ผู้เขียน | เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
นักกิจการเพื่อสังคม ชี้ “ผู้พ้นโทษ” มีทั้งดี-เลว การให้โอกาส พิจารณาเป็นรายคน
ผู้พ้นโทษ – ไม่กี่วันที่ผ่านมา โจรปล้นทอง เป็นเรื่องที่มีการพูดถึงเป็นอย่างมากในสังคม ผู้คนต่างตั้งคำถามว่า ผู้ก่อเหตุเป็นใคร มีมูลเหตุจูงใจอะไรในการก่อคดี? และหากย้อนกลับไปเมื่อปลายปี 2562 ก็เกิดเหตุสะเทือนขวัญ ที่นักโทษแหกคุกออกมา ก่อนลงมือก่อเหตุฆาตกรรม จนกลายเป็นข่าวมาแล้วหลายศพ
สังคมต่างก็ตั้งคำถามว่า บุคคลเหล่านี้ แม้จะปฏิบัติตัวดีจนสามารถพ้นโทษออกมาใช้ชีวิตข้างนอกได้ แต่สมควรได้รับโอกาสในการเริ่นต้นใหม่จริงๆ หรือ? เพราะทัศนคติของบุคคลทั่วไป มักมองบุคคลพ้นโทษเหล่านี้ในด้านลบ อีกทั้งปัญหาของคนที่ออกมาจากเรือนจำ ก็ไม่ค่อยจะมีหน่วยงานไหนรับเข้าไปทำงาน ซึ่งกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้กลับมาทำผิดอีก กลายเป็นวงจรไม่จบไม่สิ้น
“เส้นทางเศรษฐีออนไลน์” ได้สอบถามไปยัง คุณหญิง – ปทุมรัตน์ อินทรพงษ์ หนึ่งในผู้ดำเนินงานโครงการ “โอกาส” โครงการกิจการเพื่อสังคม ที่คอยจัดหางาน ให้อดีตผู้ต้องขังซึ่งพ้นโทษออกมาแล้ว เธอได้ให้สัมภาษณ์ว่า ปัจจุบัน ทางโครงการมีการช่วยเหลือและมีผู้พ้นโทษสมัครเข้ามาทั้งหมด 80 คน นับตั้งแต่เริ่มทำโครงการมา
เธอกล่าวว่า สังคมมักมีทัศนคติสำหรับผู้พ้นโทษไปในทางที่ไม่ค่อยดีอยู่แล้ว ยิ่งมีข่าวอาชญากรรมออกมาบ่อยแบบนี้ ก็ยิ่งทำให้ถูกมองไม่ดีเข้าไปใหญ่ว่า กลุ่มคนพ้นโทษเป็นกลุ่มคนที่ไม่สามารถไว้ใจได้ ซึ่งคนพ้นโทษทุกคนไม่ใช่ว่าจะกลับตัวกลับใจไม่ได้ หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้คนกลุ่มนี้ถูกมองในแง่ลบ คือการนำเสนอข่าวของสื่อ เพราะในการนำเสนอข่าวด้านดีๆ ของผู้พ้นโทษ สื่อไม่ได้ทำข่าวลงลึกอย่างละเอียด เหมือนข่าวด้านที่ไม่ดี
เช่นกรณีของสมคิด ฆาตกรต่อเนื่อง สื่อมีการขุดประวัติออกมาหมดเลยว่าก่อคดีมาแล้วกี่ครั้ง วันไหน ปีไหนบ้าง ติดคุกกี่ปี แต่ในขณะที่ข่าวด้านดีๆ ของผู้พ้นโทษ เช่นว่า เขาติดคุกมากี่ปี มีการอบรม หรือเขาปรับปรุงตัวอะไรมาบ้าง จนสามารถออกมาใช้ชีวิตข้างนอกได้อีกครั้ง
“จริงๆ แล้วมีผู้พ้นโทษเข้ามาหาเราเรื่อยๆ นะคะ เขาพยายามปรับตัว แก้ไขสิ่งที่เคยทำผิดพลาด แต่แค่ไม่ได้ออกสื่อเยอะเหมือนกรณีที่เกิดเรื่องไม่ดีเท่านั้นเอง คนปกติเราเองก็ไม่อาจรู้ได้ว่าเขาจะทำความผิดอะไรเมื่อไหร่ ผู้พ้นโทษเองก็ไม่ได้อยากทำความผิดเช่นกัน แต่เงื่อนไขชีวิต สังคม การเลี้ยงดู หล่อหลอมให้เขากลายเป็นคนแบบนั้น สิ่งที่จะทำให้เขาดีขึ้นคือทุกคนควรมีส่วนช่วยให้เขาเป็นคนที่ดีขึ้น ทั้งครอบครัว เพื่อนฝูง คนรอบข้าง ถ้าถามว่าจริงๆ แล้วควรให้โอกาสไหม เราก็ต้องมีการพิจารณาเป็นรายคนไป กฎหมายควรต้องมีความเข้มแข็งเพื่อให้คนที่กำลังจะกระทำผิดได้เกรงกลัว กับข่าวต่างๆ ที่เกิดขึ้น ก็ไม่ได้ทำให้เราทำงานยากขึ้นแต่อย่างใด เพราะบริษัทที่เป็นนายจ้างพันธมิตรกับเรา เขาเข้าใจและเปิดกว้าง”