ธุรกิจ Food Delivery โตก้าวกระโดด ส่งผลปัญหาขยะซับซ้อน-รุนแรง ยิ่งขึ้น

ธุรกิจ Food Delivery โตก้าวกระโดด ส่งผลปัญหาขยะซับซ้อน-รุนแรง ยิ่งขึ้น

จากการแถลงข่าว เรื่อง “สถานการณ์ปริมาณขยะอันเนื่องมาจากการใช้บริการ Food Delivery Service    และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับนโยบายของจังหวัดภูเก็ต” รศ.ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต กล่าวตอนหนึ่งว่า สภาพเศรษฐกิจ สังคม และการแข่งขันในปัจจุบันได้ทำให้วิถีชีวิตและพฤติกรรมของคนในสังคมหลายๆ ด้านมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม รวมไปถึงพฤติกรรมการทานอาหารด้วย ที่แต่เดิมสาหรับคนที่ไม่ได้ปรุงอาหารทานเองที่บ้านจะมีการทานที่ร้านอาหาร แต่ปัจจุบัน ได้เกิดธุรกิจให้บริการอาหารแนวใหม่ ในโมเดลธุรกิจที่เรียกว่า B2B2C หรือ Business to Business to Customer ซึ่งให้ผู้ประกอบการเข้ามาอยู่บน platform ของผู้คิดค้นการบริการ โดยในส่วนของธุรกิจอาหารได้เกิดการให้บริการการส่งอาหารถึงที่ (Food delivery service) ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ หรือพื้นที่จังหวัดที่ประชาชนดำรงชีวิตอยู่อย่างแข่งขันและรีบเร่ง อย่างไรก็ตาม การเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วของธุรกิจลักษณะดังกล่าวนั้น หลายฝ่ายยอมรับว่า ส่งผลให้เกิดปัญหาตามมา คือ การเพิ่มขึ้นของขยะ ซึ่งแต่เดิมถือเป็นปัญหาใหญ่และแก้ยากอยู่แล้วให้ซับซ้อนและรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก

รศ.ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต

รศ.ดร.พันธ์ กล่าวต่อว่า  ซึ่งในส่วนเฉพาะของจังหวัดภูเก็ต นั้นในรอบไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ธุรกิจ Food delivery service มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยจากการสำรวจของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ในช่วงระหว่างวันที่ 19-22 ต.ค.ที่ผ่านมา พบว่า มีผู้ประกอบการที่ให้บริการ Food delivery service ในจังหวัดภูเก็ต จำนวน 3 ราย มีผู้ทำหน้าที่ในการรับส่งให้บริการดังกล่าวมากกว่า 2,850 คน มีร้านที่เข้าร่วมโครงการมากกว่า 1,000 ร้าน และเมื่อวิเคราะห์ปัญหาขยะและบรรจุภัณฑ์ที่เกิดจากการให้บริการ Food delivery service ได้ผลที่น่าสนใจ ดังนี้

หนึ่ง กรณีสั่งอาหารกล่อง

พบ จำนวนชิ้นของกล่องบรรจุอาหารที่เกิดจากบริการ Food delivery service ประกอบด้วย  กล่องกระดาษ 26.17% กล่องพลาสติก 25.68% กล่องโฟม 48.15% และ จำนวนขยะช้อนพลาสติกที่เกิดจากการบริการ Food delivery service คือ รับช้อน 37.14% และ ไม่รับช้อน 68.86%

สอง กรณีสั่งเครื่องดื่ม

พบ แก้วพลาสติก 100% และ แก้วกระดาษหรือแก้วย่อยสลายได้ พบ 0%

จากข้อมูลดังกล่าว ทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต จึงสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหาและข้อเสนอแนะ โดยไม่กระทบพฤติกรรมผู้บริโภค แบ่งเป็นข้อๆ ดังนี้

  1. ให้ทางจังหวัดขอความร่วมมือผู้ประกอบการร้านอาหาร และผู้ให้บริการ Food delivery service ให้ใช้บรรจุภัณฑ์และอุปกรณ์ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  2. รณรงค์ให้ผู้ใช้บริการลดการใช้อุปกรณ์บางอย่างที่ไม่จำเป็น เช่น กรณีช้อนพลาสติกโดยใช้ช้อนที่บ้านหรือมีช้อนส่วนตัวติดตัวแทน หรือกรณีหลอดดูดพลาสติกให้ใช้หลอดกระดาษแทนหรือดื่มจากแก้วโดยตรง
  3. รณรงค์ให้ไม่ใช้บริการร้านค้าที่ยังใช้บรรจุและอุปกรณ์ที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  4. จังหวัดประกาศนโยบายและปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมให้ชัดเจน เช่น ภูเก็ตเป็นจังหวัดปลอดโฟม และใครก็ตามที่มีการฝ่าฝืนให้มีมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่ง

สำหรับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต นับเป็นหนึ่งในสถาบันอุดมศึกษาในจังหวัดภูเก็ต ที่ให้ความสำคัญและตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม มีการวางยุทธศาสตร์การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green Campus) บูรณาการการอนุรักษ์ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมเข้าไปในการเรียนการสอน การวิจัย และในทุกกิจกรรมของมหาวิทยาลัย อาทิ ม.อ.ภูเก็ตปลอดโฟม 100% โครงการธนาคารขยะ การเปิดปิดแอร์เป็นเวลาที่กำหนด และงดใช้บรรจุภัณฑ์โฟม ถุงพลาสติก แก้วน้ำ ช้อน ส้อม และหลอดพลาสติก ซี่งสอดคล้องกับนโยบายจังหวัดภูเก็ต และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นอกจากนี้ ในปี 2562 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต จะเข้าร่วมกลุ่ม มหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University) คือการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สุดในโลก (UI Green Metric World University Ranking ) จัดอันดับโดยมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย (University of Indonesia) โดยมีมหาวิทยาลัยจากทั่วโลกเข้าร่วมกว่า 360 มหาวิทยาลัย จาก 61 ประเทศทั่วโลก

ขณะที่ จังหวัดภูเก็ต นั้น นับเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวระดับโลก มีนโยบายการขับเคลื่อนแผนแม่บทการท่องเที่ยวยั่งยืน และรับผิดชอบต่อสังคม ว่าด้วยการลดและงดการใช้โฟม ถุงพลาสติก และอุปกรณ์ที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การดำเนินงานของภาครัฐและเอกชนของในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ภายใต้การกำกับดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคธุรกิจค้าปลีก และภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การออกระเบียบ มาตรการ หรือข้อกำหนดให้ร้านค้า และประชาชน รณรงค์อย่างจริงจังในการงดใช้โฟมบรรจุอาหาร งดใช้บริการหลอดพลาสติก พร้อมเปลี่ยนเป็นวัสดุธรรมชาติ หรือวัสดุทดแทนที่ไม่สร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม