ธนาคารบังกลาเทศ “กรามีน แบงก์” ชูแนวคิด คนยากจนมองเห็นแสงสว่างจากตัวเอง

ธนาคารบังกลาเทศ “กรามีน แบงก์” ชูแนวคิด คนยากจนมองเห็นแสงสว่างจากตัวเอง

อุปสรรคสำคัญของพ่อค้าแม่ค้ารายย่อยคือ “เงินทุน” เพราะหากไม่มีเงินทุนก้อนแรกในการประกอบอาชีพ เขาก็ไม่รู้จะค้าขายอะไร

แม้บางคนอาจเริ่มจากธุรกิจเล็กๆ ก่อน เช่น ขายข้าวเหนียวหมูปิ้งหน้าปากซอย, ขายปาท่องโก๋, ขายน้ำเต้าหู้ หรืออะไรต่อมิอะไรมากมายที่พอจะเลี้ยงตัวได้

แต่กระนั้น เมื่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศฝืดเคือง มีคนขายมากกว่าคนซื้อ จึงทำให้รายได้ของพวกเขาค่อยๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง

จนบางรายต้องปิดร้านม้วนเสื่อกลับบ้านนอกเพื่อไปทำนา ทำไร่

ขณะที่พ่อค้าแม่ค้ารายย่อยอื่นๆ ต่างหันไปกู้เงินนอกระบบ แม้จะรู้โดยสัญชาตญาณว่าดอกเบี้ยแพงมหาโหด แต่เขาจำเป็นต้องกู้ เพราะไม่เช่นนั้นไม่รู้จะประกอบอาชีพอย่างไรต่อ

ไหนลูกจะต้องกินต้องใช้ ต้องไปโรงเรียน และมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกจิปาถะ สำคัญไปกว่านั้น เหตุผลที่พวกเขาจำเป็นต้องกู้เงินนอกระบบ เพราะไม่มีรายได้เป็นหลักเป็นแหล่ง ไม่ได้ทำงานบริษัทห้างร้าน ไม่มีสลิปเงินเดือน และไม่มีใครค้ำประกันเงินกู้ได้

ครั้นจะขอกู้เงินจากแบงก์รัฐ และแบงก์พาณิชย์ก็ทำไม่ได้อีก เพราะไม่มีเอกสารใดๆ ทั้งสิ้น จนทำให้ชีวิตวนเวียนอยู่กับการกู้นอกระบบซ้ำแล้วซ้ำเล่า

จนทำให้เกิดคดีความมากมายตามที่เห็นเป็นข่าว ผลตรงนี้ จึงทำให้หน่วยงานภาครัฐพยายามเข้ามาปลอดล็อกให้กับพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย โดยให้แบงก์รัฐปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ แต่พอเอาเข้าจริงกลับมีความยุ่งยากทางเอกสาร

ที่สำคัญ เจ้าหน้าที่ที่ดูแลสินเชื่อรายย่อยต่างเลือกปล่อยเงินกู้ให้กับบุคคลที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด หรือแทบจะไม่มีความเสี่ยงเลย เพราะเขาเองไม่อยากมีความผิดในฐานะคนปล่อยสินเชื่อโดยไม่พิจารณาอย่างถี่ถ้วน

ยกเว้นเสียแต่ว่าพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย หรือผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจเอสเอ็มอีพอจะมีกำลังขึ้นมาบ้าง อีกทั้งมีธุรกิจที่น่าสนใจ และมีแนวโน้มว่าธุรกิจดังกล่าวน่าจะมีความเสี่ยงน้อยที่สุด

หรือเป็นธุรกิจที่น่าจะเติบโตต่อไปได้ในอนาคต เจ้าหน้าที่สินเชื่อถึงจะปล่อยเงินกู้ให้ แต่กระนั้น ต้องมาดูตัวเลขจริงๆ ว่ากลุ่มคนเหล่านี้ประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน พอร์ตสินเชื่อรายย่อยเติบโตขึ้นจริงๆ หรือ

ปรากฏว่าเปล่าเลย เพราะจากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่สรุปข้อมูลเมื่อสิ้นเดือนมิถุนายน 2562 บอกว่าสินเชื่อธุรกิจ และสินเชื่อรายย่อยหลายประเภทชะลอตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง

จึงส่งผลทำให้ภาพรวมของสินเชื่อขยายตัวต่ำที่สุดในรอบ 1 ปี เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2561 ที่สำคัญ ล่าสุด (เดือนสิงหาคม) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มีโอกาสเข้าพบ “วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อหารือเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การจัดชั้น และการกันเงินสำรองของสถาบันการเงินที่ ธปท. ประกาศบังคับใช้เมื่อปลายปี 2561 จนทำให้แบงก์ต้องจัดชั้นหนี้เข้มข้นขึ้น จนกระทบกับภาคธุรกิจอย่างชัดเจน

โดยเฉพาะเกณฑ์ที่ ธปท. กำหนดว่าหากในสัญญาเงินกู้กำหนดให้ผ่อนชำระต้น และดอกเบี้ย แต่ถ้าลูกหนี้มีปัญหาสภาพคล่อง ชำระได้แต่ดอกเบี้ยเดิม ยังไม่ต้องเป็นหนี้จัดชั้น

แต่เกณฑ์ใหม่ที่ออกมาเข้มข้นขึ้น ถ้าลูกหนี้จ่ายแต่ดอกเบี้ยอย่างเดียวจะต้องถูกจัดชั้น จนทำให้แบงก์ต้องกันสำรองเพิ่ม ถ้าแบงก์ไม่อยากต้องกันสำรอง ก็จะให้เข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ แต่พอปรับโครงสร้างหนี้ แบงก์กลับไม่ปล่อยเงินกู้เพิ่ม เพราะต้องรอติดตามการชำระหนี้อย่างน้อย 12 เดือน

สรุปคือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เมื่อต้องปรับโครงสร้างหนี้แล้ว แบงก์จะไม่ให้เงินทุนหมุนเวียนมาใช้ทำธุรกิจ จนทำให้ผู้ประกอบการขาดสภาพคล่อง และแทนที่บางคนจะมีปัญหาชั่วคราว แต่พอมาปรับเช่นนี้จึงกลายเป็นปัญหาถาวร จนทำให้ผู้ประกอบการแย่หนักลงไปอีก

ว่ากันว่าเรื่องนี้จะมีการหารือกันต่อไป เพียงแต่วันที่ผมเขียนต้นฉบับ (สิงหาคม) ยังไม่สรุปผลในทางแก้ปัญหาดังกล่าว แต่กระนั้น ไม่ว่าจะออกหวยหรือออกก้อย เราในฐานะคนทำธุรกิจรายย่อย

ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีก็คงต้องตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากินต่อไป

ผมจึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย คนขับวินมอเตอร์ไซค์ รับจ้างทั่วไป และอาชีพอื่นๆ ที่หมุนเวียนและเกี่ยวข้องกับธุรกิจรากหญ้า จึงหันไปพึ่งใบบุญของไมโครเครดิตแบงก์กันเป็นทิวแถว

เพราะเขาให้เงินกู้ง่าย, อนุมัติไว, ไม่ต้องรอนาน, ไม่ต้องมีคนค้ำ, ดอกเบี้ยต่ำ แถมยังมีออปชั่นอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการให้วงเงินสูงสุด, จะเลือกแบบผ่อนสั้น, ผ่อนยาว, แถมดอกเบี้ยยังลดต้น ลดดอกอีกด้วย

ที่สำคัญ ยังให้วงเงินกู้ค่อนข้างสูง และสามารถกู้ได้จากสาขาใกล้ๆ บ้าน เพราะเขาให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง

สำคัญไปกว่านั้น ไมโครเครดิตแบงก์บางแห่งยังมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำเรื่องการบริหารทางการเงินกับลูกค้าอีกด้วย เพราะปัญหาของเจ้าของธุรกิจรากหญ้าส่วนใหญ่คือบริหารการเงินไม่เป็น

รับมือขวา จ่ายมือซ้าย หมุนเงินตัวเป็นเกลียว

แต่พอเขามีเจ้าหน้าที่คอยช่วยบริหารการใช้เงินแบบง่ายๆ จึงทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้มีความเข้าใจการใช้เงินมากขึ้น จนทำให้เขาสามารถผ่อนชำระเงินต้น และดอกเบี้ยให้แก่แบงก์เหล่านี้ได้

ผมจึงมานั่งคิดเล่นๆ ว่าแบงก์รัฐ และแบงก์พาณิชย์บางแห่งน่าจะนำหลักการของไมโครเครดิตแบงก์ไปปรับใช้บ้าง ซึ่งเหมือนกับประเทศบังกลาเทศที่มี “มูฮัมหมัด ยูนูส” ผู้ก่อตั้งธนาคารเพื่อคนจน (กรามีน แบงก์) ทั้งยังเป็นเจ้าของรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ปี 2549

ด้วยการชูแนวคิดให้คนยากจนมองเห็นแสงสว่างจากตัวเอง

จนทำให้พวกเขาเห็นคุณค่าในตัวเอง และพร้อมลุกขึ้นมาทำมาหากิน โดยมีกรามีน แบงก์ คอยยืนอยู่เคียงข้างเพื่อช่วยให้เขาประสบความสำเร็จในธุรกิจ จนทุกวันนี้พอร์ตการเงินของกรามีน แบงก์ เติบโตขึ้นอย่างมหาศาล โดยมีคนยากจนภายในประเทศกว่า 6 ล้านคนกลายเป็นลูกค้าชั้นดี จนแทบไม่มีใครเบี้ยวหนี้เลย

ที่สำคัญ หลายคนสามารถยกระดับชีวิตของตัวเองดีขึ้น จนสามารถเลี้ยงดูครอบครัวให้มีความสุขอย่างพอเพียง ซึ่งผมเห็นแล้วก็แค่อยากนำมาเล่าสู่กันฟังเท่านั้นเอง

ไม่ได้ว่าใครนะครับ?