ผู้เขียน | เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
หาง่ายๆในครัว! สมุนไพรต้านโรคซึมเศร้า “ขมิ้นชัน บัวบก น้ำมันรำข้าว ฟักทอง”
ภญ.อาสาฬา เชาวน์เจริญ เภสัชกรชำนาญการศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า ปัจจุบันโรคซึมเศร้า กำลังเป็นปัญหาสำคัญในสังคมไทย และทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น การป้องกันจึงเป็นหนึ่งในทางเลือกที่จะสามารถบรรเทาอาการดังกล่าวได้ด้วยสมุนไพร 4 ชนิด ที่สามารถหาซื้อได้ง่ายในบ้านเรา
- ขมิ้นชัน มีการศึกษาทางคลินิกในผู้ป่วยซึมเศร้าเปรียบเทียบการใช้ ขมิ้นชัน 500 มก. หลังอาหารเช้าและเย็น และยาต้านซึมเศร้า (Fluoxetine 20 mg) เป็นเวลา 6 สัปดาห์ เปอร์เซ็นต์การตอบสนองผลการรักษา Fluoxetine 64.7% ขมิ้นชัน 62.5% และเมื่อใช้ร่วมกันทั้ง Fluoxetine และขมิ้นชัน ให้ผล 77.8% ขนาดการรับประทาน
- บัวบก ถูกใช้เป็นยามาแต่โบราณ ทั้งในศาสตร์อายุรเวท และการแพทย์แผนจีน บัวบก สามารถบรรเทาอาการโรควิตกกังวลได้ จากการศึกษาการใช้บัวบก 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง หลังอาหาร ในผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรควิตกกังวล อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 33 คน พบว่าเริ่มเห็นผลการรักษาที่ 1 เดือน และเห็นผลชัดเจนขึ้นที่ 2 เดือน
จากผลการศึกษานี้ จะเห็นได้ว่า บัวบกช่วยลดความผิดปกติที่เกิดจากความกังวล ลดความเครียดและลดอาการซึมเศร้าได้ ทำให้ความเต็มใจที่จะปรับตัวและเรียนรู้ดีขึ้น บัวบก จึงมีศักยภาพที่จะนำมาใช้ในผู้ป่วยโรควิตกกังวล สำหรับผู้ที่สะดวกจะใช้ใบบัวบกสด ก็สามารถ คั้นน้ำจากใบบัวบกสดที่ล้างสะอาด รับประทานแบบเข้มข้น วันละ 1-2 ช้อนชา การใช้ใบบัวบกแห้ง เป็นยารับประทาน ใบแห้ง ใช้ครั้งละ 1-2 ช้อนชา (5-10 กรัม) ชงกับน้ำเดือด 150 ซีซี รอจนอุ่นหรือประมาณ 10-15 นาที แล้วจิบดื่ม สามารถรับประทานได้วันละ 2-3 เวลา หากเป็นชนิดแคปซูล รับประทานวันละ 2-3 แคปซูล ทั้งนี้ หากหวังผลบำรุงสมองคลายเครียด ควรรับประทานต่อเนื่องอย่างน้อย 2 เดือน
“ข้อควรระวัง คือ บัวบก เป็นยาเย็น ไม่ควรกินทีละเยอะๆ ทุกวัน อย่างกรณีที่กินเป็นกําๆ จะต้องกินๆ หยุดๆ ไม่กินติดต่อกันทุกวัน ถ้ากินสดทุกวัน ควรกินแต่น้อย ประมาณ 3-6 ใบก็พอ คนที่อ่อนเพลียหรือร่างกายอ่อนแอมากไม่ควรกิน ถ้ากินแล้วมีอาการเวียนหัว ใจสั่น ให้หยุดกินทันที คนที่ม้ามเย็นพร่อง มีอาการท้องอืดแน่นเป็นประจํา ไม่ควรกิน และหลีกเลี่ยงการรับประทานในหญิงที่ให้นมบุตร หญิงตั้งครรภ์ หรือผู้ที่วางแผนจะตั้งครรภ์ เพราะมีการศึกษาพบว่าการรับประทานต่อเนื่องติดต่อกันนานๆ พบว่าอาจยับยั้งการตั้งครรภ์ได้” ภญ.อาสาฬา ย้ำ
3. น้ำมันรำข้าวและจมูกข้าว น้ำมันรำข้าว มีสารสำคัญที่ช่วยทำให้นอนหลับได้ คือ ฤทธิ์ผ่อนคลาย คลายกังวล ช่วยให้นอนหลับ ด้วยสาร GABA (Gamma-aminobutyric acid) เป็นสารสื่อประสาท พบในระบบประสาทส่วนกลาง คือสมองและไขสันหลัง มีฤทธิ์ช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย คลายกังวล และทำให้หลับสบาย ยานอนหลับส่วนใหญ่ที่ใช้ในแผนปัจจุบันก็ออกฤทธิ์โดยจับกับตัวรับ GABA และสาร N-Acetylserotonin เป็นสารที่พบตามธรรมชาติของน้ำมันรำข้าว เป็นสารตั้งต้นในการสร้างสารเมลาโทนิน ซึ่งมีหน้าที่ในการควบคุมวงจรการนอนของคนเรา มีส่วนช่วยในการนอนหลับ สารตัวนี้ยังมีฤทธิ์คลายความเครียด คลายกังวล ต้านซึมเศร้า ต้านอนุมูลอิสระ ปกป้องสมอง และปกป้องเซลล์รับแสงจากจอประสาทตา
- ฟักทอง มีการศึกษาพบว่า ฟักทองช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้าได้ โดยทำการสังเกตพฤติกรรมถูกบังคับให้ว่ายน้ำในหนูทดลองที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะซึมเศร้าซึ่งจะมีพฤติกรรมลอยตัวนิ่งเสมือนว่าอยากตาย แต่การให้ฟักทองอบและสารเบต้าแคโรทีนมีผลทำให้ระยะเวลาลอยตัวนิ่งลดลง และยังมีผลเพิ่มระดับเซโรโทนิน (serotonin) และนอร์อิพิเนฟริน (norepinephrine: NE) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทในสมอง ซึ่งจะลดลงเนื่องจากภาวะซึมเศร้าให้กลับสู่ระดับปกติ นอกจากนี้ทั้งฟักทองและเบต้าแคโรทีน ยังช่วยลดสารก่อการอักเสบในสมองได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม
“การศึกษาเหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของฟักทองและเบต้าแคโรทีน ซึ่งเป็นสารสำคัญในฟักทองในการช่วยรักษาภาวะซึมเศร้า ในยุคที่คนไทยเป็นโรคซึมเศร้ากันมากขึ้น ฟักทอง จึงเป็น อาหารเป็นยา ที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการซึมเศร้าได้” ภญ.อาสาฬา กล่าว