เจอวิกฤตมืดที่สุดอย่าท้อ “เจ้าสัวซีพี” แนะ เอาชีวิตรอดก่อน แสงสว่างจะมาเอง

เจอวิกฤตมืดที่สุดอย่าท้อ“เจ้าสัวซีพี” แนะ เอาชีวิตรอดก่อน แสงสว่างจะมาเอง

คุณธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ มหาเศรษฐีอันดับที่ 1 ของประเทศไทย จากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บส์ กล่าวตอนหนึ่งบนเวที เปิดตัวหนังสือ “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว” ซึ่งจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน ว่า ตนเห็นโอกาสของเซเว่นฯ แต่ไม่เห็นโอกาสของอาลีบาบา เพราะมันไม่มีตัวตน มองไม่เห็น เป็นภาพเล่าเฉยๆ ตนยังเป็นคนล้าสมัย ต้องเห็นของจริงก่อน ถ้าตอนนั้นไปลงทุนกับเขา ได้กำไรหลายร้อยเท่า แต่ยังไม่กล้า เพราะมองไม่ชัด คิดไม่ออกว่า จะสำเร็จได้ยังไง เพราะไม่มีทางเดิน แต่เขาเชื่อมั่นของเขา เขาเห็นว่าภูเขาเป็นทอง แต่เรามองไปคือต้นไม้ ดิน และหิน เหมือนกับ    เซเว่นฯ ตนเห็นแล้วทำสำเร็จที่สหรัฐอเมริกาเลยมาศึกษาที่ไทย เห็นชัดว่าสำเร็จ เชื่อว่าทำได้แน่นอน

ตนรู้จักสองพี่น้อง เจ้าของเซเว่นฯ ไปพูดตรงๆ กับเขาว่าสนใจ อยากมาลงทุนที่ไทย เชิญมาที่ไทยเลย ดูงานเสร็จ ก่อนกลับเขาเตือนว่าอย่าทำเลย ทำไม่ได้หรอก รายได้น้อยกว่าสหรัฐอเมริกาตั้ง 10 กว่าเท่า ไม่คุ้มที่จะลงทุน กำลังซื้อไม่พอ 1 คนเขามาซื้อ เท่ากับไทยต้องมาซื้อ 15 คน ถึงจะรวมเงินต่อบิลได้เท่ากับเขา แต่เขาลืมคิดว่า ต้นทุนเราถูกกว่า 10 กว่าเท่าเหมือนกัน พอเรามีค่าใช้จ่ายมากขึ้น 10 กว่าเท่า สองตัวนี้ก็เจ๊ากัน

“เรื่องยากๆ คนฉลาดไม่ทำหรอก คนฉลาดชอบเรื่องง่าย แต่ผมไม่ใช่ ต้องดูว่ายากที่สุดแล้วมีอนาคตมั้ย ถ้ามีธุรกิจนี้จะยิ่งใหญ่ แต่ถ้ายากแล้วไม่มีอนาคต ผมก็ไม่เอาเหมือนกัน” เจ้าสัวซีพี กล่าว

และว่า ธุรกิจเกษตรคือตัวอย่างที่ดี เช่น เลี้ยงไก่หมื่นตัว 50 กว่าปีก่อน ที่สหรัฐอเมริกาเลี้ยงไก่ได้คนละหมื่นตัว คนไทยเลี้ยงได้ 500 ตัว พอไปดูเขาเอาเด็กมหาวิทยาลัยมาเลี้ยง แล้วไทยเอาเกษตรกรมาเลี้ยงได้ยังไงไม่มีทาง เราต้องศึกษาดู เขาทำได้เราต้องทำได้ ไปเอาอาจารย์ เอาความรู้เขามา สุดท้ายเราก็รู้จริง ที่เขาสำเร็จเพราะมีทีมงาน เราก็มีทีมอยู่แล้วผมเลยทำสำเร็จ ไก่หนึ่งตัวไม่ต้องกำไร 20 บาทหรอก ตัวละ 3 บาทก็พอ ถ้าเลี้ยงหมื่นตัวได้ 30,000 บาท คนจนถึงจะมีโอกาสซื้อไก่ไปกิน มีโอกาสส่งออก เพราะต้นทุนถูกและคุณภาพสูง

“คนไม่เข้าใจตาสี-ตาสา จะไปใช้เทคโนโลยีระดับสูงได้ยังไง นี่เข้าใจผิด คนผลิตเทคโนโลยีนั้นยาก แต่คนใช้นั้นง่าย เช่น พันธ์ุไก่ จะมาคิดค้นพันธ์ุที่ เลี้ยง 8 อาทิตย์ได้กิโลครึ่งในยุค 50 ปีก่อนเป็นไปไม่ได้ แต่เราเอาไก่อันนี้มาเลี้ยง มีสถิติ คู่มือ สะสมเป็นสิบปี เอามาให้เรา ไม่ใช่เกษตรกรจะทำได้ทุกเรื่อง เรื่องยากๆ บริษัทใหญ่เป็นคนทำ เรื่องง่ายเกษตรกรเป็นคนทำ เช่น เลี้ยงไก่ 10,000 ตัว เกษตรกรไม่ต้องทำวัคซีน เรามีทีมงานเป็นคนทำ ก่อนทำต้องดูก่อนว่ายาหมดอายุหรือยัง เกษตรกรจับไก่ไม่ไหว เรามีผู้เชี่ยวชาญจับ รวดเร็ว ไก่ไม่ตื่น หลังจากนั้น 7 วัน เราจะเจาะเลือดไปตรวจดูว่ามีตั้งครรภ์ได้หรือยัง ถ้ายังทำซ้ำอีก ทำความสะอาดให้ด้วย เอาขี้ไก่ไปขายให้ด้วย เราส่งขายไปต่างประเทศ ขั้นตอนครบวงจร นี่เป็นหน้าที่เรา” คุณธนินท์ บอกอย่างนั้น

ก่อนบอกอีกว่า คนยังไม่เข้าใจทำไมซีพี ทำอาหารสัตว์ อาหารสัตว์ ก็คืออาหารคน เพราะต้องเอาไปเลี้ยงสัตว์ ทั้งกุ้ง ไก่ หมู เป็ด ไข่ไก่ คือ คนกิน ถ้ายังมีมนุษย์ธุรกิจนี้ก็ยังมีอยู่ เพียงแต่ต้องปรับให้ทันโลก ตอนนี้สนใจเรื่องอาหารสุขภาพ ผลิตมังสวิรัติใช้ถั่วอย่างอเมริกาทำ เราก็ทำได้ กำลังนำยีนมาทำเป็นเนื้อหมู เนื้อไก่ ต้นทุนสูงแต่เราก็ไม่ละเลย ลงไปศึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยี จับมือกับอเมริกาแล้วมาพัฒนาให้กลายเป็นเนื้อหมู ในเวลาเดียวกัน เราก็ยังมีนโยบายชัด ทำยังไงเลี้ยงหมูแล้วให้น้ำมันหมูเป็นโอเมก้า 3 เหมือนน้ำมันปลา กินแล้วเป็นประโยชน์กับมนุษย์ สำเร็จไปแล้ว 80 เปอร์เซ็นต์

“ไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไรก็มีความเสี่ยง อย่างสตาร์ตอัพ ไม่มีสูตรสำเร็จ ทำไป แก้ไป ขยายไป ลงเงินไป เสี่ยงแต่เราเห็นว่าทางนี้ถูกต้องแล้ว เจอภูเขา เจอเหว ก็คิดหาทางหลีกเลี่ยงไป ใครบอกว่าทำธุรกิจไม่มีความเสี่ยงอย่าทำเลย ซีพีเวลาทำใหญ่เสี่ยงและอันตราย แต่คิดแล้วว่า 70 เปอร์เซ็นต์ได้ อีก 30 เปอร์เซ็นต์มีโอกาสเสี่ยง ผมจะลงทุน ไม่มีอะไรที่ 100 เปอร์เซ็นต์ หรือ 50:50 ก็ไปเล่นการพนันแล้วกัน แต่ถ้าโครงการนั้นใหญ่มาก มีความเสี่ยงแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ ผมไม่เอา จะไปหาเรื่องทำไม อย่าเกินตัว” เจ้าสัวซีพี บอก

เมื่อถามถึงความล้มเหลวที่สุด มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของเมืองไทย บอก เคยเจอกับตัวมืดแปดด้าน ตรงนี้ก็มีปัญหา ตรงโน้นก็มีปัญหา วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง 2540 บริษัทที่มีหนี้ต่างประเทศไปเลย คิดว่านักธุรกิจคิดไม่ถึงว่ามันร้ายแรง รวมทั้งเขาด้วย เรื่องแรก แม้ว่ามีสัญญาธนาคารกู้แบงก์ต่างประเทศ 5 ปี ถ้าเจอวิกฤตเขามีสิทธิ์เอากลับทันที ต้องอ่านรายละเอียดให้ดี แต่แบงก์ไทยอะลุ่มอล่วยได้

เวลาเผชิญวิกฤต ต้องทำยังไง เจ้าสัวซีพี บอก บางวิกฤตตนไปเจราจากับพี่น้อง รับรองว่าธุรกิจเดิมของเรา เกษตรกรทั้งหลายไม่ล้มแน่นอน ส่วนธุรกิจใหม่ ให้เหลือตนคนเดียว ที่เหลือสบายใจได้เลย แต่ต้องเข้าใจว่าเรารักษาทุกอย่างไว้ไม่ได้ เราต้องทิ้งบางอย่าง รักษาที่สำคัญๆ ไว้ ถ้าไม่สำคัญ ไม่ดีก็ขายไม่ได้ เป็นบทเรียนว่า จะทำอะไรต้องเป็นธุรกิจที่โลกยอมรับ เป็นธุรกิจที่มีอนาคต ไม่งั้นถ้าเกิดวิกฤตให้ฟรีเขายังไม่เอาเลย

“วิกฤตเป็นโอกาสนะ มันคู่กัน ไปศึกษาให้ดี เป็นบทเรียนช่วยเพิ่มความรู้ ตอนที่รุ่งเรืองที่สุดต้องคิดว่าถ้ามันมืดขึ้นมา รับไหวมั้ย อย่าเหลิงว่ายิ่งใหญ่แล้ว ร่ำรวยแล้ว ถ้าไม่คิดไว้ก่อน อาจล้มละลายได้ ถ้าเจอวิกฤตแล้วมืดที่สุดอย่าท้อ เอาชีวิตรอดให้ได้ แสงสว่างจะมาเอง ระหว่างนี้เราต้องเตรียมตัวถ้าแสงสว่างมาจะทำอะไร อย่างอเมริกากับจีนมีปัญหากัน เป็นโอกาสกับไทยอย่างยิ่งเลย ถ้าไม่ฉวยโอกาส เขาก็ไปเวียดนาม อินโดนีเซีย กว่าจะดึงกลับมาได้หลายสิบปี” เจ้าสัวซีพี กล่าว

 

เผยแพร่ออนไลน์ครั้งแรก : ตุลาคม 2562