“แบงค์” ฝึกงานตั้งแต่อายุ 13! มาสาย-โดนอบรม ไม่เว้นแม้นามสกุล “ล่ำซำ”

“แบงค์” ฝึกงานตั้งแต่อายุ 13! มาสาย-โดนอบรม ไม่เว้นแม้นามสกุล “ล่ำซำ”

คุณแบงค์ – จรัสพงศ์ ลํ่าซำ  กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอลฟู้ด โซลูชันส์ จำกัด เป็นผู้ประกอบการธุรกิจด้านอาหาร และเป็น “บริษัทลูก” ของกิจการเทรดดิ้ง ระดับชาติอย่าง บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน)

คุณแบงค์ เป็นทายาทเจนฯ ที่ 4 แห่งตระกูล “ล่ำซำ” ในฐานะลูกชายคนเล็กของ เจ้าสัว “ธงชัย ล่ำซำ” ที่ปัจจุบันนั่งเก้าอี้ “บิ๊กบอส” แห่งล็อกซเล่ย์

คุณแบงค์ เรียนจบชั้นมัธยมฯ จากสาธิตจุฬาฯ ก่อนศึกษาต่อระดับปริญญาตรีและโท  ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

คุณแบงค์ – จรัสพงศ์ ลํ่าซำ

คุณแบงค์ บุคลิกอ่อนน้อม อัธยาศัยร่าเริง เป็นกันเอง เริ่มต้นบทสนทนา กับ “เส้นทางเศรษฐีออนไลน์”        ด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม ว่า เริ่มทำงานตั้งแต่อายุ 13  โดยคุณพ่อของเขาให้มาฝึกงานเป็น “ออฟฟิศ บอย”  ทำหน้าที่เหมือนเจ้าหน้าที่ธุรการ เดินเอกสาร ส่งเอกสาร ตอนแรกไม่เข้าใจ ทำไมต้องมาฝึกด้วย คนอื่นได้ไปเล่นกัน แต่เมื่อถูกสั่งให้มาก็มา

“ทุกปิดเทอมใหญ่ของชั้นมัธยมฯ จะมาฝึกงานอย่างน้อยหนึ่งเดือน  ทำหน้าที่ซีรอกซ์บ้าง  เดินเอกสารบ้าง  ให้ฝ่ายบุคคล  เป็นงานที่เริ่มจากระดับล่างสุด  ตอนนั้นยังงงๆ  เพราะอยากไปเดินเที่ยวสยามฯ กับเพื่อนมากกว่า” คุณแบงค์ ย้อนความทรงจำ ก่อนหัวเราะร่วน

ทั้งยังออกตัวยิ้มๆ ว่า

“ผมไม่ได้เกเรนะ มีบ้างติดเพื่อนตามวัย  มาฝึกงานเลยไม่ค่อยเต็มใจเท่าไหร่ แต่จำแม่นว่าได้ค่าแรงเยอะ วันละหนึ่งร้อยบาท ทั้งที่ตอนนั้นได้เงินไปโรงเรียนวันละ 70 บาทเอง”

ฝึกงานอยู่ฝ่ายบุคคลได้สองถึงสามรอบ จึงย้ายให้ไปฝึกงานฝ่ายเทรดดิ้ง แต่ทำหน้าที่ธุรการ เหมือนเดิม เพิ่มเติม คือ ประสบการณ์ใหม่ ที่คุณแบงค์ยังไม่ลืม

“มีครั้งหนึ่ง ตอนฝึกงานที่ฝ่ายเทรดดิ้ง ผมมาทำงานสาย เลยโดนเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคล เรียกไปอบรม เขาดุว่า น้องที่นี่…เข้างานแปดโมงนะ ไม่ใช่แปดโมงครึ่ง” คุณแบงค์ ย้อนอดีต ก่อนหัวเราะร่วน

และว่า เจ้าหน้าที่ท่านนั้น ทราบดีว่าตัวเขาเป็นลูกใคร แต่กฎก็คือกฎ ที่ต้องไม่เลือกปฏิบัติเฉพาะแค่กับบางคน แต่บางคนได้การยกเว้น

“เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้รู้ว่าต้องพัฒนาตัวเอง การทำอะไรไม่ถูกต้อง ไม่ได้เสียแค่ตัวเรา แต่เสียไปถึงคุณพ่อ เสียไปถึงครอบครัว ไม่ใช่เป็นลูกท่าน-หลานเธอ แล้วจะทำอะไรก็ได้  เลยปรับปรุงตัว ซึ่งก็มีมาสายอีก แต่ความถี่น้อยลงเยอะ” คุณแบงค์ เล่าก่อนยิ้มกว้าง อารมณ์ดี

ทายาท “บิ๊กบอส ล็อกซเลย์” คุยให้ฟังต่อว่า กว่าเขาจะได้ดูแลธุรกิจจริงจัง ก็หลังจากจบปริญญาโทแล้ว คือเมื่อราวปี 2550 ส่วนร้านบุฟเฟ่ต์ปิ้งย่าง สไตล์ญี่ปุ่น แบรนด์ วาคิว ยากินิคุ (WaQ Yakiniku) สาขาบนถนนพระราม 4 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจด้านอาหาร ของล็อกซเลย์  เขาเข้ามาเปิดเพิ่มเป็นสาขาที่สาม เมื่อ  2 ปี ก่อนหน้านี้

“วาคิว ยากินิคุ เปิดมา 9 ปีแล้ว  แต่ทำไมมีแค่ 3 สาขา หลายคนอาจสงสัย ที่จริงการทำธุรกิจด้านอาหารของ ล็อกซเลย์ เจออุปสรรคมาเยอะ ก่อนหน้านี้ เราเคยวางแนวคิดเปิดเป็น ไอ แจแปนนิส เป็นการนำมัลติแบรนด์ นำเข้ารวมกัน ภายใต้การจัดการเดียวกัน  เปิดบนทำเลเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ แต่สุดท้ายแนวคิดนี้ ไม่สามารถบริหารจัดการจนเลี้ยงตัวเองได้ จึงต้องปิดตัวไป นั่นทำให้เรียนรู้ว่า ถ้าคิดการใหญ่ ต้องพิจารณารอบคอบมากกว่านี้ และหันมามองตัวเองด้วยว่าพลาดตรงไหนบ้าง” คุณแบงค์ เผยตรงๆ

เมื่อแนวคิดแบบ “สเกลใหญ่ หลายแบรนด์” ไม่เวิร์กอย่างใจคิด นักธุรกิจรุ่นใหม่ อย่าง คุณแบงค์ จึงต้องปรับ กลยุทธ์อีกครั้งด้วยความละเอียดรอบคอบขึ้น

“ผมเปิดวาคิว ยากินิคุ สาขาสาม บนถนนพระรามสี่ เมื่อสองปีที่แล้ว แต่กว่าจะเติบโตได้ถึงวันนี้ ยอมรับว่าผ่านร้อนหนาวมาพอสมควร ช่วงแรกมีทีมเข้า-ออก ตลอดเวลา เลยต้องปรับกันใหม่หมด” คุณแบงค์ บอกอย่างนั้น

แม้โมเดลธุรกิจหลักของล็อกซเลย์ จะเป็นแบบ B2B คือ ขายสินค้าบริการให้ลูกค้าหน่วยงานหรือองค์กร แต่เมื่อมีความสนใจ หันมาใช้โมเดล B2C หรือขายสินค้าบริการให้กับผู้บริโภคทั่วไป บ้าง ผู้บริหาร เจนฯ 4 อย่าง คุณแบงค์ จึงประเมินว่า ร้านอาหารญี่ปุ่น สไตล์บุฟเฟ่ต์ ยังเป็นกระแส มีแนวโน้มเติบโตได้ดี ทั้งระยะสั้นและระยะยาว

“คนไทยส่วนใหญ่ ชอบร้านสไตล์บุฟเฟ่ต์  ซึ่งการทำร้านอาหารบุฟเฟ่ต์นั้น  หัวใจอยู่ที่การคุมค่าใช้จ่ายให้ได้ อย่างไรก็ตาม เราจะไม่ขยายร้านในรูปแบบของแฟรนไชส์ เพราะดูแลคุณภาพได้ค่อนข้างยาก และส่วนตัวมองว่า ระบบแฟรนไชส์ในเมืองไทย ไม่ค่อยราบรื่นเท่าไหร่” คุณแบงค์ มองอย่างนั้นถามถึงจุดขายของ วาคิว ยากินิคุ

เจ้าของธุรกิจท่านเดิม บอก คุณภาพของวัตถุดิบ และรสชาติ คุ้นลิ้นคนไทย รวมถึงความสามารถเฉพาะตัวของเชฟ ที่มีประสบการณ์ทำงานมานานกว่ายี่สิบปี สามารถคิดสูตรน้ำจิ้ม รสชาติไม่เหมือนใคร  หั่นเนื้อได้หลายรูปแบบ จนตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ครอบคลุม และทำเหมือนให้คนที่เรารักทาน  พอชอบเขาจะบอกต่อกันว่าราคาค่อนข้างคุ้มค่า

“หลายคนอาจคิดว่าทำร้านอาหารง่าย เลยเปิดกันเป็นดอกเห็ด แต่ให้อยู่รอดไม่ใช่เรื่องง่าย เจ้าใหม่ๆ เก่งๆ มีอยู่หลายคน” คุณแบงค์ บอกจริงจัง

ก่อนทิ้งท้าย แบบคนเคยเจ็บ

“ความยากของร้านอาหาร อยู่ที่ว่าจะทำยังไงให้คนมาซ้ำ ถ้าไม่มาอีก ก็…จบ”