ใช้เสร็จกินได้เลย! “หลอดกินได้” นวัตกรรมจากข้าวและพืช ช่วยลดการใช้พลาสติก

ใช้เสร็จกินได้เลย! “หลอดกินได้” นวัตกรรมจากข้าวและพืช ช่วยลดการใช้พลาสติก

ขยะพลาสติก ถือเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับโลก ที่หลายๆ ประเทศยกให้เป็นปัญหาระดับชาติ ที่ต้องจัดการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ประเทศไทยเอง ก็มีการประกาศยกเลิกการใช้พลาสติกทั้งหมด 7 ชนิด ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “หลอดพลาสติก” ที่จะถูกยกเลิกการใช้ในปี 2568

ในปัจจุบัน มีผู้ประกอบการหลายเจ้าได้มีการทำหลอดที่ย่อยสลายได้ขึ้นมาทดแทนหลากหลายชนิด ซึ่งหลอดที่พบเห็นได้ตามท้องตลาดทั่วไป จะเป็นหลอด PLA ที่ต้องใช้กระบวนการย่อยสลายในห้องหมัก ที่อุณหภูมิสูงถึง 120 องศาเซลเซียส หรือ หลอดกระดาษ ที่ยังประสบปัญหาในเรื่องของกลิ่นในการย่อยสลายและสภาวะการอ่อนตัวหลังการใช้งานที่เร็วเกินไป

คุณปุ๊ก-สุรพร กัญจนานภานิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท กัญจนาพร (สยาม) จำกัด เจ้าของผลงาน “หลอดกินได้ จากข้าวและพืช”

คุณปุ๊ก-สุรพร กัญจนานภานิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท กัญจนาพร (สยาม) จำกัด เจ้าของผลงาน “หลอดกินได้ จากข้าวและพืช” ได้ให้สัมภาษณ์กับ “เส้นทางเศรษฐีออนไลน์” ในงาน ตลาดต่อยอดงานวิจัยสู่อุตสาหกรรม ที่จัดขึ้นโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ว่า ไอเดียนี้มาจากปัญหาเรื่องขยะในปัจจุบัน จึงคิดอยากจะหาวัสดุทดแทนที่ใช้แทนหลอดพลาสติก อีกทั้งวัสดุนั้นต้องสามารถย่อยสลายได้ โดยใช้เวลาไม่นาน

“ปัจจุบันผู้ประกอบการต่างๆ ตื่นตัวกับปัญหาขยะพลาสติกกันมากขึ้น ดิฉันเองก็อยากหาสิ่งทดแทนพลาสติก และก็เห็นว่าหลอดที่เราใช้กันทุกวันนี้ มีกระบวนการในการย่อยสลายที่ยากและใช้เวลานานเป็นร้อยๆ ปี ประกอบกับดิฉันทำธุรกิจเล็กๆ เกี่ยวกับข้าวอยู่แล้ว ก็คิดว่า เราจะทำอะไรดีเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลดขยะพลาสติกได้ ก็เกิดเป็นไอเดียขึ้นมาว่า ลองทำหลอดจากข้าวและพืชดู”

จึงมีการศึกษาวิจัยและทดลองออกมาเป็นหลอดกินได้ ที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติ 100% อาทิ ข้าว, ข้าวโพด, มันสำปะหลังและบุก ลักษณะเป็นหลอดบางใส ใช้ได้ทั้งในน้ำเย็นและน้ำร้อน ระยะเวลาการอยู่ตัวอยู่ที่ 3-5 นาที เมื่อโดนน้ำร้อน หรือ 12 ชั่วโมงเมื่อใช้ในน้ำเย็น จากนั้นจะค่อยๆ อ่อนตัวลงและย่อยสลายไปใน 30 วัน

“หลอดกินได้ เป็นหลอดที่ทำมาจากแป้งเป็นส่วนใหญ่ รสชาติที่ได้จะเป็นรสหวานนิดๆ อีกทั้งมีการดูดซึมน้ำและไม่คงรูป จึงมีการพัฒนาให้มีความแข็งแรง แต่สามารถรับประทานได้ทันทีหลังใช้งานเสร็จ หรือย่อยสลายได้ภายใน 30 วัน ซึ่งในประเทศไทยยังไม่มีผู้ประกอบการรายไหนสามารถผลิตหลอดที่ย่อยสลายได้เร็วเท่านี้” คุณปุ๊ก กล่าว

เธอกล่าวเสริมว่า ต้นทุนของหลอดกินได้นี้ไม่ได้สูงไปกว่าหลอดที่วางขายในตลาด ทำให้ราคาไม่ต่างจากหลอดกระดาษหรือหลอด PLA มากนัก โดยเธอตั้งราคาไว้ไม่เกิน 1 บาท ต่อ 1 หลอด

“จริงๆ ตอนนี้งานวิจัยผลิตภัณฑ์ตัวนี้มีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 70% และคาดว่าไม่เกินต้นปีหน้าก็จะเสร้จสมบูรณ์และวางขายตามตลาดในประเทศได้แล้ว ซึ่งดิฉันก็คาดหวังและตั้งเป้าว่า ในช่วงปีแรกจะสามารถทำผลประกอบการได้ 27 ล้านบาท หลังวางขายก็จะศึกษาและลองทำพืชชนิดอื่นๆ มาเพิ่มสีสันให้ผลิตภัณฑ์ และทำออกมาหลากหลายขนาด รวมถึงผลิตขายต่างประเทศด้วย” คุณปุ๊ก กล่าวทิ้งท้าย

หากใครสนใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ (061) 916-3666 หรือไลน์ไอดี _suree8 และ E-Mail : [email protected]