ผู้เขียน | สาโรจน์ มณีรัตน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
กลับตัวสู้เศรษฐกิจ! ปี 2563 น่าจะเป็นอีกหนึ่งปี ที่ต้องใช้ชีวิตไม่ประมาท
หากเป็นมนุษย์ปุถุชนธรรมดาทั่วไป เชื่อว่าเมื่อชีวิตก้าวเดินข้ามปีเมื่อไหร่ หลายคนคงนั่งทบทวนตัวเองว่าตลอดปีผ่านมาเราทำอะไรดีๆ ให้กับชีวิตตัวเองบ้าง
ไม่บางครั้งก็อาจตั้งคำถาม ถามตัวเองว่า…เราทำอะไรผิดพลาดไปบ้าง
เพื่อจะได้นำมาปรับปรุงตัวเองในปีถัดไป โดยไม่ให้ความผิดพลาดเกิดขึ้นซ้ำอีก เพราะบางทีความผิดพลาดก็เป็นบทเรียนให้เราระวังตัวมากขึ้น
ยิ่งในสภาวะเช่นนี้ด้วย
หากเกิดความผิดพลาดในการบริหารจัดการกับชีวิต เผลอๆ บางทีอาจโงหัวขึ้นมาลำบาก เพราะฉะนั้น จึงต้องรักษาจังหวะในการก้าวเดินของตัวเองให้ดี
ยิ่งเฉพาะกับผู้ที่ใช้ชีวิตเสี่ยงทั้งปวง
เช่นเดียวกัน หากเป็นผู้ประกอบการธุรกิจทั้งหลาย โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีทั้งระบบ คงต้องยอมรับความจริงว่าทุกๆ มาตรการที่ภาครัฐออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ ปรากฏว่าเม็ดเงินสะวิงกลับไปที่ผู้ประกอบการรายย่อยน้อยมาก
ส่วนใหญ่ไปอยู่กับใครก็คงอย่างที่พวกเราทราบๆ กัน
ฉะนั้น ทางออกของเรื่องนี้จึงต้องหันกลับมาดูที่ตัวเองว่าเราจะนำพาธุรกิจเล็กๆ ของเราพึ่งพาภาครัฐดีหรือไม่ เพราะภาครัฐเองก็ไม่ได้ช่วยเหลืออะไรเราเท่าที่ควร
เราควรช่วยตัวเองดีกว่า
แต่การช่วยเหลือตัวเองในสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ถือว่าเหนื่อยพอสมควร เหนื่อยทั้งการปักธงการทำธุรกิจใหม่ เหนื่อยทั้งการทำธุรกิจที่แตกต่างจากธุรกิจเดิมๆ
เหนื่อยทั้งการหาแหล่งเงินทุน
และเหนื่อยทั้งการหาลูกค้าที่จะมาซื้อสินค้าของเรา
เพราะเกือบทุกคนแทบจะกลายเป็นพ่อค้า-แม่ค้าไปหมดแล้ว และไม่เฉพาะแต่พ่อค้า-แม่ค้าที่ทำมาหากินในแบบเดิมๆ หากธุรกิจออนไลน์ก็ทำท่าว่าจะเหนื่อยเหมือนกัน
ยิ่งเมื่อภาครัฐทำท่าว่าจะจัดเก็บภาษีออนไลน์ในปี 2563 นี้ด้วย ผมจึงคิดไม่ออกเลยว่าเรื่องแบบนี้จะออกหัวออกก้อยอย่างไร
เพราะอย่างที่ทราบ พ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์เคยชินกับการเก็บเม็ดเงินเข้ากระเป๋าโดยไม่เสียภาษีมานานแล้ว และถ้าเขาจะต้องเสียภาษีจริง ผมไม่รู้ว่าเขาจะแสดงรายได้ให้กรมสรรพากรทราบตัวเลขจริงๆ หรือเปล่า
เนื่องจากคนเราเคยชินกับการใช้ของฟรีมายาวนาน นานจนคิดว่าถ้าจะต้องนำรายได้ส่วนหนึ่งไปหักภาษีเพื่อเข้ากระเป๋าภาครัฐ แล้วเขาจะเหลือเงินสักเท่าไหร่
เนื่องจากต้นทุนการผลิต ต้นทุนการตลาดเขามีตัวเลขอยู่ระดับหนึ่ง ดังนั้น ถ้าจะต้องหักเงินส่วนหนึ่งให้ภาครัฐ เขาก็อาจจะไปเพิ่มราคาสินค้ากับผู้บริโภคได้
ภาระจึงตกอยู่กับผู้บริโภคในที่สุด
ซึ่งถือเป็นผู้บริโภคกลุ่มหนึ่งในหลายๆ กลุ่มที่มีอยู่ทุกเซ็กเมนต์ของตลาด ขณะที่ผู้บริโภคบางกลุ่มก็เป็นกลุ่มคนเดิมๆ ที่บริโภคสินค้าข้ามไปข้ามมาระหว่างเซ็กเมนต์เหล่านั้น
ประเภทหัวก็ใช้ ผิวก็ใช้ ท้องก็อิ่มจากสินค้ายี่ห้อเดียวกัน เพียงแต่แตกต่างแค่ประเภทสินค้าเท่านั้นเอง
ผมจึงค่อนข้างเชื่อว่าเศรษฐกิจปี 2563 น่าจะเป็นอีก 1 ปี ที่เราๆ ทุกคนคงต้องใช้ชีวิตไม่ประมาท เพราะเราเห็นแล้วว่าตลอดปี 2562 นับจากมีรัฐบาลใหม่กลับไม่ได้ช่วยประชาชนในเรื่องปากท้องเลย
มองไปทางไหนประชาชนตาดำๆ ก็ยังท้องแฟบ
หันไปทำอะไรก็มีแต่คนขายของ แต่ไม่ค่อยจะมีคนซื้อ
เงินเดือนหลายบริษัทก็ไม่ปรับ
โบนัสก็ไม่มี หรือมีก็น้อยเต็มที
จนทำให้บางบริษัทต่างอิจฉาบริษัทต่างๆ ที่ปรับเงินเดือนให้กับพนักงาน หรือแจกโบนัสกันอู้ฟู่ แต่พอหันมามองตัวเอง และมองไปที่ร้านค้าในห้างสรรพสินค้าชั้นนำต่างๆ ต่างลดกระหน่ำราคาสินค้าเพื่อยั่วลูกค้า ปรากฏว่าเราเป็นได้แค่ผู้มอง
ผู้สังเกตการณ์
ครั้นจะเข้าไปดูก็เกิดกิเลส
ที่สุดจึงได้แต่ชำเลืองหางตามอง ถ้าผม, ฉันปรับเงินเดือนกับเขาบ้าง หรือมีโบนัสอู้ฟู่กับเขาบ้าง ผม, ฉันจะมาช็อปปิ้งให้จุใจเลย
แต่ผมก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ (ฮา)
ผลเช่นนี้ เมื่อหันกลับมามองผู้ประกอบการรายย่อยที่ต่างพยายามปรับตัวเพื่อตั้งรับกับสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ พวกเขาก็เปรยให้ผมฟังว่า…ตอนนี้ทำ 2 อาชีพยังไม่พอเลี้ยงครอบครัว
ต้องทำสามสี่อาชีพขึ้นไป
ผมถามเขาว่า…ทำอย่างไร
“ต้องมีเงินเดือนประจำก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อจะได้มีเงินหมุนเวียนภายในครอบครัว จากนั้นก็ให้ภรรยาขายสินค้าออนไลน์ โดยเริ่มจากของที่มีอยู่ในบ้านก่อน เพื่อจะได้มีทุนรอนสำหรับซื้อสินค้าอื่นๆ มาขายต่อไป ส่วนเสาร์-อาทิตย์ ผมก็ไปขับแกร็บคาร์ และอย่างที่สี่ที่เริ่มคิดคือทำอาหารออนไลน์”
ผมถามเขาต่อว่า…ทำอย่างไร
“ก็ภรรยาผม, เขามีฝีมือการทำอาหาร ผมก็กะว่าจะคัดสรรเมนูที่เธอทำอร่อยที่สุดสัก 3-4 อย่าง โปรโมตทางออนไลน์ โดยเริ่มจากขายคนใกล้ชิดก่อน เพื่ออยากให้เขาได้ทานกับข้าวอร่อยๆ แล้วถ้าสำเร็จค่อยขยายต่อไปยังครอบครัวอื่นๆ แต่จะทำไม่กี่เมนูเท่านั้น พูดง่ายๆ คือคัดสรรเมนูเด็ดเฉพาะครอบครัวมาขายกันเลย”
ผมฟังแล้ว…เออ..เข้าท่าดี
จนทำให้คิดว่าสมัยนี้เราไม่จำเป็นจะต้องลงทุนเปิดร้านอาหารอะไรให้ยุ่งยากอีกต่อไป เราแค่นำเสนอของอร่อยประจำครอบครัว ตระกูล หรือประจำตำบล อำเภอ จังหวัดก็ได้ บางทีก็อาจมีลูกค้าอยากชิม
บางคนลงทุนถึงกับเปิดบ้านให้ลูกค้ามารับประทานที่บ้านเลยก็มี
แต่รับเพียงจำนวนจำกัด
โดยเฉพาะถ้าบ้านใครมีเอกลักษณ์สไตล์ที่ไม่เหมือนใคร และมีเมนูประจำตระกูลของตัวเอง ผมว่าน่าจะลองนำเคล็ด(ไม่)ลับนี้ไปเสนอขายกันบ้างก็คงจะดี
สำคัญอย่างเดียวต้องอร่อยจริง
ราคาไม่แพงมาก
บรรยากาศต้องเยี่ยม
และมีความเป็นส่วนตัวจริงๆ
ผมว่าการปรับตัวสู่โหมดต่างๆ เหล่านี้ก็น่าจะนำมาปรับใช้ได้กับสภาพเศรษฐกิจแบบนี้นะครับ
คงต้องลองซะแล้ว?