5 เทรนด์ต้องรู้! ปี 2020 ผู้บริโภคปลื้มอะไร ผู้ประกอบการจะได้ปรับตัวทัน

5 เทรนด์ต้องรู้! ปี 2020 ผู้บริโภคปลื้มอะไร ผู้ประกอบการจะได้ปรับตัวทัน

เข้าสู่ปีใหม่ 2020 แล้ว มาดูเทรนด์ร้อนที่ต้องจับตามองในปีนี้ จะได้รู้ว่าผู้บริโภคกำลังสนใจอะไร สินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ควรไปในทิศทางไหน เว็บไซต์เทรนด์วอตชิ่งดอตคอม ระบุว่า ปี 2020 มี 5 เทรนด์ที่มาแรง เริ่มจาก

  1. รักษ์โลกเข้มข้นขึ้นอีกขั้น โดยเปลี่ยนจากการเป็นแค่ทางเลือกที่จะใส่ใจสิ่งแวดล้อม ไปเป็นการนำเสนอผลิตภัณฑ์ บริการ และประสบการณ์ที่ช่วยให้ผู้บริโภคหลายล้านคนไม่ต้องรู้สึกละอายกับการมีส่วนทำร้ายโลก (eco-shame) เพราะทุกวันนี้การบริโภคที่คำนึงถึงโลกเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ง่ายและแพร่หลายขึ้นมาก เมื่อเทียบกับสมัยก่อนที่มักหายากและราคาแพง ยกตัวอย่าง รองเท้า “อาดิดาส” ที่จับมือกับองค์กร “พาร์ลีย์ ฟอร์ ดิ โอเชียนส์” ผลิตรองเท้ากีฬารุ่นลิมิเต็ดเอดิชั่น ที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิล แรกๆ ก็มีแค่ 50 คู่ ก่อนจะผลิตเพิ่มเป็น 11 ล้านคู่ในปีที่แล้ว นั่นทำให้การเข้าร่วมกระแสรักษ์โลกไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว แต่แบรนด์จะต้องช่วยเตือนผู้บริโภคให้รู้สึกละอายที่จะทำร้ายโลก สายการบิน KLM ของเนเธอร์แลนด์ เป็นตัวอย่างของเทรนด์นี้ ผ่านแคมเปญบินอย่างมีความรับผิดชอบ โดยตั้งคำถามว่าคุณจำเป็นต้องเดินทางไหม และถ้าจำเป็นจะเดินทางด้วยรถไฟที่กระทบต่อโลกน้อยกว่าได้ไหม

อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ รีสอร์ต “อาร์กติก บลู” ของบริษัทจากฟินแลนด์ ที่โฟกัสการท่องเที่ยวแบบคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม โดยอัตราค่าที่พักจะถูกหรือแพงขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของแขก ถ้าใช้ไฟฟ้าน้อยและเลือกอาหารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ก็จะได้ส่วนลดที่อาจมากถึง 50 เปอร์เซ็นต์ รีสอร์ตแห่งนี้มีแผนจะเปิดให้บริการในปี 2022

เครดิตภาพจาก https://www.bizjournals.com

  1. อวตารตัวตนบนโลกออนไลน์ อย่างที่รู้กันดีว่าบรรดาผู้ทรงอิทธิพลบนโลกโซเชียล หรืออินฟลูเอนเซอร์ มีส่วนกระตุ้นให้ผู้บริโภคควักกระเป๋าจ่ายเงินซื้อสินค้าได้มหาศาล แต่ตอนนี้ไม่ใช่มีแค่อินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นมนุษย์เท่านั้น เน็ตไอดอลเสมือนจริงที่สร้างจากคอมพิวเตอร์ก็มียอดผู้ติดตามหลักล้าน

นี่สะท้อนว่า ผู้บริโภคจะให้ความสนใจแบรนด์ที่สร้างตัวตนเสมือนขึ้นมาในโลกออนไลน์ และทำให้ใช้งานได้ตอบโจทย์ขึ้น

ยกตัวอย่าง แบรนด์ SK-II ที่สร้างสรรค์ “ยูมิ” แบรนด์แอมบาสซาเดอร์เวอร์ชั่นเสมือนจริง โดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเคลื่อนไหวได้อัตโนมัติ รวมถึงโต้ตอบและพัฒนาบุคลิกส่วนตัวได้เอง ไม่ต้องมีมนุษย์ควบคุม ซึ่งยูมิจะมีหน้าที่ตอบคำถามต่างๆ พร้อมให้คำแนะนำเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของ SK-II และแนะนำวิธีดูแลผิวพรรณ ที่สำคัญ เธอสามารถพูดได้หลายภาษา ทั้งญี่ปุ่น อังกฤษ และจีน

 

  1. ปรับเปลี่ยนให้ตอบโจทย์รายบุคคล เพราะทุกวันนี้ ผู้บริโภคอยู่ในยุคที่มีความสะดวกสบายขั้นสุด ทำให้คาดหวังเพิ่มไปว่าบริการและประสบการณ์ที่ได้จะปรับเปลี่ยนได้ตามความจำเป็นของแต่ละคน

เทคโนโลยีทันสมัยต่างๆ ทั้งการจดจำใบหน้า เซ็นเซอร์ และอุปกรณ์อัจฉริยะทั้งหลาย ช่วยเปลี่ยนสิ่งต่างๆ ให้ตอบโจทย์แต่ละคนได้ ภาคธุรกิจทั่วโลกก็เริ่มหันมานำเสนอประสบการณ์ให้ลูกค้าแบบเป็นส่วนตัวและเรียลไทม์

“ชิเซโด้” จากญี่ปุ่น คิดค้นบริการดูแลผิว ชื่อว่า Optune ที่ปรับเปลี่ยนตามผู้ใช้ในแต่ละวัน ซึ่งผู้ใช้จะถ่ายภาพเซลฟี่ผ่านแอพพลิเคชั่น จากนั้นระบบจะประมวลผลสภาพผิว และประเมินปัจจัยแวดล้อมต่างๆ เช่น อุณหภูมิและความชื้น รวมถึงข้อมูลการนอน ก่อนจะส่งข้อมูลสำหรับผสมครีมดูแลผิวที่เหมาะสำหรับลูกค้าคนนั้นโดยเฉพาะ

เครดิตภาพจาก https://dornob.com

อีกตัวอย่าง คือ ค่ายรถยนต์ “เกีย” ของเกาหลีใต้ ที่เปิดตัวรถยนต์แนวคิดใหม่ สามารถปรับเปลี่ยนการขับขี่ตามอารมณ์ได้ โดยใช้เทคโนโลยี AI ในการวิเคราะห์อารมณ์ของผู้ขับขี่ผ่านอัตราการเต้นของหัวใจและการแสดงสีหน้า จากนั้นระบบจะปรับแสง เสียง อุณหภูมิ และเบาะนั่ง ช่วยให้ผู้ขับขี่รู้สึกผ่อนคลาย

 

  1. เยียวยาภาวะหมดไฟในการทำงาน ผู้บริโภคคาดหวังให้แบรนด์ช่วยฉุดขึ้นมาจากสารพัดความกดดันจากไลฟ์สไตล์สมัยใหม่ โดยเฉพาะความเครียดจากงานที่ทำให้บางคนรู้สึกหมดไฟ กระทบต่อสุขภาพกายและใจ

Thriva บริษัทด้านสุขภาพของอังกฤษ เปิดตัวชุดทดสอบความเครียด โดยใช้น้ำลายในการวัดระดับคอร์ติซอล ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ตอบสนองต่อความเครียด บริการตรวจระดับคอร์ติซอลที่เก็บตัวอย่างน้ำลาย 4 ครั้ง ใน 1 วัน มีสนนราคาราว 79 ปอนด์ (ราว 3,160 บาท) และผลตรวจจะแล้วเสร็จภายใน 48 ชั่วโมง

ส่วน “ไมโครซอฟต์ เจแปน” นำร่องส่งเสริมให้ชีวิตพนักงานสมดุลมากขึ้น ด้วยนโยบายทำงาน 4 วัน ต่อสัปดาห์ โดยได้รับเงินเดือนตามปกติ ออฟฟิศจะหยุดในวันศุกร์ และการประชุมถูกจำกัดเวลาเหลือแค่ 30 นาที เพื่อพนักงานจะได้มีเวลาทำงานอาสาสมัคร หรืออยู่กับครอบครัวมากขึ้น และพบว่ายอดขายของบริษัทเพิ่มขึ้น 40 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับปีก่อน

เครดิตภาพจาก https://techcrunch.com

  1. สื่อพลเมือง เพื่อสร้างการเชื่อมโยงในสังคมให้นำไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น ไม่ใช่เต็มไปด้วยพฤติกรรมแย่ๆ หรือเป็นพิษ เหมือนที่เห็นดาษดื่นบนสื่อสังคมออนไลน์

สตาร์ตอัพ “Quilt” เปิดตัวแอพพลิเคชั่นที่ช่วยให้ผู้หญิงได้จัดงานพบปะกันนอกบ้าน เพื่อแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ตั้งแต่เงินทอง การระดมทุน ความรัก ปัญหาเสพติดสื่อสังคมออนไลน์ โดยพวกเธอจะต้องจ่ายเงินซื้อตั๋วเข้าร่วมงานราวๆ 12-30 ดอลลาร์ (ราว 365-910 บาท)

อีกตัวอย่าง คือ The Night Feed แอพพลิเคชั่นสัญชาติอังกฤษ ที่ตั้งใจช่วยแบ่งเบาคุณแม่มือใหม่ โดยรวบรวมข้อมูลและการใช้งานที่เป็นประโยชน์ ทั้งการจัดตารางให้นม บทสัมภาษณ์พยาบาลผดุงครรภ์ กุมารแพทย์ คำแนะนำเกี่ยวกับชุดให้นมลูก หนังสือต่างๆ