ โจทย์คือจากเดิมหุ่นยนต์ไม่สามารถอัพโหลดข้อมูลเองได้ เราจึงเข้ามาช่วยเรื่องระบบสื่อสาร ช่วยส่งต่อข้อมูลจากหุ่นยนต์กายภาพมาเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย ทำให้เห็นความเคลื่อนไหว ประวัติการรักษาอยู่ตลอดเวลา จากนั้น อาจารย์มีความสนใจการทำหุ่นยนต์ช่วยดูแลรักษาโรคหลอดเลือดสมอง ที่แพทย์สามารถมองจอเห็นสีหน้าหรือตา เพื่อช่วยวินิจฉัยโรค แต่โจทย์อยู่ที่ความคมชัดของกล้องที่ฝังในหุ่นยนต์ ซึ่งประสิทธิภาพของ 5G จะได้เข้ามาช่วยยกระดับการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

และด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในขณะนี้ เมื่อเราเปิดสัญญาณใช้งาน 5G ได้แล้ว จึงเป็นเรื่องพอเหมาะในการนำเทคโนโลยี 5G มาเสริมประสิทธิภาพการทำงานของหุ่นยนต์ ซึ่งเราอัพเกรดจากเดิมที่เราสนับสนุน 4G อยู่แล้ว แต่ 5G จะเข้ามาช่วยเสริมเรื่องความคมชัด เรื่อง Bandwidth เมื่อผู้ป่วยกับแพทย์อยู่ไกลกัน สิ่งที่แพทย์ต้องการเห็นคือสีหน้า ดวงตา ซึ่งต้องการความคมชัด ความละเอียดสูงมาก นี่คือสิ่งที่ 5G จะตอบโจทย์”

ในเบื้องต้นหุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ เริ่มถูกนำไปใช้งานเพื่อเฝ้าระวังการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว 3 แห่ง โดยได้ทำงานร่วมกับนายแพทย์สมบูรณ์ ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี และนายแพทย์เขตต์ ศรีประทักษ์ ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์โรงพยาบาลโรคทรวงอก ได้แก่ 1. โรงพยาบาลราชวิถี จำนวน 2 ชุดเป็นแบบตั้งโต๊ะ 2. โรงพยาบาลทรวงอก จำนวน 1 ชุด เป็นแบบ Mobile Robot และ 3. โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี จำนวน 1 ชุด เป็นแบบตั้งโต๊ะ นอกจากนี้ ยังอยู่ในระหว่างการสร้างจำนวนมากขึ้นและการพัฒนาโปรแกรมใหม่โดยเฉพาะ และยังอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมด้านเครือข่ายสัญญาณ 5G ไปยังสถานพยาบาลในพื้นที่ต่างจังหวัดเพิ่มเติมอีกด้วย

นายแพทย์เขตต์ ศรีประทักษ์ ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์โรงพยาบาลโรคทรวงอก กล่าวถึงการนำหุ่นยนต์มาใช้งานในโรงพยาบาลว่า “หากสถานการณ์รุนแรงขึ้น หุ่นยนต์จะยิ่งมีประโยชน์อย่างยิ่ง เนื่องจากบุคลากรทางการแพทย์ เมื่อเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในกลุ่มผู้ป่วยเฝ้าระวังหรือติดเชื้อ จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัย, ชุดป้องกันเชื้อโรค ซึ่งอยู่ในภาวะขาดแคลน แต่หากนำหุ่นยนต์เข้ามาทดแทนการทำงาน เช่นในกรณีที่มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น มีวอร์ดสำหรับคนไข้ที่เป็นโรคติดต่อร้ายแรงอย่าง COVID19 แทนที่หมอหรือพยาบาลต้องเข้าไป ก็สามารถส่งหุ่นยนต์นี้เข้าไปแทนในส่วนที่ไม่จำเป็นต้องเข้าไปด้วยตัวเอง เช่น การวัดไข้, วัดความดัน, การส่งยาหรืออาหาร เป็นต้น นอกจากนี้ หุ่นยนต์ยังมีฟังก์ชั่น ระบบ VDO Conference ด้วยเทคโนโลยี 5G ยิ่งช่วยให้การติดต่อสื่อสารได้อย่างชัดเจนมากขึ้น

สำหรับคุณสมบัติเด่นในการใช้งานหุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ ในการติดตามอาการกลุ่มผู้ถูกเฝ้าระวังและดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้แก่

  1. ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างแพทย์ และกลุ่มผู้ถูกเฝ้าระวังหรือผู้ป่วย ได้สื่อสารโต้ตอบผ่านระบบ VDO Conference ด้วยภาพความละเอียดสูง ช่วยให้แพทย์สามารถคัดกรอง ประเมินความเสี่ยง ตลอดจน การวินิจฉัยโรคเบื้องต้นได้
  2. แพทย์ พยาบาล สามารถควบคุม สั่งการการทำงานของหุ่นยนต์ได้จากระยะไกล เช่น ติดตามอาการของผู้ถูกเฝ้าระวังผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยไม่ต้องเข้าไปสัมผัสกับผู้ถูกเฝ้าระวังด้วยตนเอง
  3. หุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์วัดและบันทึกสัญญาณชีพ (Vital sign) เช่น วัดความดัน, วัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG), วัดชีพจร, วัดอุณหภูมิ และส่งต่อข้อมูลไปยังแพทย์ เพื่อประเมิน ผลได้ทันที (ในส่วนของหุ่นยนต์ชุดแรกยังไม่ได้ติดเครื่องวัดสัญญาณชีพนี้ แต่ในรุ่นถัดไปจะมีการติดตั้งอุปกรณ์เหล่านี้แล้ว ตามความจำเป็น)

นับเป็นครั้งแรกของเมืองไทยในการพัฒนาหุ่นยนต์ เข้ามาช่วยลดอัตราความเสี่ยงในการติดตามเฝ้าระวังอาการระหว่างผู้ถูกเฝ้าระวังผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 กับบุคลากรทางการแพทย์ เช่น แพทย์ พยาบาล รวมถึง ล่ามภาษาจีน เนื่องจากในปัจจุบัน ยังต้องมีการเฝ้าระวังการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ทางการทดสอบเบื้องต้น ทำให้มั่นใจได้ว่าเทคโนโลยี 5G จะมีบทบาทสำคัญมากกับวงการแพทย์และการให้บริการทางการแพทย์อย่างแน่นอน