แพทย์ชะลอวัยเตือน! อย่ากลัวสารพิษเกินเหตุ จนเลิกกินผัก-ผลไม้ หันหาฟาสต์ฟู้ด

แพทย์ชะลอวัยเตือน! อย่ากลัวสารพิษเกินเหตุ จนเลิกกินผัก-ผลไม้ หันหาฟาสต์ฟู้ด

นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ กล่าวว่า คนเป็นจำนวนมากห่วงเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพจากสารพิษในผักผลไม้ต่างๆ อย่างที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้  ซึ่งไม่ใช่เฉพาะไทยเท่านั้น แต่ประเทศที่เจริญแล้วอื่นๆ ก็ห่วงกัน แต่มีสิ่งสำคัญที่มักไม่ค่อยถูกพูดถึง นั่นคือเรื่องของการ “กลัวจนเกินเหตุ” จนทำให้เสียประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยปัญหาหนึ่งที่คนทั่วไปกลัวคือ ยาฆ่าแมลง ที่คนผวาจนไม่กล้ากินผักผลไม้ ทำให้ปริมาณการบริโภคพืชผักต่อคนที่น้อยอยู่แล้วยิ่งน่าห่วง และหันไปกินอาหารแบบตะวันตกอยู่มาก เน้นอาหารฟาสต์ฟู้ด มีเส้นใยไฟเบอร์น้อย ซึ่งเมื่อไม่ค่อยมีกากใยให้กินมันก็ทำให้เสี่ยงโรคตามแบบตะวันตก ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด, อัมพฤกษ์-อัมพาต, เบาหวาน, ไขข้อ อันมีที่มาจากโรคอ้วนตามมา

นพ.กฤษดา กล่าวว่า เรื่องห่วงใยว่าจะกลัวจนกินผักผลไม้น้อยลงนี่ทั่วโลกต่างห่วงกัน อย่างหน่วยงานไม่แสวงหากำไร EWG (Environmental working group) ออกมาชูป้ายนำเสนอว่าปี 2019 นี้ มีผักผลไม้ที่เสี่ยงปนเปื้อนสารพิษอยู่ 12 ชนิด อาทิ สตรอว์เบอร์รี่, ปวยเล้ง, มันฝรั่ง, เชอรี่ ฯลฯ ยิ่งทำให้คนกลัว จริงอยู่ที่สารพิษในผักผลไม้อาจทำให้เกิดอาการทางระบบประสาท อาจเสี่ยงมะเร็งหรือรายงานจากการศึกษาในปี 2018 โดยมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด T.H.Chan School of Public Health Environment and Reproductive Health (EARTH study) พบว่ามีความสัมพันธ์ของการเกิดปัญหามีบุตรกับการบริโภคอาหารที่มีสารปราบศัตรูพืชสูง แต่หากขาดพืชผักไปจากการบริโภคหลักเลย จะส่งผลเสียมากกว่าดี

ดังนั้นเราจึงควรพบกันครึ่งทางอย่างเหมาะสมด้วยการแก้ที่การกินให้เสี่ยงน้อยลง เป็นต้นว่า อย่ากินแต่พืชผักซ้ำเดิม ให้เปลี่ยนไปกินให้หลากหลาย บางอย่างปลูกได้ง่ายๆ อย่าง ต้นหอม, ผักชี, พริก, กะเพราะ ก็ปลูกใส่กระถางไว้เองเป็นสวนครัวน้อยคอยรักไว้หักสดๆ มาปรุงอาหารได้

และเพื่อไม่ให้ขาดแคลนวิตามินจนเสี่ยงภัย ศาสตร์ชะลอวัยอายุรวัฒน์ จึงขอแนะให้จัดการกินแบบให้ครบ 5 ส่วน คือพืชผักราว 400-500 กรัม ต่อวัน ดังมีตัวอย่างการรับประทานผัก-ผลไม้ที่แนะนำดังต่อไปนี้

  1. หนึ่งจานหารครึ่งให้พืชผัก ฝากวิธีจัดอาหารง่ายๆ ในแต่ละมื้อไว้คือ ให้ในหนึ่งจานที่รับประทานต่อมื้อแบ่งโควตาไว้ให้ผักผลไม้สักครึ่งจาน แล้วท่านจะได้รับปริมาณ 5 ส่วนพอเพียงแล้ว ก็ไม่ต้องกลัวยาฆ่าแมลงจนเกินไป ดังที่นักพิษวิทยา คาร์ล วินเทอร์ แห่งยูซีเดวิส ได้กล่าวไว้ว่า ผู้บริโภคยังคงควรบริโภคผัก, ผลไม้และธัญพืช และไม่ควรกลัวระดับของยาฆ่าแมลงที่อยู่ในระดับต่ำจนเกินไป ซึ่งเรื่องนี้ขอแนะวิธีพบกันครึ่งทางง่ายๆ คือ ยังคงควรกินผักผลไม้ต่อ แต่ขอให้เลือกชนิดที่ติดโผยาฆ่าแมลงน้อยๆ ไว้ด้วย

2. กินผลิตผลเกษตรอินทรีย์หรือออร์แกนิกบ้าง ดังมีรายงานการศึกษาของฝรั่งเศส ที่ลงตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ชื่อดังอย่าง JAMA Internal Medicine ว่ามีการสำรวจคนจำนวน 69,000 ราย พบว่าผู้ที่กินผลิตภัณฑ์ปลอดสารหรือเกษตรอินทรีย์บ่อยจะพบเป็นมะเร็งน้อยกว่าคนที่ไม่กินถึง 25% ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องฟังอย่างตั้งใจ เพราะไม่ใช่ว่าผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกทุกสิ่งจะเหมือนกันเสมอไป

3. กินวิตามินบี จำเป็นต่อระบบประสาท ด้วยสารพิษหลายกลุ่มมีเป้าหมายอยู่ที่ระบบประสาท เช่น ออร์แกโนฟอสเฟตและคาร์บาเมตมีผลที่จุดเชื่อมต่อระหว่างประสาท ซึ่งวิตามินบีหลายชนิดทำงานร่วมกับสารสื่อประสาท นอกจากนั้นยังมีรายงานจาก John Hopkins Bloomberg School of Public Health ว่าวิตามินบี  ในระดับที่เพียงพอในร่างกายช่วยปกป้องสตรีตั้งครรภ์ได้ แม้จะมีระดับสารกำจัดศัตรูพืชสูงก็ตาม

4.ต้องมีรางจืด เป็นสมุนไพรไทย มีคุณสมบัติทางเภสัชวิทยาที่ต้านพิษของสารกำจัดศัตรูพืชอย่างยาฆ่าหญ้าได้ อีกทั้งยังต้านพิษพาราควอต ผ่านกระบวนการ lipid peroxidation ด้วย

5. ต้านอนุมูลอิสระด้วยเคอร์ซิทิน สารชื่อแปลกนี้เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ มีในพืชผักหลายชนิด อาทิ หัวหอม, องุ่นแดง, แอปเปิล, บร็อกโคลี่, พริกหวาน, ชาเขียว, ชาดำ, กาแฟ, ไวน์แดง, น้ำเบอร์รี่ ที่ให้ลองหาชนิดที่เป็นเกษตรอินทรีย์ดู โดยเคอร์ซิทินเป็นสารกลุ่มฟลาโวโนล ที่มีการศึกษาในปี 2016 ลงวารสาร Human&Experimental Toxicilogy รายงานว่าสารเคอร์ซิทินนี้มีฤทธิ์ปกป้องต้านทานพิษร้ายจากสารกำจัดศัตรูพืชกลุ่ม “ออร์แกโนฟอสเฟต” ซึ่งมีกลไกช่วยในการต้านอนุมูลอิสระ, ปกป้องดีเอ็นเอจากการถูกทำลายและถนอมรักษาตับกับไตไว้