เจ้าสัวซีพี บอกทางรอด! “อยู่ในวิกฤตอย่าตาย มืดที่สุดอย่าท้อใจ แสงสว่างจะมา”

เจ้าสัวซีพี บอกทางรอด! “อยู่ในวิกฤตอย่าตาย มืดที่สุดอย่าท้อใจ แสงสว่างจะมา”

ต้องยอมรับว่าทุกครั้งที่ “ธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) คิด พูด หรือทำอะไรออกมา มักจะต้องมีนักธุรกิจ และผู้ที่อยู่ในแวดวงต่างๆ “เงี่ย” หูฟังเป็นจำนวนมาก

เพราะสิ่งที่ “ธนินท์” แสดงออก ล้วนเป็นประสบการณ์ตรงของชายปัจฉิมวัย 80 ปี ที่ผ่านการทำงานอย่างหนักมาชั่วชีวิต

ที่สำคัญ ทุกๆ ธุรกิจที่เขาทำ ล้วนประสบความสำเร็จทั้งสิ้น

แม้เขาจะยอมรับว่ากว่าธุรกิจหนึ่งๆ จะประสบความสำเร็จ จนทำให้ทุกคนเห็น ยอมรับ และชื่นชม แทบไม่มีใครรู้เบื้องหลังเลยว่า…ความสำเร็จเหล่านั้น ล้วนมีความลำบากซ่อนอยู่มากมาย

คนเราไม่ชอบพูดถึงความลำบาก

คนเราชอบมองความสำเร็จ

และคนเราก็ชอบที่จะชื่นชมกับความสำเร็จ

แต่สำหรับ “ธนินท์” กลับไม่คิดเช่นนั้น เพราะเขาเชื่อว่า…ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว

“พรุ่งนี้ต้องทำงานต่อ”

ฉะนั้น ทุกคนสามารถชื่นชมกับความสำเร็จได้ ฉลองกับความสำเร็จได้ แต่อย่านาน เพราะโลกธุรกิจวันนี้ มีคนเก่งพร้อมก้าวขึ้นมาแทนคุณอยู่เสมอ

“ถึงวันนี้ ใครๆ จะบอกว่าผมประสบความสำเร็จแล้ว แต่สำหรับผม วันนี้สำเร็จ พรุ่งนี้อาจล้มเหลวก็ได้”

คำพูดดังกล่าวเป็นบทความบางส่วนจากหนังสือ “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว” ที่มี “คริสมาส ศุภทนต์” เป็นบรรณาธิการ และมี “สุธาสินี เตชะรุ่งเรืองกิจ” เป็นผู้เรียบเรียง

ผ่านมาหนังสือเล่มนี้เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเรียบร้อยแล้ว

แต่กระนั้น ยังมีผู้คนกล่าวถึงคำพูดต่างๆ ที่ “ธนินท์” เล่าให้ฟังบนเวที จนมีหลายคนนำมาเป็นคัมภีร์ความสำเร็จให้กับตัวเอง

โดยเฉพาะกับคำว่าเมื่อเจอวิกฤตอย่าท้อถอย

ความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ

ผู้นำต้องทำงานเป็นทีม

และทำงานต้องเหมือนไปเที่ยว

สำหรับเรื่องเมื่อเจอวิกฤตอย่าท้อถอย “ธนินท์” เล่าบอกว่า…หากเจอวิกฤต มืดที่สุด อย่าท้อใจ แสงสว่างจะมา ถ้าผ่านไปได้ พอฟื้นจากวิกฤตสังคม เศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงจะเอื้อให้ทำธุรกิจต่อ ทำทุกอย่างจะถูกหมด

“แต่ตอนอยู่ในวิกฤตต้องอย่าตาย ต้องเอาชีวิตรอดให้ได้ จึงจะมีโอกาสได้คืน เพราะมีประสบการณ์ มีความรู้แล้ว เสียค่าเล่าเรียนแล้ว วิกฤตตามมาด้วยโอกาส โอกาสก็จะตามมาด้วยวิกฤต อันนี้คู่กัน”

ขณะที่ความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ “ธนินท์” กลับมองว่า…การทำธุรกิจไม่มีอะไรไม่เสี่ยง นักธุรกิจต้องเสี่ยง ไม่มีสูตรสำเร็จรูป ทำไปก็แก้ไป แต่เป้าหมายต้องชัด คิดหาวิธีหลีกเลี่ยง

“ซีพีถ้าเสี่ยง 30 : 70 ผมเสี่ยง แต่ถ้าโครงการใหญ่มาก ขนาดที่มีโอกาสทำให้ซีพีล้มละลาย แม้ว่าเสี่ยงแค่ 10 ก็ไม่ทำ อย่าเล่นอะไรที่เกินตัว เพราะถ้าเสี่ยงแล้วมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุ เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ทุกเมื่อ ยิ่งทำใหญ่ ยิ่งเสี่ยงสูง ถ้าทำใหญ่เกินความสามารถจะล้มละลายได้ อย่าเข้าใจผิดว่าบริษัทใหญ่จะไม่ล้มละลาย”

“ฉะนั้น นโยบายของเครือซีพีคือเสี่ยงได้ แต่ต้องไม่ให้ล้มละลาย อะไรเสี่ยงเกินตัวจะไม่ทำ ยกตัวอย่างเรื่องรถไฟความเร็วสูง เสี่ยง แต่มีโอกาสสำเร็จ แต่รัฐบาลต้องมาร่วมรับผิดชอบด้วยกันกับเอกชน ถ้าเสี่ยงก็ต้องเสี่ยงด้วยกัน เป็นคู่ชีวิตกัน ล่มก็ต้องล่มด้วยกัน ไม่ใช่เอกชนเสี่ยง แต่รัฐบาลไม่เสี่ยง เรื่องนี้เป็นเรื่องยิ่งใหญ่ของประเทศชาติ”

ซึ่งฟังแล้วเชื่อว่าทุกคนคงเห็นภาพไปในทางเดียวกัน

ขณะที่เรื่องผู้นำต้องทำงานเป็นทีม “ธนินท์” ก็มีมุมมองน่าสนใจเช่นกันว่า…ปัจจุบันซีพีมีพนักงานทั่วโลกกว่า 300,000 คน ต้องมีหัวหน้าทีม และผนึกกำลังกัน ช่วยเหลือกัน สิ่งที่ดีที่สุดในการพัฒนาคนคือให้เขาลงมือทำ ให้อำนาจ ให้เขาคิดเอง ทำเอง เราเพียงให้ข้อเสนอแนะ อย่าไปชี้นำ

“ถ้าทำผิด เสียหาย ให้โอกาสทำต่อ เพราะถือว่าการทำผิด เป็นค่าเล่าเรียน ถ้าเขาไม่ได้มีโอกาสแสดง คนก็ไม่รู้ว่าเขามีความสามารถแค่ไหน ตามด้วยเกียรติคือให้ตำแหน่ง และสุดท้ายคือการให้เงินเขาไปลงทุน เหมือนกับที่เรากำลังลงทุนกับสตาร์ตอัพขณะนี้”

แม้วันนี้ยังไม่สำเร็จ

แต่สำหรับ “ธนินท์” เชื่อว่า…อีกไม่นานพวกเขาจะประสบความสำเร็จ

ขอเพียงให้เขาลองผิดลองถูกอย่างจริงจัง

หัดที่จะเรียนรู้ข้อผิดพลาด

และนำข้อผิดพลาดเหล่านั้นมาแก้ไข สักวันเขาจะมองเห็นโอกาสในความผิดพลาดเหล่านั้นเอง

ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่ “ธนินท์” ในปัจฉิมวัยที่ 80 ปี จึงมีความสุขต่อการทำงานอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนั้นเพราะเขาคิดว่าการทำงานคือการไปเที่ยว

“ผมคิดว่าการไปทำงานเป็นการไปเที่ยว ต้องอย่าคิดว่าไปทำงาน ให้คิดว่าเป็นเรื่องเล่นเกม คิดว่าไปเที่ยว ไปสนุกคือถ้าไปเที่ยวจริงๆ มันไม่เกิดอะไร แต่ถ้ามาทำงานแล้วคิดว่าไปเที่ยว จะเกิดผลประโยชน์ และถ้าเจอปัญหาให้คิดว่าเป็นอาหารสมอง”

“เรื่องอุปสรรค และปัญหาถือเป็นอาหาร 3 มื้อของนักธุรกิจ ผมไปออฟฟิศเป็นความสุข ผมว่าเราต้องเปลี่ยนแปลง ยิ่งโลกเปลี่ยนแปลง ปัญหามาแน่นอน อะไรที่เรากลุ้มใจก็ให้คนอื่นไปกลุ้มใจแทน เดี๋ยวนี้งานส่วนใหญ่มีคนเก่งทำอยู่แล้ว รับผิดชอบอยู่แล้ว”

“ส่วนผมทำเรื่องใหม่ เรื่องใช้เงิน การเปลี่ยนแปลงต้องใช้เงินคือศูนย์ผู้นำ ผมบอกเพื่อนร่วมงานว่าเราลงทุนเหมือนโรงงาน โรงงานเห็นโปรดักต์ ส่วนศูนย์ผู้นำไม่เห็นเป็นตัว แต่ได้สร้างคนเก่ง สร้างผู้นำเก่ง ซึ่งประเมินมูลค่าไม่ได้ ธุรกิจยุค 4.0 กำลังเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ บริษัทใหญ่ล้มละลายได้ ถ้าไม่เปลี่ยนแปลง อย่างอาลีบาบา 18 ปี แซงบริษัท 100 ปียังได้”

สิ่งเหล่านี้คือผลของการเปลี่ยนแปลง

และสิ่งเหล่านี้คือผลจากการทำงานให้เหมือนกับการไปเที่ยว

เพราะนอกจากจะไม่เป็นการกดดันตัวเอง

ยังเป็นการเข้าไปเรียนรู้ผู้คนทุกซอกทุกมุม

จนทำให้เราเข้าใจ “ทีมงาน” อย่างบังเอิญ

ที่ไม่เฉพาะแต่เรื่องธุรกิจเพียงอย่างเดียว

บางทียังทำให้เราเข้าใจ “เพื่อนร่วมงาน” มากขึ้นด้วย

ซึ่งเหมือนกับ “ธนินท์ เจียรวนนท์” ในวันนี้

ในวันที่เขาเชื่อว่า…ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว และความล้มเหลว ก็เสียใจแค่วันเดียวเช่นกัน

 

หมายเหตุ-ข้อมูลบางส่วนอ้างอิงจากหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 10 – วันอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคม 2562