ฮิโรชิมา แหล่งกำเนิด มาสด้า ข้าวเกรียบกุ้งคาลบี้ เสื้อผ้ายูนิโคล่ และ ร้านไดโซะ

ฮิโรชิมา แหล่งกำเนิด มาสด้า ข้าวเกรียบกุ้งคาลบี้ เสื้อผ้ายูนิโคล่ และ ร้านไดโซะ

ฮิโรชิมา เป็นเมืองหนึ่งอยู่เกือบปลายสุดของเกาะฮอนชู เกาะใหญ่สุดของญี่ปุ่น เกาะเดียวกันกับที่เมืองหลวงคือโตเกียวตั้งอยู่ แต่ไกลกันมาก ฮิโรชิมาอยู่ปลายสุด ลงใต้ไปอีกหน่อยก็เป็นเมืองฟูกูโอกะแหล่งเกษตรกรรมธรรมชาติที่สำคัญของญี่ปุ่น

ฮิโรชิมา เป็นเมืองในใจตลอดกาลของฉัน หลงรักตั้งแต่ไปครั้งแรกเมื่อ 30 กว่าปีก่อน ชอบที่มีรถรางวิ่งผ่านเมือง เหมือนซานฟรานซิสโก เป็นรถรางเก่าแก่วิ่งมาแต่เก่าก่อน แต่เขารักษาสภาพไว้ดีมาก และยังใช้กันเป็นปกติ แม้ว่าคนใช้จะเป็นนักท่องเที่ยวเสียส่วนใหญ่ เพราะคนทำมาหากินทั่วไปก็หันไปใช้รถไฟใต้ดิน หรือการสัญจรวิธีอื่น

ฮิโรชิมา เป็นเมืองสวย เป็นเมืองชายทะเลที่ไม่หนาวเกินไป อากาศดีตลอดปี น้ำทะเลด้านนี้ซึ่งเป็นช่องแคบคั่นระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้แถวเมืองปูซาน ก็สงบกว่าอีกด้านที่ติดทะเลลึก แต่คนทั้งโลกไม่ค่อยรู้จักฮิโรชิมาในแง่นี้ กลับรู้จักเพียงว่าเป็นเมืองที่เคยถูกระเบิดนิวเคลียร์หย่อนใส่เมื่อ 74 ปีก่อน ก่อนที่อีกไม่กี่วันต่อมาก็หย่อนใส่เมืองนางาซากิ ผู้คนล้มตายนับแสน และทำให้ญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามอย่างปราศจากเงื่อนไข และไม่นานจากนั้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ยืดเยื้อยาวนานหลายปีและกัดกินชีวิตผู้คนไปหลายล้านก็ถึงกาลยุติ

ใจกลางเมืองฮิโรชิมาทุกวันนี้ยังมีอาคารหลังคาทรงโดม ที่อยู่ในจุดที่ระเบิดนิวเคลียร์ระเบิดเหนือน่านฟ้าฮิโรชิมาในวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2488 พอดี

สมัยก่อนฉันเคยเชื่อว่าระเบิดมันระเบิดเหนือยอดโดมนั้นพอดิบพอดีอย่างที่เขาว่า แต่ตอนหลังฉันว่ามันออกจะเวอร์วังไป ใครจะช่างหยอดระเบิดได้แม่นยำปานนั้น และมีเหตุผลอะไรที่จะต้องให้มันไประเบิดเหนือยอดโดมนั้น และสำคัญสุดคือไม่มีใครเห็นตอนระเบิดจะจะสักคน คือเขาคงประเมินประมาณเอาแหละว่าแถวๆ นั้น เพราะเป็นอาคารตั้งใจกลางเมืองพอดี

เขาก็สร้างอนุสรณ์สถานไว้ใกล้อาคารทรงโดมนี้ เป็นจุดรำลึกถึงเหตุการณ์ที่มีคนล้มตายจำนวนมาก เวลาไปเยี่ยมชมก็เศร้าสลดไปตามกัน แต่พวกที่ชังญี่ปุ่นฐานที่เคยรุกรานเขาไปมิใช่น้อย ทั้งจีนและเกาหลี ก็จะเชิดใส่ ไม่เศร้า แต่เท้าสะเอวถามว่า แล้วไง? ทำไมเวลาเอ็งไปทำชาวบ้านเขาเอ็งไม่โวยมั่งล่ะ? เช่นนี้เรื่อยมา จนถึงวันนี้ สมุดที่เขาให้ลงนามแสดงความเศร้าอาลัยที่อนุสรณ์สถาน ก็จะมีทั้งถ้อยคำอาลัยและด่าเคล้ากันไป

ญี่ปุ่นเขาก็ไม่ลบทิ้งนะ เขาก็ยอมรับไปว่ามันเป็นปกติของรักและชัง และเขาก็กลับไปลบอดีตไม่ได้

คนรุ่นที่เคยประสบกับความโหดร้ายของกองทัพญี่ปุ่นก็เคืองแค้นกันต่อไป แต่ไม่นานอดีตอันขมขื่นนี่ก็คงจะเลือนหาย ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะคุมแค้นต่อไป พูดกันตามตรงญี่ปุ่นก็จ่ายไปหนักหน่วง ประเทศเขา ชีวิตผู้คนเขา กองทัพเขา ก็เผชิญชะตากรรมหนักหน่วงหลังจากนั้น กว่าจะยืนขึ้นอีกครั้งในหลายสิบปีต่อมา

และจนถึงวันนี้กองทัพญี่ปุ่นก็เป็นได้เพียงกองกำลังป้องกันประเทศ มีกฎระเบียบมากมายไม่ให้เติบใหญ่ขึ้นเป็นกองทัพใหญ่ทรงพลังเกรี้ยวกราดอีก เพราะเขากลัวจะไปรุกรานชาวบ้านให้ปั่นป่วนอีกเหมือนคราวก่อน

กรณีญี่ปุ่นแพ้สงครามนี่ ฉันจำไม่ลืมอย่างหนึ่งคือ ผู้นำของเขาในยุคสงครามถูกนำตัวขึ้นศาลอาชญากรรมสงครามระหว่างประเทศ ท้ายสุดมีนายพลหลายคนถูกจับแขวนคอในฐานะอาชญากรสงคราม ภาพที่เห็นผ่านสื่อในยุคนั้นคือ ทุกโมงยามที่อยู่ในศาล พวกเขาสงบ แสดงความเคารพศาลอย่างเต็มที่ ไม่มีกรีดร้องโวยวาย ไม่มีคร่ำครวญต่อโชคชะตา มีแต่คำรับสารภาพว่าตัวเองทำผิดทั้งหมด เจ้านายรับผิดแทนลูกน้อง รับปากอย่างไม่มีอิดออด จนถึงนาทีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ประหารชีวิต พวกเขาก็โค้งคำนับรับคำตัดสินของศาลอย่างเงียบๆ

เป็นการยอมรับสภาพของผู้แพ้ เมื่อแพ้ก็ต้องรับชะตากรรม เป็นชะตากรรมของผู้แพ้ที่มีผู้ชนะเป็นผู้กำหนด ศาลที่ตัดสินชะตาชีวิตพวกเขาก็เป็นศาลของผู้ชนะ อันนี้กฎของสงคราม ไม่ว่าจะสงครามเข่นฆ่ากันหรือสงครามชีวิต

แต่เขาก็ต่อสู้ในศาลเต็มที่นะว่าเขาทำตามคำสั่งกองทัพ เขาทำเพื่อประเทศชาติ เมื่อประเทศประกาศสงครามกระโจนเข้าสู่สนามรบ เขาก็รบ เขาทำตามคำสั่งของกองทัพของผู้นำประเทศ ผู้นำเป็นรัฐาธิปัตย์ เขาทำตามคำสั่งแล้วจะผิดกฎหมายอย่างไร ทหารมีหน้าที่รบ เขาทำหน้าที่ของเขา

จนหลังกรณีญี่ปุ่นนี่แหละ เขาถึงมีกฎหมายระหว่างประเทศเรื่องความผิดในการก่อสงคราม ความผิดในการเข่นฆ่าประชาชนในประเทศคู่สงคราม อะไรต่างๆ นานาขึ้นมา

ที่จะพาไปเดินฮิโรชิมาวันนี้ ไม่ได้ไปรื้อฝอยหาตะเข็บใดๆ แต่จะพาไปรู้จักในอีกแง่ว่า นอกจากจะเป็นเมืองสวยงามของเกาะใหญ่แล้ว ฮิโรชิมายังเป็นเมืองต้นกำเนิดของธุรกิจใหญ่ของโลกหลายราย อย่างที่น้อยคนจะคาดคิด เพราะฮิโรชิมาออกจะไกลปืนเที่ยงอยู่ไม่น้อย

ญี่ปุ่นเป็นแหล่งกำเนิดธุรกิจระดับโลก บางธุรกิจกำเนิดในโตเกียวทีเดียวเลย อย่างเช่น ฮิตาชิ รายใหญ่อย่างโตโยต้านั้นแม้ไม่ได้เกิดที่โตเกียว แต่ก็อยู่ใกล้นาโกยา ไม่จัดว่าไกลเกินไป

ขณะที่ฮิโรชิมานั้น เป็นแหล่งกำเนิด รถยนต์มาสด้า ข้าวเกรียบกุ้งคาลบี้ เสื้อผ้ายูนิโคล่ และร้านไดโซะ ทั้งหมดกลายเป็นธุรกิจระดับโลกไปแล้ว

ธุรกิจที่เริ่มก่อนใครคือ มาสด้า ตั้งโรงงานมาตั้งแต่ปี 2463 หรือก่อนหน้าสงคราม 20 กว่าปี เป็นโรงงานผลิตจุกก๊อก จนในปี 2474 ก็ผลิตรถสามล้อติดเครื่องยนต์ออกมาเรียกชื่อมันว่า มาสด้า Mazda เอามาจากชื่อของเทพเจ้าองค์หนึ่ง ต่อมาไม่นานก็เปลี่ยนชื่อโรงงานเดิมมาเป็นมาสด้าเสียเรียบร้อย

ปัจจุบันมาสด้าขายรถยนต์ได้ปีละเกือบ 2 ล้านคัน ถึงจะยังเป็นรองยักษ์ใหญ่โตโยต้า แต่ไม่ใช่คู่แข่งเพราะ 2 บริษัทนี้มีสัญญาแลกเปลี่ยนอะไหล่และอะไรต่อมิอะไรกันมาหลายปี จับมือกันรุกตลาดโลกว่างั้น

รุ่นแรกอีกรายคือ ขนมกรุบกรอบคาลบี้ เกิดขึ้น 4 ปีหลังจากฮิโรชิมาเจอระเบิด บ้านเมืองยังไม่ฟื้น ผู้คนอดอยาก ชะตาชีวิตของคนแพ้สงคราม บ้านเมืองระส่ำระสาย อาหารขาดแคลน ผู้คนส่วนใหญ่เป็นโรคขาดสารอาหาร ประเทศยากจนเพราะต้องเสียเงินค่าชดเชยมหาศาลแก่ผู้ชนะสงคราม

Takashi Matsuo เจ้าของธุรกิจคาลบี้เริ่มทำธุรกิจขายมันฝรั่งทอด ด้วยความหวังว่าจะผลิตอาหารที่มีคุณค่า ราคาถูก ให้ผู้คนได้กินเป็น “ขนม” หลังจากที่ขนมหายไปจากชีวิตพวกเขาเนิ่นนานหลายปี ชื่อคาลบี้ ก็มีที่มาง่ายๆ จากคำว่า แคลเซียม กับวิตามินบี

ขายในประเทศได้พักหนึ่ง Takashi Matsuo ลบล้างคำติฉินว่าอาหารของเขาผลิตในเมืองที่มีรังสีนิวเคลียร์ครอบคลุมอยู่จึงไม่ปลอดภัย ด้วยการนำสินค้าของเขาไปเจาะตลาดอเมริกาผู้ชนะสงครามเสียเลย

และเสียงติฉินก็เงียบงันนับแต่นั้น เพราะไม่เพียงแต่ได้พิสูจน์ว่าสินค้าของเขาสะอาดปลอดจากการปนเปื้อนทั้งหมดทั้งมวล

มันยังอร่อยจับใจคนไปทั่วโลก  ยอดขายคาลบี้ทั่วโลกตอนนี้อยู่ประมาณปีละ 2 แสนกว่าล้านบาท

น้องน้อยที่มาทีหลัง แต่น่าสงสัยว่าจะร่ำรวยข้ามหน้าข้ามตาพี่ป้าน้าอาไปแล้ว ก็คือ ยูนิโคล่ (Uniqlo) เป็นร้านขายเสื้อผ้าธรรมดาๆ มาตั้งแต่ปี 2492 ในจังหวัดใกล้เคียง จนต่อมาปี 2527 ขยายเป็นธุรกิจเสื้อผ้าขนาดใหญ่ ใช้ชื่อว่า ยูนิโคล่ ย้ายมาปักหลักที่ฮิโรชิมา แล้วเติบใหญ่โดยลำดับ ตอนนี้มีสาขาทั่วโลกเกือบ 2,000 สาขา เฉพาะในอเมริกาก็ปาเข้าไปครึ่งร้อย เป็นธุรกิจร้านเสื้อผ้าที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย มีพนักงานกว่า 40,000 คน สำนักข่าวบลูมเบิร์กประเมินว่าธุรกิจยูนิโคล่มีมูลค่าประมาณแสนล้านบาท นี่หมายถึงตัวบริษัทเขานะ ส่วนยอดขายนั้นน่าจะมากกว่านี้อย่างน้อยก็เท่าตัว

ไล่ๆ กันก็มีน้องใหม่ตามมานามว่า ไดโซะ ร้านสินค้าราคา 100 เยน ที่ต่อมาขยายสาขาไปทั่วโลก ไม่มีใครไม่รู้จัก

ร้านไดโซะนั้น เดิมทีที่อยู่ในฮิโรชิมาใช้ชื่อว่าร้าน “ยาโนะโชเต็น” ขายเครื่องใช้ในครัวเรือนมาตั้งแต่ปี 2515 และกลายมาเป็นบริษัทไดโซะซังเกียว หรือ Daiso Industries Co.,Ltd. ในปี 2520

ร้านไดโซะ สาขาแรกเปิดตัวที่เมืองทาคามัตสึ จังหวัดคากาวะ ในปี 2534 และขยายไปทั่วญี่ปุ่น ปี 2544 เปิดสาขาแรกในต่างประเทศที่ไต้หวัน แล้วก็ต่อมาติดๆ ที่เกาหลีใต้ จากวันนั้นจนวันนี้ ไดโซะเปิดสาขาในต่างประเทศเพิ่มทุกๆ ปี ตอนนี้มีใกล้ 4,000 สาขาใน 25 ประเทศ เฉพาะในไทยมี 138 สาขา เป็นธุรกิจเจ้าของร้านร้อยเยนที่ใหญ่ที่สุดในโลกไปเรียบร้อย

 เป็นความสำเร็จของคนฮิโรชิมา ที่ครั้งหนึ่งไม่มีใครเชื่อว่าจะหยัดยืนขึ้นได้เต็มแรง แม้ไม่อาจก้าวเดินได้เกิน 3 ก้าว

 

เผยแพร่แล้วเมื่อ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562