เปิดเส้นทางชีวิต ผอ.สวนกุหลาบ “เด็กบ้านนอกยากจน มาได้ขนาดนี้ ถือว่าที่สุดแล้ว”

เปิดเส้นทางชีวิต ผอ.สวนกุหลาบ “เด็กบ้านนอกยากจน มาได้ขนาดนี้ ถือว่าที่สุดแล้ว”

เส้นทางชีวิตของแต่ละคน เหมือนถนนที่แตกต่างกัน บางคนคดเคี้ยว บางคนผ่าตรง บางคนขรุขระ บางคนราบเรียบ แต่ทุกชีวิตล้วนมุ่งสู่จุดหมายเดียวกัน คือ ความสำเร็จ

คุณจิณณภัทร พิบูลวิทิตธำรง ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนชายล้วนเก่าแก่และมีชื่อเสียงระดับประเทศ  คือ หนึ่งในคนที่ได้ชื่อว่าประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน ซึ่งแน่นอนว่า เขาไม่ได้มาเพราะโชคช่วย หรือนามสกุลที่ใหญ่โต แต่เขามาเพราะการวางแผนชีวิต มองจังหวะ โอกาส และความเป็นไปได้ ทำให้มีวันนี้

คุณจิณณภัทร ปัจจุบันอายุ 56 ปี ย้อนความทรงจำให้ฟัง พื้นเพเป็นชาว อ.บางบาล  จ.พระนครศรีอยุธยา หลังจากเรียนจบ ชั้น ป.4  แล้วไปต่อชั้น ป.5-ป.7 ที่โรงเรียนวัดจุฬามณี (ชุนหจันทร์ประชาสรรค์) ต.บ้านกุ่ม อ.บางบาล สมัยที่ครูทองหยด ทองอ่อน เป็นครูใหญ่ ซึ่งการเดินทางสมัยนั้นไม่ได้สะดวก ต้องออกจากบ้านแต่เช้า เพื่อเดินไปโรงเรียนระยะทาง 3 กิโลเมตร และไปต่อเรือจ้างตรงหัวแง่ ไปขึ้นที่ท่าน้ำวัดจุฬามณี และเดินต่อไปอีก 1 กิโลเมตรกว่าจะถึงโรงเรียน เป็นแบบนี้ทุกวัน ช่วงนั้นเริ่มทำถนนเป็นดิน ถ้าวันไหนขี่จักรยานเจอฝน ทางจะเละจนต้องแบกจักรยานกลับบ้าน เป็นที่ทุลักทุเล และในฤดูน้ำหลาก ซึ่งเป็นปกติของ อ.บางบาล เพื่อนรุ่นพี่ชื่อพรชัย อยู่บ้านใหม่ มักพายเรือมารับและช่วยกันพายไปและกลับโรงเรียนทุกวันจนสิ้นฤดูน้ำหลาก นับเป็นความยากลำบากที่เจอในวัยเยาว์ แต่แฝงไปด้วยความสนุกสนาน

จบจากโรงเรียนวัดจุฬามณี มาเรียนต่อที่โรงเรียนบางบาล ระดับชั้น มศ.1-มศ.3  (สมัย ผอ.ประกอบ เนคมานุรักษ์) ยังทันได้เรียนตึกเก่าที่ติดกับโรงเรียนวัดโบสถ์ และได้เล่นฟุตบอลทีมโรงเรียน ไปแข่งกับโรงเรียนประจำอำเภอของหลาย ๆ อำเภอ เช่น บางปะหัน ท่าเรือ มหาราช บ้านแพรก ฯลฯ และอีกสิ่งที่ประทับใจ คือ ครูสุวรรณ ทับทิมเจือ ครูดนตรีที่ทำให้ตัวเขามีเครื่องดนตรีประจำตัว คือ “ขลุ่ย” และเหตุผลเดียวที่เลือกเครื่องดนตรีชนิดนี้ คือ ราคาถูก เพราะโรงเรียนมีนโยบายให้เด็กนักเรียนโรงเรียนบางบาลทุกคนต้องเล่นดนตรีเป็นอย่างน้อย 1 อย่างและต้องนำมาเอง

“ตอนนั้นเราซ้อมกันเป็นวง แล้วครูสุวรรณ พาออกงาน มีทั้งงานบวช งานแต่ง งานมงคลต่างๆ มีเพื่อนคนหนึ่งสีซอได้เก่งมากคือ สาธิต ไกรญานสม และยังมี บุญเสี่ยง  เกสร  วินัย วิไลลักษณ์  เล่นปี่พาทย์ และอีกหลายคน ได้ค่าตอบแทนครั้งละ 100 บาท” ผอ.จิณณภัทร ย้อนความหลัง แววตาเป็นประกาย

หลังจากจบจากโรงเรียนบางบาล ผอ.จิณณภัทร ได้ไปศึกษาต่อ มศ.4 – มศ.5 ที่โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย แผนการเรียนวิทย์-คณิต จากนั้นไปต่อ ปกศ.สูงอีก 2 ปี ที่วิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยา เอกพลศึกษา เหตุผลที่เลือกเรียนพละ เพราะได้รับคำแนะนำในวันที่ไปสมัครเรียนจากอาจารย์ใหญ่จำลอง สมจิตร์ เห็นโอกาสที่จะสอบติดครูได้ง่ายกว่าเอกอื่น และตัวเองก็ชอบพลศึกษาเป็นทุนเดิม

เมื่อเรียนจบก็เลือกที่จะสอบบรรจุเป็นครูประถมศึกษาที่ จ.บุรีรัมย์ เนื่องจากประกาศรับมากที่สุดถึง 70 กว่าตำแหน่ง มีผู้สมัครเลือกสอบประมาณหนึ่งหมื่นสองพันคน  ปรากฏว่าสอบได้ลำดับที่ 7 สามารถเลือกไปอยู่ที่โรงเรียนบ้านหนองติ้ว อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ ที่เลือกโรงเรียนนี้เพราะติดถนนใหญ่สายบุรีรัมย์-พุทไธสงค์ เดินทางสะดวก

สมัยนั้นโรงเรียนยังไม่มีไฟฟ้าใช้ มีอาคารเรียน 1 หลัง โรงฝึกงาน 1 หลังและห้องสมุดเป็นเพิงอยู่กับดินชั้นเดียว ไม่มีบ้านพักครู เลยขออนุญาตครูใหญ่ ขอใช้ห้องสมุดเป็นที่นอน เช้ามาเก็บที่นอนให้เด็กไปใช้ห้องสมุด เป็นอย่างนั้นประมาณครึ่งปี ก่อนจะย้ายไปอยู่บ้านพักครูที่ตัวอำเภอคูเมือง โดยอาศัยกับครูอีกท่าน โดยฝากท้องกับเขามื้อเช้าและมื้อเย็นจ่ายเป็นรายเดือน เงินเดือนในขณะนั้น 2,205 บาท จำเป็นต้องใช้จ่ายอย่างประหยัด ที่โรงเรียนบ้านหนองติ้วไม่มีไฟฟ้า น้ำก็หายาก แม้จะมีถังเก็บน้ำฝนใหญ่อยู่ 3 ถัง แต่ไม่เพียงพอ จึงต้องไปตักน้ำในทุ่งนา ห่างไกลจากตัวโรงเรียนซึ่งเป็นที่ดอนมาตุนไว้ สำหรับใช้และอาบ

และแล้วก็มาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ คือ คิดที่จะเรียนต่อให้จบปริญญาตรี เนื่องจากจะเป็นสะพานเชื่อมไปสู่การเติบโตในหน้าที่การงาน จึงไปสมัครเรียน มสธ. แต่ไม่ทัน เนื่องจากปิดการจำหน่ายใบสมัครไปแล้ว แต่จะด้วยความบังเอิญหรือโชคดีก็ตาม เมื่อครูรุ่นพี่ที่โรงเรียน ซื้อใบสมัครวิชาเอกบริหารการศึกษา ของ มสธ.ไว้แล้วตัดสินใจไม่เรียน จึงเอาใบสมัครมาให้ ผอ.จิณณภัทร จึงได้สมัครเรียนเอกบริหารการศึกษา และจบการศึกษาเมื่อปี 2530

คุณจิณณภัทร พิบูลวิทิตธำรง ผู้อำนวยการโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

ชีวิตเปลี่ยนอีกครั้ง เมื่อเขตการศึกษา 6 ของกรมสามัญศึกษา เปิดสอบผู้ช่วยผู้อำนวยการ เลยลองไปสอบปรากฏว่าติดสำรองอันดับ 10 สมัยนั้นพอติดสำรอง จากบัญชีเขตก็มารวมเป็นบัญชีภาคแล้วนำคะแนนผู้สอบมาเรียงตามลำดับ ปรากฏว่าเขต 6 คะแนนสูงกว่าทุกเขต ผอ.จิณณภัทร จึงได้อยู่ในลำดับ 10 ของบัญชีภาค พอมาเลือกโรงเรียน คนลำดับที่ 1-9  เขาเลือกโรงเรียนที่อยู่ในเขต 6 หมดเลย เขาเลยป็นคนแรกที่ต้องออกนอกเขต จึงตัดสินใจเลือกกรุงเทพฯ

“ตอนนั้นคิดแค่ว่าอนาคตมีลูกจะได้พามาเรียน  เมื่อต้องเลือกก็ไม่รู้เลยว่าโรงเรียนไหนอยู่ตรงไหน พอดีไปเจอ ผอ.สมจิต ปราณีโชติรส  ผอ.โรงเรียนวิเศษไชยชาญ “ตันติวิทยาภูมิ” ท่านพาครูในโรงเรียนท่านมาเลือกโรงเรียนด้วย เลยแนะนำให้เราไปโรงเรียนนนทรีวิทยา แถวคลองเตย เนื่องจากเดินทางสะดวก ขึ้นทางด่วนไปกลับอยุธยาได้สบาย พอดีช่วงนั้นโรงเรียนกำลังทำ ISO  14001 เพื่อจัดการสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน ก็เลยได้มีการโอกาสเข้าไปทำ โชคดีว่ามีการวางระบบไว้หมดแล้ว เราเพียงเดินตามระบบ ทำให้งานประสบความสำเร็จได้อย่างดี และเราก็ได้เรียนรู้หลักการจัดการ ISO 14001 อีกด้วย ทำหน้าที่อยู่ได้ 4 ปี ก็ย้ายไปที่โรงเรียนเจ้าพระยาวิทยาคม เขตยานนาวา” ผอ.จิณณภัทร เผยให้ฟัง

และว่า ต่อมา สพท.1 กทม. เปิดสอบตำแหน่งผู้อำนวยการ เลยไปสอบติดลำดับที่ 5 และเลือกลงบรรจุเป็นผู้อำนวยการที่โรงเรียนสุวรรณสุทธารามวิทยา (ปัจจุบัน คือ โยธินบูรณะ 2) เขตบางซื่อ  เป็นโรงเรียนแรก จากนั้นได้ย้ายไปที่โรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง โรงเรียนนนทรีวิทยา โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า และโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนชายล้วน อันดับ 1 ของประเทศไทย

การจะมาถึงโรงเรียนในฝันของผู้บริหารสถานศึกษาส่วนใหญ่ แน่นอนว่าการได้มาไม่ใช่เพราะโชคช่วย หรือนามสกุลดังอย่างแน่นอน ซึ่งเรื่องนี้ ผอ.จิณณภัทร บอกว่า เป็นจังหวะชีวิตมากกว่าเพราะช่วงเขียนย้าย มีโรงเรียนว่างในเขตหนึ่ง หลายโรงเรียน ทั้งเตรียมอุดมศึกษา สามเสนวิทยาลัย สตรีวิทยา เทพศิรินทร์ และสวนกุหลาบวิทยาลัย แต่ด้วยคุณสมบัติของเรา ก็ถือเป็นสิ่งท้าทาย จึงเสนอตัวเข้ามาเป็นผู้อำนวยการและได้รับโอกาสเข้ามาบริหาร

เมื่อถามว่า  สิ่งที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ถึงจุดสูงสุดของชีวิตหรือยัง ผอ.จิณณภัทร บอก เป็นกำไรชีวิตแล้ว จากเด็กบ้านนอกฐานะยากจน มาได้ขนาดนี้ถือว่าที่สุดแล้ว

ถามทิ้งท้าย ความสำเร็จวันนี้เกิดจากอะไร ผอ.จิณณภัทร  บอก เขาทำงานเพื่อเด็ก เพื่อสังคม แบบไม่คิดว่าจะต้องได้อะไรตอบแทน ทำเต็มที่ เต็มศักยภาพที่มี ทุกโรงเรียนที่ได้มีโอกาสไปอยู่ เขาใช้ประสบการณ์ในการบริหาร ประสานองค์กรที่เข้มแข็ง หากต้องพึ่งพาด้านวิชาการที่ไหน ต้องให้การยอมรับว่าพวกท่านเหล่านั้น เป็นผู้รู้ที่ต้องให้เกียรติ อ่อนน้อมถ่อมตน จากนั้นถึงจะได้รับความช่วยเหลืออย่างเต็มที่และเต็มใจในที่สุด