ถึงเวลาคนไทยส่งออกขนม! ด้วย ‘แพ็กเกจจิ้งถนอมอาหาร’ นวัตกรรมสุดล้ำที่อินเดียยังใช้

ถึงเวลาคนไทยส่งออกขนม! ด้วย ‘แพ็กเกจจิ้งถนอมอาหาร’ นวัตกรรมสุดล้ำที่อินเดียยังใช้

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะได้เห็นทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง และสารพัดขนมหวานของไทย มีโอกาสส่งไปขายต่างประเทศได้เหมือน “อินเดีย” ดินแดนภารตะที่หลายคนมองข้าม แต่วันนี้สามารถส่งออกขนมหวานขึ้นชื่อข้ามน้ำข้ามทะเลไปหลายประเทศทั่วโลกได้สำเร็จ โดยที่ยังคงความอร่อยไม่เน่าเสีย สามารถวางขายอยู่ในอุณหภูมิปกติได้ไม่น้อยกว่า 3 เดือน ถึง 2 ปี

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากการพัฒนาแพ็กเกจจิ้งที่เรียกว่า Longevity Packaging หรือบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบคงรูป ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาจนสามารถรักษาคุณภาพของอาหารได้ยาวนาน โดยไม่ต้องอยู่ในตู้แช่ และคนสำคัญที่จะมาช่วยให้เราเข้าใจโลกของแพ็กเกจจิ้งมากขึ้นคือ คุณชัยวัฒน์ นันทิรุจ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท เอกา โกลบอล จำกัด

โปรไฟล์ไม่ธรรมดา เรียนจบปริญญาตรี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยทำงานอยู่ฝ่ายธนบดีธนกิจ ธนาคารไทยทนุ ก่อนหันมาช่วยธุรกิจครอบครัว บริษัทแป้งมันสำปะหลังชั้นนำของประเทศไทย

จากนั้นได้ร่วมทุนกับนักลงทุนจากออสเตรเลีย ตั้งโรงงานผลิตแม่พิมพ์พลาสติก ชื่อบริษัท ไทยออสโตร โมลด์ จำกัด เป็นจุดเริ่มต้นให้คุณชัยวัฒน์ก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมผลิตบรรจุภัณฑ์จากพลาสติกเต็มตัว

ธุรกิจดำเนินไปได้ดี จนในปี 2546 คุณชัยวัฒน์ ตั้ง บริษัท เอกา โกลบอล (Eka Global) จำกัด ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ถนอมอาหารชนิด Longevity Packaging รายแรกและรายเดียวในประเทศไทย ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์ชนิดพลาสติกขึ้นรูป ผลิตจากเม็ดพลาสติกใหม่ ที่มีคุณสมบัติพิเศษหลายประการ คือ มีน้ำหนักเบา สะอาด ปลอดภัย นิยมใช้สำหรับสินค้าประเภทอาหารพร้อมรับประทานและอาหารสัตว์

ต่อมา ในปี 2562 เอกา โกลบอล ได้เข้าซื้อกิจการ พริ้นท์แพค เอเชีย ทำให้บริษัทเป็นผู้ผลิตบรรณจุภัณฑ์ชนิด Longevity Packaging รายใหญ่ของโลก ซึ่งมีกำลังการผลิต 2,500 ล้านชิ้นต่อปี มีโรงงานในประเทศไทย ประเทศจีน และสำนักงานขายที่อินเดีย

“เราพัฒนาและวิจัยจนได้นวัตกรรมถนอมอาหารกันน้ำกันอากาศ ซึ่งช่วยเก็บรักษาอาหารที่บรรจุโดยผ่านการรีทอร์ต ซึ่งช่วยถนอมอาหารได้นาน 2 ปี และบรรจุภัณฑ์ของเรายังสามารถใช้ในการบรรจุด้วยระบบ Modified Atmosphere โดยการอัดก๊าซไนโตรเจน หรือคาร์บอนไดออกไซด์ ช่วยถนอมอาหารให้คงสภาพความสดใหม่ไว้ได้นาน 6 เดือนโดยไม่ต้องแช่เย็น ทันสมัย สะดวก สามารถเข้าไมโครเวฟได้ นวัตกรรมนี้ไม่ใช่แค่อาหารคน แต่อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ก็นำไปใช้เหมือนกัน”

เพราะแพ็กเกจจิ้งมีส่วนสำคัญในอุตสาหกรรมอาหาร และช่วยเอสเอ็มอีให้ก้าวไกลระดับโลก คุณชัยวัฒน์ เผยว่า หลังเข้าซื้อกิจการ พริ้นท์แพค เอเชีย ทำให้บริษัทสนใจทำตลาดเอสเอ็มอีมากขึ้น โดยได้เริ่มพัฒนาเอสเอ็มอีในประเทศอินเดียซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานบริษัทมาก่อนแล้ว

“ในประเทศอินเดียคนนิยมบริโภคของหวาน ใส่แป้ง น้ำตาล น้ำมัน คล้าย ทองหยิบ ฝอยทอง ขนมชั้น บ้านเรา มีอายุแค่ 3 วัน ขนมไทยเจ้าดังอร่อยแค่ไหนก็อยู่ได้ 3 วันเหมือนกัน ของไทยส่งมาขายตลาดหลักที่กรุงเทพฯ ได้ แต่ส่งไปเชียงใหม่ไม่ได้ขนมเสียก่อน ส่วนอินเดียไม่ต้องพูดถึงหนักกว่าไทย ไม่สามารถส่งออกได้ เพราะโลจิสติกส์ไม่มีประสิทธิภาพ ประเทศใหญ่ รถขนส่งติดแอร์ไม่ค่อยมี ค่าส่งสูง ถ้าจะทำอย่างนั้นได้ต้องเป็นเอสเอ็มอีรายใหญ่ แต่ถึงส่งได้ก็แค่ในเมืองใกล้เคียงไปตลาดอื่นไม่ได้ แต่เชื่อมั้ยว่าหลังอินเดียนำ Longevity Packaging ไปใช้ เขาสามารถยืดอายุขนมจาก 3 วันเป็น 3 เดือนได้โดยไม่ต้องแช่เย็น ส่งไปให้คนอินเดียที่อังกฤษทานได้สบายๆ จากเอสเอ็มอีบ้านๆ กลายเป็นแบรนด์อินเตอร์ไปเลย” คุณชัยวัฒน์ กล่าว

หากเอสเอ็มอีไทย อยากจะทำให้ได้แบบอินเดีย เอกา โกลบอล แนะว่า มีแค่เครื่องมือหลัก 3 ชนิด คือ 1. เครื่องซีล 2. เครื่องแก๊สอนาไลซิส 3. เครื่องมิกเซอร์แก๊ส ขนาดเริ่มต้นลงทุนประมาณ 800,000 บาท ตกตัวละ 300,000 กว่าบาท ส่วนเครื่องอนาไลซิสราคาประมาณ 100,000 กว่าบาท กำลังการผลิตประมาณ 5-6 ถาดต่อนาที หากผลิตสองกะจะมีกำลังการผลิตราวๆ หลักแสนใบต่อเดือน

“เอสเอ็มอีที่มียอดขายไม่มากสามารถทำได้ สิ่งสำคัญที่ผมมั่นใจหากเอสเอ็มอีลงทุนทำ เขาจะสามารถขยายตลาดไปต่างจังหวัด หรือไปต่างประเทศได้ และยังช่วยลดการสูญเสียหากขายไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเอสเอ็มอีขายของหวานพวกนี้ส่วนใหญ่กำไรเยอะ คนอินเดียยังงงว่าทำไมของหวานไทยอยู่ได้แค่ 3 วัน ถ้าทำได้คนไทยในต่างประเทศจะได้ทานขนมไทย ผมเลยอยากสนับสนุนเอสเอ็มอีไทยไปให้ไกลกว่านี้”

ไม่ใช่แค่ขนมที่ใช้นวัตกรรมนี้ได้ คุณชัยวัฒน์ เผยว่า ข้าวไทยก็เหมือนกัน ฝรั่งนำไปสร้างมูลค่าเป็นข้าวพร้อมทานส่งขายต่างประเทศ ในขณะที่ไทยยังใส่กระสอบชั่งกิโลขาย ถ้ายังไม่พัฒนา ชาวนาเดือดร้อนหนักแน่ ซึ่งสินค้าชนิดนี้เป็นที่ต้องการของคนไทยในต่างประเทศมาก

“สุดท้ายแล้วพลาสติกยังจำเป็นกับโลกใบนี้ เพราะมีข้อดีมากมาย ไม่ได้มีเพียงข้อเสีย สำคัญที่ว่าเมื่อใช้แล้วจะต้องมีการจัดการให้เป็นระบบ และมั่นใจว่าในอนาคตไทยจะมีเทคโนโลยีที่สามารถจัดการพลาสติกได้ สิ่งสำคัญเราต้องเริ่มแยกขยะตั้งแต่ต้นทางให้ได้เหมือนประเทศญี่ปุ่น จากนั้นขายเข้าโรงงานผ่านกระบวนการแปรรูป เมื่อมีมูลค่าจะไม่มีคนทิ้งพลาสติก” คุณชัยวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย