ไก่ -ยุทธศาสตร์แรกของซี.พี “ธนินท์” เล่าไว้ใน “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว”

ไก่ -ยุทธศาสตร์แรกของซี.พี “ธนินท์” เล่าไว้ใน “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว”

จากเดือนเมษายน 2562 งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ จัดปิดท้ายศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ รื้อเพื่อจัดสร้างขึ้นใหม่ให้กว้างใหญ่โอ่โถงขึ้นกว่าเดิม

ถึงเดือนตุลาคม 2562 งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 24 ระหว่างวันที่ 2-13 ตุลาคม 2562 จัดที่ ชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี

หนังสือเล่มหนึ่งที่ขอแนะนำให้ซื้อหามาอ่านเป็นพิเศษ จากผู้ประสบความสำเร็จในการงานอาชีพธุรกิจ เป็นนักธุรกิจระดับโลก มีชื่อเสียงรู้จักกันดี ตั้งแต่ลูกเด็กเล็กแดง ถึงประชาชนทุกชนชั้น และบรรดาชาวบ้านชาวช่องทุกตรอกซอกมุมกรุงเทพมหานครและประเทศไทย

หรือท่านผู้อ่านไม่รู้จักชื่อ “ธนินท์ เจียรวนนท์”

เอ้า-ไม่รู้จักไม่เป็นไร แล้วรู้จักชื่อ “ร้านสะดวกซื้อ เซเว่นอีเลฟเว่น ไหม” ที่ชื่อร้านเป็นเลข 7 กับตัวอักษรภาษาอังกฤษไม่กี่ตัว ไม่รู้จักไม่ได้ เดินเข้าเดินออกทุกเช้าทุกเย็น ทุกดึกดื่นเที่ยงคืน

อะไรต่อมิอะไรในบ้านหมด “ไอ้หนู ไปซื้อให้หน่อย ที่ เซเว่นฯ ข้างบ้าน ปากซอยนั่นแหละ”

ได้ยินชื่อเสียงเรียงนาม “เซเว่นฯ” มานาน พอจะรู้จักผู้ก่อตั้งบ้างหรอกน่า ชื่อ “ธนินท์” คือชื่ออย่างเป็นทางการในทะเบียนบ้าน “นายธนินท์ เจียรวนนท์”

วันนี้ไม่ต้องไปหาประวัติว่า คุณธนินท์ทำอะไรบ้าง ไปซื้อหนังสือ “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว” จากบู๊ธมติชน ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ราคา 295 บาท มาอ่านเล่มเดียว รู้จักกระจะกระจ่างแจ้งหมด ทั้งประวัติชีวิตส่วนตัว ทั้งหน้าที่การงาน ทั้งการประกอบอาชีพ ทั้งธุรกิจทั้งหลายทั้งปวง

ความสำเร็จของ ธนินท์ เจียรวนนท์ มีอะไรบ้าง ลองยกตัวอย่างให้อ่านสักเรื่องหนึ่งซิ

เรื่อง ไก่ ซี.พี. นับเป็นยุทธศาสตร์แรกๆ ของ “ธนินท์” ก็ว่าได้

ไก่…จากใต้ถุนบ้านสู่อุตสาหกรรม ธนินท์เล่าไว้ใน “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว” เรื่องเดียวคุ้มค่าแล้วครับ

….

ตอนอายุ 9 ขวบ ผมได้เงินแต๊ะเอียมา ก็เอาไปซื้อไก่ชน ไก่ชนที่ผมเลี้ยง ผมก็พามันไปประลองฝีมือการต่อสู้ ดูชั้นเชิงว่า ไก่แต่ละตัวเป็นอย่างไร

หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ เป็นผู้ริเริ่มเลี้ยงไก่ไข่ในประเทศไทย ส่วนการเลี้ยงไก่เนื้อ เราเป็นผู้ริเริ่ม

ผมเริ่มสนใจในการเลี้ยงไก่ตั้งแต่ตอนที่ทำงานอยู่ที่ บริษัท สหสามัคคีค้าสัตว์ จำกัด ที่นี่ทำให้ผมได้เรียนรู้วิชาการบริหารจาก ดร.ชำนาญ ยุวบูรณ์ อดีตอธิบดีกรมการปกครอง ซึ่งดูแล บริษัท สหสามัคคีค้าสัตว์ จำกัด ในขณะนั้น ที่สำคัญคือ ทำให้ผมเกิดแรงบันดาลใจที่จะเลี้ยงไก่เนื้อ

แรงบันดาลที่ว่า มาจากผมเห็นปัญหา ในยุคนั้น บริษัท สหสามัคคีค้าสัตว์ จำกัด ลงทุนสร้างโรงฆ่าไก่ที่ทันสมัยมาก เราก็คาดหวังว่า มันจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการฆ่าไก่ให้ดีขึ้น เร็วขึ้น ถูกสุขอนามัย ผลไม่เป็นดังหวัง

ที่เป็นอย่างนั้นเพราะไก่เลี้ยงสมัยนั้น ยังไม่ได้มาตรฐาน อายุน้อยไปบ้าง แก่ไปบ้าง ตัวใหญ่บ้าง เล็กบ้าง ไม่ได้ขนาดเดียวกัน เวลาเอามันมาเข้าเครื่องถอนขนไก่ ใช้ยางตีหมุน ไก่ที่ตัวเล็กไป เวลาตีหมุน หนังไก่ก็หลุดหมด ไก่ที่ตัวใหญ่ไปก็เข้าเครื่องนี้ไม่ได้ ต้องมาปรับขนาดเครื่องอีก เทคโนโลยีทันสมัย แต่ใช้ไม่ได้เลย

“ตี๋ คุณต้องไปเลี้ยงไก่แล้ว ถ้าอย่างนี้โรงงานต้องปิด ทำอะไรไม่ได้” คำพูดของ ดร.ชำนาญ ยุวบูรณ์ ที่พูดกับผมในเวลานั้น ผมยังจำได้ดี ผมจะต้องเลี้ยงไก่เนื้อให้ได้มาตรฐานให้ได้ นี่คือ ความตั้งใจของผม

สภาพการเลี้ยงไก่ในประเทศไทยเมื่อ 50 ปีก่อน นอกจากเลี้ยงไก่ที่จะได้ตัวใหญ่บ้าง เล็กบ้าง แก่บ้าง ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกันแล้ว เกษตรกรยังเป็นรายเล็กรายน้อย เลี้ยงกันระดับร้อยตัว ค่าเลี้ยง ค่าขนส่ง ค่าเสียหาย ค่าส่งอาหารทุกอาทิตย์ไปตามที่เลี้ยงต่างๆ ที่อยู่กันกระจัดกระจาย ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงไก่สูง ไก่ จึงมีราคาสูงตาม

ถามว่า ชาวบ้านธรรมดาๆ จะกินไก่ไหวหรือ คำตอบคือ ไม่

ทีนี้…ก็เหลือแต่คนกลุ่มน้อย 3% ที่กินไก่ได้ สมัยนั้น “ไก่” จึงเป็นอาหารของคนรวย มีภัตตาคารแห่งหนึ่งชื่อ “ชายทะเลจันทร์เพ็ญ” มีชื่อเสียงและสมัยนั้นอยู่นอกเมือง รถรางและรถเมล์ไปไม่ถึง มีแค่คนรวยเท่านั้นที่ขับรถไปกินไก่ได้ และอาหารที่เลื่องชื่อคือ “ไก่ย่าง” ใครได้กินไก่ย่างชายทะเลจันทร์เพ็ญ ถือว่าเป็นเศรษฐี เพราะสมัยนั้นไก่แพงกว่าหมูเท่าตัว

เราอยากจะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม อีกด้านหนึ่งก็อยากจะช่วยคนไทยธรรมดาๆ ไม่ใช่เศรษฐีสามารถกินไก่ได้ ผมทำอะไรต้องหาเทคโนโลยีมาช่วย ผมจะต้องศึกษาว่า เทคโนโลยีอันไหนดีและดีอย่างไร ผมจึงเริ่มต้นด้วยการศึกษาเรื่องการผลิตที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเลี้ยงไก่ ทั้งสามารถลดต้นทุนการผลิต สามารถควบคุมคุณภาพได้ และเหมาะสมที่จะใช้กับประเทศไทย

ตอนนั้นผมยังไม่รู้ว่า พันธุ์เนื้อต้องไปซื้อที่ไหน แต่โชคดีที่เพื่อนของท่านประธานมนตรี คุณหวัง กว่างหนาน (อึ๊ง กว่างน้ำ ในสำเนียงแต้จิ๋ว) ท่านทำกิจการขายเมล็ดพันธุ์ผักที่ฮ่องกงและแถบเอเชียเช่นเดียวกับร้าน เจียไต๋จึง ท่านมีข้อมูลเรื่องแหล่งพันธุ์ไก่จึงได้แนะนำให้เราซื้อลูกไก่ของอาเบอร์ เอเคอร์ส (Arbor Acres) บริษัทสัญชาติอเมริกัน ผู้เพาะพันธุ์ไก่เนื้อรายใหญ่ของโลก ซึ่งกำลังพัฒนาพันธุ์อยู่ที่ประเทศอินเดีย

ในที่สุดเราก็ได้ซื้อลูกไก่จำนวนประมาณ 1,000 ตัว มาทดลองเลี้ยงที่บ้านย่านสะพานควายของท่านประธานจรัญ พี่ชายคนโตของผม

โอ้โห โตวันโตคืน โตจนที่เลี้ยงไม่พอต้องไปขยายฟาร์มทดลองที่อ้อมน้อย จังหวัดสมุทรสาคร (ปัจจุบันคือสำนักงานของเจียไต๋) ระหว่างทดลองเลี้ยงอยู่ที่อ้อมน้อย ผมก็ไปศึกษาดูงานถึงแหล่งต้นตอของเจ้าพันธุ์ไก่เนื้อเหล่านี้ให้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง

……

ในยุคนั้น ใครต่อใครก็ไปดูงานการเลี้ยงไก่ที่สหรัฐ แต่ไม่มีใครกล้านำมาใช้—เพราะอะไรหรือ

 ธนินท์ เจียรวนนท์ ตอบคำถามอีกหลายเรื่องใน “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว” รีบซื้อมาอ่าน