นวัตกรรม! “NU Bio Bag” ถุงพลาสติกย่อยสลายได้ ผลิตจากกากกาแฟ ไม่ก่อมลพิษ

นวัตกรรม! “NU Bio Bag” ถุงพลาสติกย่อยสลายได้ ผลิตจากกากกาแฟ ไม่ก่อมลพิษ

ในภาคเกษตรไทย “ถุงเพาะชำ” ถือเป็นวัสดุสำคัญในการเพาะปลูก แต่เมื่อพืชเหล่านั้นโตขึ้นมีขนาดใหญ่เกินกว่าจะอยู่ในถุงได้ ถุงเพาะชำจึงกลายเป็นขยะทำลายสิ่งแวดล้อม ด้วยความตั้งใจอยากลดปริมาณขยะ มหาวิทยาลัยนเรศวรจึงได้คิดค้นนวัตกรรม NU Bio Bags หรือ ถุงปลูกย่อยสลายทางชีวภาพจากพลาสติกพีแอลเอผสมกากกาแฟ ย่อยสลายได้ทางธรรมชาติ

ผศ.ดร.ศรารัตน์ มหาศรานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ ม.นเรศวร เปิดเผยว่า งานวิจัยถุงปลูกย่อยสลายทางชีวภาพจากพลาสติกพีแอลเอผสมกากกาแฟ เกิดจากแนวคิดอยากลดปริมาณขยะซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของโลก ซึ่งใช้เวลาทดลอง และวิจัยเข้าสู่ปีที่ 3

โดยทางคณะผู้จัดทำได้เลือกใช้เทคโนโลยีที่ได้รับการออกแบบ และพัฒนาจากผลงานวิจัย เข้ามาช่วยในกระบวนการผสมระหว่างพลาสติกพีแอลเอ กับกากกาแฟ ใช้เครื่องบดผสมแบบเกลียวคู่ (twin-scew extruder) และขึ้นรูปด้วยกระบวนการเป่าฟิล์มด้วยเครื่องเป่าฟิล์ม (blow film extruder) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สามารถผลิตได้ระดับอุตสาหกรรม

ซึ่งกระบวนการผลิตมีความสะดวกรวดเร็ว ราคาค่าใช้จ่ายไม่แพง และผลิตภัณฑ์ฟิล์มพีแอลเอผสมกากกาแฟนี้ จัดเป็นพลาสติกที่มีความสะอาดปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน เนื่องจากไม่มีการใช้สารเคมีเข้ามาเจือปนในผลิตภัณฑ์ จนได้เป็นถุงปลูกที่สามารถย่อยสลายได้ ไม่ก่อมลพิษ

“กากกาแฟเป็นปุ๋ย โดยทั่วไปใช้ดูดความชื้น เมื่อนำไปผสมกับพลาสติกชีวภาพจะทำให้ถุงปลูกย่อยสลายได้ เมื่อเกษตรกรนำไปใช้ถุงนี้จะย่อยสลายทางชีวภาพโดยไม่ต้องถอดถุงทิ้ง” ผศ.ดร.ศรารัตน์ เผย

สำหรับกระบวนการย่อยสลาย “เมื่อนำถุงไปปลูกต้นไม้ ถุงจะย่อยสลายตามธรรมชาติ ประมาณหนึ่งเดือนครึ่งถุงจะเริ่มมีรอยแตก เมื่อเข้าสู่เดือนที่สาม เดือนที่หก เดือนที่เก้า ถุงจะแตกจนใช้งานไม่ได้ จากนั้นจะค่อยๆ ย่อยสลายอาจใช้เวลาราว 1-2 ปี หากเกษตรกรนำถุงชนิดนี้ไปใช้ จะเป็นการช่วยสิ่งแวดล้อมลดปริมาณขยะ ดีต่อสุขภาพ เพราะไม่มีสารเคมีใดๆ นวัตกรรมตัวนี้จะช่วยเสริมสร้างให้ชีวิตคนไทยมีความสุข”

นอกจากด้านการเกษตรแล้ว ถุงปลูกย่อยสลายทางชีวภาพจากพลาสติกพีแอลเอผสมกากกาแฟ ยังสามารถนำไปใช้ในธุรกิจโรงแรม และสปาได้

“ในโรงแรมจะมีถุงบรรจุอุปกรณ์ต่างๆ เมื่อเปิดใช้คนส่วนใหญ่จะทิ้งลงถังขยะในห้องน้ำ ไม่มีใครนำกลับมารีไซเคิลแน่นอน เราเลยนำไปประยุกต์ใช้เป็นถุงใส่หมวกคลุมผม ถุงใส่คัตตอนบัด ในโรงแรมสุโขทัยเทรเชอร์ รีสอร์ท แอนด์ สปา จังหวัดสุโขทัย และโรงแรมแลดูปราณ รีสอร์ท จ.ประจวบคีรีขันธ์”

คุณสมบัติอีกอย่างของถุงปลูกย่อยสลายทางชีวภาพจากพลาสติกพีแอลเอผสมกากกาแฟ คือ สามารถกันแสงยูวีได้

“เราทดสอบด้วยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ พบว่า แสงยูวีในช่วงต่างๆ ไม่สามารถส่องผ่านถุงได้ 90 เปอร์เซ็นต์ เรามองว่าน่าจะนำไปใช้เป็นถุงเก็บสิ่งของที่ไม่อยากให้ถูกแสงแดด เป็นการยืดอายุได้ดีด้วย” ผศ.ดร.ศรารัตน์ กล่าวทิ้งท้าย

จำหน่ายผ่าน สหกรณ์บริการและส่งเสริมนวัตกรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร ราคาขึ้นอยู่กับไซซ์ และความหนาของพลาสติก ทั้งนี้ สามารถติดต่อสั่งซื้อได้ที่ ผศ.ดร.ศรารัตน์ มหาศรานนท์ E-mail [email protected] โทร. 089-708-9494 ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ ม.นเรศวร 99 หมู่ 9 ต.ท่าโพธิ์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก 65000