ขายอาหาร “ไม่มีหน้าร้าน” ต้นทุนต่ำ ไม่ปวดหัวกับคนงาน แถมไม่เสี่ยงเจ๊ง

ขายอาหาร “ไม่มีหน้าร้าน” ต้นทุนต่ำ ไม่ปวดหัวกับคนงาน แถมไม่เสี่ยงเจ๊ง

ทุกวันนี้ ผู้คนหันมาพึ่งบริการสั่งอาหารแบบดีลิเวอรี่มากขึ้น เพราะโทรศัพท์มือถือที่ช่วยให้การสั่งอาหารจากร้านต่างๆ สะดวกสบาย แถมไม่ต้องเผชิญปัญหารถติดที่นับวันจะสาหัสขึ้นเรื่อยๆ

กระแสดีลิเวอรี่อาหารได้รับความนิยมทั่วโลก ข้อมูลจากบริษัทวิจัยตลาด “สเตติสตา” ประเมินว่า ปัจจุบัน ตลาดดีลิเวอรี่อาหารผ่านระบบออนไลน์ทั่วโลกมีมูลค่าราว 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์ และมีแนวโน้มจะขยายตัวมากกว่า 11 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี ไปจนถึงปี 2566

โดยเฉพาะในเอเชียที่ตลาดดีลิเวอรี่อาหารผ่านออนไลน์เติบโตอย่างเด่นชัด ประเมินว่าน่าจะมีมูลค่าราว 5.3 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของความต้องการรวมทั้งโลก

นี่ทำให้ธุรกิจร้านอาหารพากันตอบโจทย์ความต้องการดังกล่าว และเกิดธุรกิจขายอาหารแบบไม่มีหน้าร้าน หรือที่เรียกว่า Ghost Restaurants ซึ่งเน้นทำอาหารสำหรับดีลิเวอรี่เท่านั้น

เว็บไซต์นิกเกอิ เอเชียน รีวิว ระบุว่า ร้านอาหารแบบไม่มีหน้าร้านผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดในจีน อินเดีย และญี่ปุ่น ซึ่งนอกจากจะรองรับไลฟ์สไตล์ของผู้คนยุคนี้แล้ว ยังเป็นธุรกิจที่มีต้นทุนต่ำ มีทุนน้อยก็ทำได้ แถมไม่เสี่ยงเจ๊งเหมือนการมีหน้าร้านให้นั่งกิน และไม่ต้องปวดหัวกับปัญหาขาดแคลนคนงานอีกด้วย

ร้านอาหารแบบไม่มีหน้าร้านยังปลุกให้เกิดธุรกิจเกี่ยวเนื่อง นั่นคือ การแบ่งปันครัวกันใช้ (Shared Kitchen) โดยร้านเล็กๆ สามารถเช่าครัวใช้ร่วมกัน ทำให้ไม่ต้องเสียเงินทำห้องครัวเอง

หนึ่งในตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ “Panda Selected” ผู้ให้บริการครัวแบ่งกันใช้ในจีน ซึ่งนับถึงเมื่อกลางปีมีร้านอาหารมาใช้บริการแล้วกว่า 500 แห่ง จากจำนวนสาขา 103 แห่ง ทั้งในกรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ และเมืองใหญ่อีก 2 แห่ง

“หลี่ ไห่เผิง” ซีอีโอของ Panda Selected ที่เปิดมานาน 3 ปี บอกว่า ธุรกิจนี้ได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะคนจีนหันมาใช้บริการดีลิเวอรี่อาหารเพิ่มขึ้น แทนการออกไปรับประทานนอกบ้าน

เขากล่าวด้วยว่า ธุรกิจแบ่งครัวกันใช้ทำให้บรรดาพ่อครัวแม่ครัวมีมาร์จิ้นกำไรเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับการเปิดร้านแบบมีหน้าร้าน

เทรนด์นี้ก็เกิดขึ้นที่อินเดียเช่นกัน โดยเฉพาะในเขตเมืองที่เต็มไปด้วยคนรุ่นใหม่ ซึ่งคุ้นเคยกับเทคโนโลยี โดยคนเหล่านี้มักสั่งอาหารผ่านออนไลน์

บริษัท อูเบอร์ อีตส์ (Uber Eats) จับมือกับเชนคาเฟ่อินเดีย “คาเฟ่ คอฟฟี่ เดย์” เพื่อให้บริการเครือข่ายร้านอาหารเฉพาะดีลิเวอรี่

ส่วน BOX8 ร้านอาหารไร้หน้าร้านชื่อดัง เปิดให้บริการในเมืองใหญ่ๆ ทั้งมุมไบ ปูเน่ และบังกาลอร์ นอกจากนี้ ยังมีแบรนด์ Curry Me Up และ Kadhai House สนใจตลาดนี้เช่นกัน

“เรดเซียร์” ประเมินว่า ตลาดดีลิเวอรี่อาหารผ่านออนไลน์ในอินเดียน่าจะมีมูลค่าแตะ 4 พันล้านดอลลาร์ ภายในปี 2563 เทียบกับ 300 ล้านดอลลาร์ ในปี 2559

ส่วนที่ญี่ปุ่น บริษัทสตาร์ตอัพ “เซนโตเอน” ก็เริ่มให้บริการครัวร่วมใช้ “Kitchen Base” โดยครัวที่มี 4 ห้อง จะรองรับร้านอาหารเสิร์ฟเฉพาะดีลิเวอรี่ได้ 8 ราย แบ่งเป็นตอนกลางวัน 4 ราย และตอนกลางคืนอีก 4 ราย โดยคิดค่าธรรมเนียมราว 100,000-150,000 เยน ต่อเดือน

ข้อมูลจาก “เจแปน ไฟแนนซ์ คอร์ป” และหน่วยงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ระบุว่า ผู้คนมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถเปิดร้านอาหารได้เหมือนอย่างที่ใจอยาก ซึ่งเหตุผลหลักมาจากเรื่องขาดแคลนเงินทุน ไหนจะความเสี่ยงจากการเปิดร้านแล้วก็ไปไม่รอด

ยิ่งการที่ญี่ปุ่นเข้าสู่สังคมสูงอายุ เจ้าของร้านสูงวัยก็ไม่อยากทำงานนานๆ แถมบางวันอาจต้องปิดร้านไปหาหมอ เท่ากับแนวคิดขายอาหารแบบไม่มีหน้าร้านและการแบ่งปันครัวจะช่วยพ่อค้าแม่ค้าได้มาก

ข้ามไปฝั่งสหรัฐอเมริกา “คิทเชน ยูไนเต็ด” ก็มีแผนจะบุกนิวยอร์ก โดยเตรียมเปิดครัว 8 แห่ง ภายในสิ้นปีนี้ นอกเหนือจากครัวในเมืองพาซาดีนา รัฐแคลิฟอร์เนีย และเมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์

ขณะที่ร้าน &pizza และสตาร์ตอัพ Zume ผนึกกำลังกันเปิดตัว “ครัวเคลื่อนที่” เรียกว่าก้าวล้ำไปอีกขั้น โดยครัวเคลื่อนที่ได้นี้นอกจากจะช่วยประหยัดต้นทุนเรื่องทำเลของร้านได้เหมือนกับครัวแบ่งกันใช้ แต่ความแตกต่างที่สำคัญ คือ มันยังเป็นร้านติดล้อ ที่สามารถขายอาหารได้ตามท้องถนน เหมือนบรรดาฟู้ดทรัก เพิ่มเติมจากบริการดีลิเวอรี่