กินยาต้องระวัง! เตือน 6 ยากินประจำ ทำความจำหาย อาจกลายเป็นโรคสมองเสื่อม

Medicine bottles and tablets on wooden desk

กินยาต้องระวัง! เตือน 6 ยากินประจำ ทำความจำหาย อาจกลายเป็นโรคสมองเสื่อม

นพ.กฤษดา  ศิรามพุช  ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์ชะลอวัย กล่าวว่า หลายท่านตกใจเวลาหลงลืม เพราะห่วงว่าจะเป็นโรคสมองเสื่อมหรือโรคทางระบบประสาทอื่นๆ  ซึ่งที่จริงแล้วแม้จะมีส่วนจริง แต่อย่าเพิ่งตระหนก เพราะการหลงลืมนั้น เป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ ไม่ว่าจะลืมที่จอดรถชั่วคราว ใจลอย หรือลืมกลางอากาศ ประเภท นิ่งงัน ไปไม่รู้จะพูดอะไรต่อ เหล่านี้ถือว่าเป็นการลืมที่อาจเกิดขึ้นได้ในคนทั่วๆ ไป

“แต่การลืมประเภทที่ค่อนไปทาง ผิดปกติที่อาจเข้าข่ายสมองเสื่อมนั้นมีสัญญาณสำคัญอยู่ คือ ถามคำถามเดิมซ้ำๆ, ลืมคำพูดสามัญที่แสนธรรมดาเวลาจะพูด, พูดสับกันเช่นพูดว่าเตียง แทนที่จะเป็นโต๊ะ,ใช้เวลานานกว่าจะทำภารกิจเดิมๆ เสร็จ, วางของไว้ผิดที่ในที่ไม่ควรวาง เช่น วางกระเป๋าสตางค์ไว้ในฝาชีครอบกับข้าว , เดินแล้วหลงง่ายหรือขับรถหลงทางเดิมๆ, อารมณ์หรือพฤติกรรมเปลี่ยนอย่างไม่มีเหตุผล” นพ.กฤษดา กล่าว

ผอ.ศูนย์เวชศาสตร์ชะลอวัย กล่าวด้วยว่าเรื่องสมองเสื่อม ฟังดูอาจเหมือนไร้ทางแก้ แต่จริงๆ มีสาเหตุของความจำที่หายไปซึ่งแก้ได้อยู่ อาทิ ภาวะซึมเศร้า, เครียด, ติดเหล้าอัลกอฮอลิซึ่ม, ขาดวิตามินบี 12, โรคไทรอยด์ต่ำ หรือมีเนื้องอก สมองก็ยังจัดการได้ นอกจากนั้นยังมีอีกเหตุหนึ่งที่ผู้สูงวัยยุคใหม่ต้องจับตาให้ดีคือเรื่องของการรับประทานยา เพราะว่ามียาที่ทำให้เกิดอาการหลงลืมได้ ดังจะขอเรียกง่ายๆ ว่า โอสถลดความจำ ที่อาจทำให้ความจำร่วงหล่นหายไปบ้าง จนเผลอคิดไปว่าเข้าข่ายอัลไซเมอร์ ดังนั้นการกินยาต้องรู้ว่ามีผลต่อสมองหรือไม่

สำหรับยาทั่วไปที่ทำให้สมองลืมได้ ยาทำความจำหายก็ได้ มีดังต่อไปนี้

1) ยานอนหลับ  ยานี้ เป็นสิ่งที่หลายคนกลัวฤทธิ์ของมัน แต่ก็ยังคงใช้กันอยู่เกลื่อน  ยานอนหลับ สามารถไปกดสมองส่วนที่ช่วยจำกับเรียนรู้  ซึ่งยานอนหลับหลายขนานมีผลข้างเคียงคืออาการความจำหาย  ยกตัวอย่างยานอนหลับกลุ่มเบนโซไดอะเซพีนส์

2) ยารักษาอาการจิตเวช  เป็นยาชนิดที่มีผลต่อสมอง  บางชนิดมีผลกดอาการหวาดระแวง, หลอนหรืออารมณ์ไบโพลาร์  อาจนำไปสู่ความผิดปกติในเรื่องความจำได้

3) ยาฆ่าเชื้อ  แม้ไม่เกี่ยวกับความจำโดยตรง แต่อาจมีผลกับระบบสำคัญของร่างกายที่สร้างสารสื่อประสาทได้ไม่แพ้สมองคือ “ทางเดินอาหาร” จึงมีคำว่าลำไส้นี้คือสมองที่ 2 ของร่างกาย  ซึ่งสารเคมีที่มีผลกระทบต่อสมองของเราหลายตัวผลิตจากทางเดินอาหารนี้  ดังนั้นยาฆ่าเชื้อที่เข้าไปสังหารจุลินทรีย์ดีๆ ในลำไส้ของเราจึงอาจมีผลต่อการทำงานของสมองได้ โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะกลุ่มควิโนโลนอย่างเลโวฟล็อกซาซิน หรือยารักษาเจ็บคออย่างอะม็อกซิซิลลินและเซฟาเล็กซิน

4) ยาแก้แพ้  ที่เรียกว่าแอนตี้ฮิสตามีน มีหลายชนิดใช้เวลาเป็นภูมิแพ้, จาม, คัน, คัดจมูก, เป็นผื่นลมพิษต่างๆ  มีผลกวนสมองตรงที่มันไปยับยั้งสารสื่อประสาทอะเซติลโคลีน ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับความจำและการเรียนรู้  ถ้าสารอะเซติลโคลีนนี้ต่ำไปจะทำให้เกิดสมองเสื่อม, ความจำหายหรือมีอาการวุ่นวายสับสนได้

5) ยาลดความดันโลหิต  เรื่องนี้มีการถกเถียงกันโดยเฉพาะยาลดความดันกลุ่มที่ทำให้หัวใจเต้นช้าคือเบต้า-บล็อกเกอร์นั้นมีเคสรีพอร์ทว่า คนไข้สูงวัยมีอาการความจำเสื่อมร่วมด้วย  อีกรายหนึ่งมีเห็นภาพหลอน  ส่วนอีกเคสนั้นมีอาการสับสนวุ่นวาย (delirium) หลังได้รับยาลดความดันกลุ่มนี้ทั้งที่ไม่เคยมีประวัติจิตเวชมาก่อนและเมื่อหยุดยาไปก็อาการหายภายใน 20 ชั่วโมง

6) ยากันชัก  ยากลุ่มนี้มีรายงานว่าทำให้สมองนั้น “ช้าลง” เพราะต้องการให้การส่งสัญญาณปลุกชักลดลง  ดังนั้นผลข้างเคียงของยาต้านชักบางตัวจึงเป็นที่รู้กันว่ามีผลต่อการรู้คิด (cognitive function) จึงอาจมีผลต่อความจำและการเรียนรู้ได้  ดังในการศึกษาของ University of Eastern Finland เผยว่า การใช้ยากันชักติดต่อกันนาน 1 ปี มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงอัลไซเมอร์ถึง 15% ส่วนข้อมูลของทางเยอรมนีบอกไว้ที่ 30%

อย่างไรก็ตาม นพ.กฤษดา ย้ำว่า อยากให้ทราบไว้ว่าไม่ควรตระหนกเรื่องยาประจำที่กินอยู่จนหยุดรับประทานเพราะการที่บอกว่ามีความเสี่ยงนั้นถ้าเราได้หมั่นสังเกตและอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้จ่ายยา ก็จะช่วยให้ความเสี่ยงที่ว่าลดลง  จึงอยากให้ระวังในกลุ่มคนไข้ที่รักษาไปนานๆ แล้วซื้อยารับประทานเองหรือไม่มีเวลาไปตรวจติดตามมากกว่า