เปิดทริก “ผ่อนบ้าน” ค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ ทำยังไงให้หมดไว?

เปิดทริก “ผ่อนบ้าน” ค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ ทำยังไงให้หมดไว?

ทริกผ่อนบ้าน – เด็กจบใหม่เริ่มต้นทำงานส่วนใหญ่ จะมีความฝันว่าอยากมีรถ มีบ้าน หรือคอนโดฯ กันทั้งนั้น  คนที่วางแผนสร้างครอบครัวก็อยากขยับขยายมีบ้านและหาซื้อรถที่ตอบโจทย์ความต้องการให้มากขึ้น แน่นอนว่า การอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง ย่อมต้องแลกมากับภาระค่าใช้จ่ายมากมาย ที่อาจทำให้ไม่เหลือเงินออมหรือเงินสำหรับการลงทุนอื่นๆ

ดังนั้น หลายๆ คนจึงมีความคิดเหมือนๆ กันว่า หากลดภาระการผ่อนส่งได้เร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดี จะได้มีเงินไปทำอย่างอื่นได้ง่ายและเร็วขึ้น ที่เว็บไซต์ SCB ได้นำเสนอบทความเกี่ยวกับการผ่อนบ้านให้หมดเร็ว เขียนโดย คุณนิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP®  นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร โดยคุณนิภาพันธ์ให้เคล็ดลับเอาไว้ 3 ข้อ

เริ่มที่ข้อแรก ลดระยะเวลาการผ่อนให้สั้นลง

สามารถทำได้โดยจ่ายค่าผ่อนบ้านต่อเดือนให้มากขึ้นอีก 30–50% หรือหากทำได้ให้ โปะ เงินลงไปเท่าตัว เช่น ถ้าต้องผ่อนบ้าน 10,000 บาทต่อเดือน ให้โปะเพิ่มเป็น 20,000 บาท ซึ่งเทคนิคนี้ จะทำให้สามารถผ่อนบ้านได้เร็วขึ้นจาก 30 ปี เหลือเพียง 9-10 ปีเท่านั้น แต่ถ้าหากไม่สามารถโปะได้มากขนาดนี้ อาจใช้วิธีผ่อนบ้านให้เร็วขึ้น เช่น จากเดิมต้องผ่อนบ้านทุกสิ้นเดือน เดือนถัดไปก็ลองเลื่อนวันให้เร็วขึ้นเป็นประมาณวันที่ 25 แล้วขยับวันผ่อนบ้านให้เร็วขึ้นทุก 5 วันไปเรื่อยๆ จะทำให้ทั้งปีสามารถผ่อนบ้านไปทั้งสิ้นถึง 14 งวด เท่ากับผ่อนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละประมาณ 17% ซึ่งจะทำให้ระยะเวลาผ่อนบ้านเหลือเพียง 22 ปี และเมื่อมีเงินก้อน เงินพิเศษ เช่น เงินโบนัสออก ก็อาจแบ่งเงินนั้นมาโปะบ้านเพิ่มเติมอีก จะช่วยทำให้ผ่อนบ้านให้หมดเร็วขึ้นได้

ข้อ 2. รีบผ่อนในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ

ในช่วง 3 ปีแรก สถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อมักมีข้อเสนอพิเศษให้กับเหล่าผู้กู้ อาทิ ดอกเบี้ย 0% ดอกเบี้ยคงที่ในระดับต่ำ ในช่วงนี้ ให้รีบโปะเงินลงไป ก็จะทำให้ลดยอดเงินต้นได้มากขึ้น ยอดหนี้บ้านก็จะหมดเร็วขึ้น เพราะเมื่อเปลี่ยนไปเป็นช่วงดอกเบี้ยลอยตัว อาจทำให้ภาระดอกเบี้ยสูงขึ้น ทำให้ลดดอกเบี้ยเงินต้นได้น้อยลง ซึ่งเมื่อถึงช่วงนี้ ทำให้ผู้กู้จำเป็นที่จะต้องไปขอรีไฟแนนซ์ต่อนั่นเอง

3.  การขอรีไฟแนนซ์ (Refinance) หรือขอปรับอัตราดอกเบี้ยผ่อนบ้านกับธนาคารเดิม (Retention)

การรีไฟแนนซ์ คือ การชำระเงินกู้ที่มีอยู่ในปัจจุบันทั้งหมดด้วยเงินกู้ใหม่ และใช้สินทรัพย์ตัวเดิมเป็นหลักประกัน โดยขอกู้เงินจากสถาบันการเงินแห่งใหม่เพื่อนำไปปลดภาระเงินกู้เก่าที่มีอยู่ การทำรีไฟแนนซ์เป็นการสร้างสภาพคล่องของการใช้หนี้ ช่วยลดอัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะในกรณีที่กำลังผ่อนบ้าน รถยนต์ หรือคอนโดฯ แล้วเกิดความขัดข้องฝืดเคืองด้านการเงิน อาจจะมีเรื่องฉุกเฉินจำเป็นต้องใช้เงิน เกิดความขัดข้องผ่อนต่อไม่ได้ การรีไฟแนนซ์จะช่วยสร้างสภาพคล่องด้านการเงินได้ ที่สำคัญ เมื่อได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย จะทำให้เงินที่ผ่อนบ้านต่อเดือนไปลดเงินต้นได้มากขึ้น ยอดหนี้บ้านก็จะหมดเร็วขึ้น

การทำรีไฟแนนซ์นั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่สิ่งสำคัญนั้นอยู่ที่รายละเอียด ข้อกำหนดเงื่อนไขของสถาบันการเงิน และผลประโยชน์ที่คุณจะได้รับ หากคุณใช้เวลาสักนิด ใช้เวลาศึกษารายละเอียดด้านการเงินให้ถี่ถ้วน คุณจะได้รับผลประโยชน์จากการทำรีไฟแนนซ์อย่างแน่นอน

โดยเมื่อคุณทำรีไฟแนนซ์กับสถาบันการเงิน ให้ดูที่รายละเอียดว่าดอกเบี้ยจากการรีไฟแนนซ์ควรต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินกู้เดิมอย่างน้อย 2-3% โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นการรีไฟแนนซ์บ้านไปอยู่กับสถาบันการเงินใหม่ จะต้องพิจารณาว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการรีไฟแนนซ์ เช่น ค่าประเมินหลักทรัพย์และค่าจดจำนองนั้น มีค่าน้อยกว่าค่าดอกเบี้ยที่ประหยัดได้จากการรีไฟแนนซ์หรือไม่ เป็นต้น

 

ที่มา : เว็บไซต์ SCB

 

____________________________________________________________________

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ : ผยแพร่บน: 4 ม.ค. 2020