สำรวจ “แฟชั่นเสมือน” สวมใส่ในโลกดิจิตอล ไม่ใช่ในชีวิตจริง

สำรวจ “แฟชั่นเสมือน” สวมใส่ในโลกดิจิตอล ไม่ใช่ในชีวิตจริง

คุณจะยอมควักเงิน 9,500 ดอลลาร์ หรือราวๆ 287,000 บาท ซื้อเสื้อผ้าที่ถูกใจสักชุดไหม ถ้าชุดนั้นสวมใส่ได้เฉพาะโลกดิจิตอล ไม่ใช่ในชีวิตจริง

แต่ “ริชาร์ด หม่า” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทด้านการรักษาความปลอดภัย “ควอนต์แสตมป์” (Quantstamp) ในสหรัฐ ยอมจ่ายเงินจำนวนนี้ เพื่อซื้อชุดเสมือนจริงให้ภรรยา

“บีบีซี” รายงานว่า ชุดดังกล่าวออกแบบโดยบริษัทแฟชั่น “เดอะ แฟบริแคนต์” (The Fabricant) โดยทาบอยู่บนภาพของ “แมรี่ เหริน” ภรรยา และถูกนำไปใช้บนสื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก และวีแชต

เครดิตภาพจาก BBC

“หม่า” ยอมรับว่า ราคาขนาดนี้แพงมากจริงๆ ปกติเขาและภรรยาไม่ได้ซื้อเสื้อผ้าราคาแพงเป็นประจำ แต่ที่ซื้อชุดนี้เหมือนเป็นการลงทุน ที่น่าจะมีคุณค่าในระยะยาว

“ในอีก 10 ปี ผู้คนอาจจะสวมใส่แฟชั่นดิจิตอลกัน นี่เป็นช่วงเวลาที่พิเศษ เป็นสัญลักษณ์ของยุคสมัย” หม่า กล่าว

เดอะ แฟบริแคนต์ ออกเสื้อผ้าดิจิตอลใหม่ๆ แจกผ่านเว็บไซต์ของตัวเองทุกๆ เดือน ซึ่งคนที่สนใจจะต้องมีทักษะและซอฟต์แวร์ในการนำเสื้อผ้าเสมือนเหล่านี้ไปใส่ไว้บนรูปของตัวเอง

ส่วนอีกบริษัทที่ปิ๊งไอเดียออกแบบชุดเสมือน แต่ทำเงินได้ในโลกแห่งความจริง คือ “คาร์ลิงส์” (Carlings) บริษัทแฟชั่นจากสแกนดิเนเวีย ซึ่งมีสาขากว่า 200 แห่ง กระจายในนอร์เวย์ ฟินแลนด์ และสวีเดน

เครดิตภาพจาก Carlings

คาร์ลิงส์เปิดตัวเสื้อผ้าคอลเล็กชั่นสตรีตแวร์แบบดิจิตอล ราคาประมาณ 11 ดอลลาร์ หรือ 330 บาท เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2561 และขายหมดในเวลาเพียง 1 เดือน

หลายคนอาจจะสงสัยว่า เสื้อผ้าดิจิตอลขายหมดได้อย่างไร เพราะคอลเล็กชั่นดิจิตอลจะผลิตมากแค่ไหนก็ได้ ซึ่ง “รอนนี มิคัลเซน” ผู้อำนวยการฝ่ายแบรนด์ของคาร์ลิงส์ อธิบายว่า บริษัทใช้วิธีกำหนดจำนวนผลิตภัณฑ์ที่จะผลิต เพื่อให้มีความพิเศษมากขึ้น

ข้อดีของแฟชั่นเสมือนจริง ทำให้บรรดาดีไซเนอร์สามารถสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างเต็มที่ จะอลังการงานสร้างแค่ไหนก็ได้ ไร้ข้อจำกัดในเรื่องของความเป็นไปได้ที่จะสวมใส่ในชีวิตจริง

เพราะคงไม่มีใครซื้อเสื้อยืดสีขาวธรรมดาในเวอร์ชั่นดิจิตอล เนื่องจากไม่มีอะไรที่จะเอาไปอวดคนอื่น แฟชั่นเสมือนจึงต้องเป็นเสื้อผ้าที่ทำให้รู้สึกอยากอวด หรือไม่กล้าซื้อในโลกความจริง หรือไม่มีเงินมากพอที่จะซื้อมาครอบครอง

คาร์ลิงส์เคยออกคอลเล็กชั่นดิจิตอลเพื่อช่วยทำการตลาดผลิตภัณฑ์ที่วางขายในโลกจริงๆ แต่บริษัทมองเห็นโอกาส ทำให้เกิดแนวคิดจำหน่ายแฟชั่นดิจิตอลขึ้นมา

นอกจากนี้ คาร์ลิงส์ยังหันมาเน้นแฟชั่นเสมือนบนแพลตฟอร์ม “อินสตาแกรม” โดยใช้เทคโนโลยี Augmented Reality (AR) หรือความจริงเสริม ในการนำสภาพแวดล้อมจริงกับวัตถุเสมือนให้รวมเข้าด้วยกัน

“ฟอร์บส์” ระบุว่า คาร์ลิงส์จับมือกับ “เวอร์ชู” (Virtue) บริษัทสร้างสรรค์โฆษณา ผุดคอลเล็กชั่นเสื้อผ้าเสมือนที่มีชื่อว่า “ลาสต์ สเตตเมนต์” (Last Statement) สนนราคา 44 ดอลลาร์ หรือราวๆ 1,330 บาท

โดยแฟนๆ ของแบรนด์คาร์ลิงส์สามารถเข้าไปยังบัญชีอินสตาแกรมของบริษัท แล้วเลือกฟิลเตอร์ จากนั้นก็เลือกลายเสื้อที่มีหลากหลายดีไซน์ และนำโทรศัพท์มือถือส่องไปบนเสื้อสีพื้นที่สวมอยู่ เทคโนโลยี AR ก็จะช่วยให้ลายเสื้อจากคอลเล็กชั่นลาสต์ สเตตเมนต์ ไปปรากฏบนเสื้อที่เราสวม

เมื่อได้ลายถูกใจ ก็สามารถอัพโหลดภาพ และอวดเพื่อนๆ บนโซเชียลมีเดีย ได้

“มอร์เทน กรูบัก” ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายสร้างสรรค์ของ “เวอร์ชู นอร์ดิก” ระบุกับ CNBC ว่า คอลเล็กชั่นเสื้อผ้าเสมือน “ลาสต์ สเตตเมนต์” ได้แรงบันดาลใจมาจากอุตสาหกรรมเกม และเกมที่ผู้เล่นสามารถปรับแต่งตัวละครในเกมได้

เครดิตภาพจาก Carlings

จริงๆ การใช้เทคโนโลยี AR มาช่วยส่งเสริมการขายเริ่มมีก่อนหน้านี้แล้ว แบรนด์แฟชั่นบางรายใช้ความไฮเทคนี้ เพื่อให้ลูกค้าได้ลองสินค้าแบบเสมือนจริง ทั้งเสื้อผ้า รองเท้า เครื่องประดับ จะได้เห็นว่าสวมใส่แล้วเป็นอย่างไร ก่อนจะตัดสินใจซื้อ

ยกตัวอย่าง “ไนกี้” แบรนด์เครื่องกีฬารายใหญ่ ก็เปิดตัวเครื่องมือ AR เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สำหรับวัดไซซ์รองเท้า และลองสวมแบบเสมือนจริง

เครดิตภาพจาก Carlings

เครื่องมือดังกล่าวตอบโจทย์ความต้องการช็อปรองเท้าออนไลน์ ที่มักทำได้ยาก เหตุผลหลักๆ เป็นเพราะลูกค้าไม่ได้เห็นว่าสวมรองเท้าแล้วออกมาเป็นอย่างไร ไซซ์พอดีหรือเปล่า เลยไม่แน่ใจที่จะสั่งซื้อสินค้า

โลกมาถึงจุดที่ผู้คนยอมจ่ายเงินสำหรับสิ่งของที่ไม่มีอยู่จริง สะท้อนถึงบทบาทของโซเชียลมีเดียที่เพิ่มขึ้นมากในปัจจุบัน และนี่ก็อาจสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับคนที่มองเห็น