หนุนขยายผลใช้ “กัญชง” ชี้ประโยชน์กว้างกว่า “กัญชา” พัฒนาถึงอุตสาหกรรมได้

หนุนขยายผลใช้ “กัญชง” ชี้ประโยชน์กว้างกว่า “กัญชา” พัฒนาถึงอุตสาหกรรมได้

ภญ.ดร.ผกากรอง ขวัญข้าว หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมภูมิปัญญาอาเซียน ที่เพิ่งจบลงไปเมื่อเร็วๆ นี้ว่า กัญชงและกัญชา คือพืชชนิดเดียวกัน แต่คนละสายพันธุ์ ในพืชชนิดนี้มีการผสมข้ามสายพันธุ์กันมาก ทำให้กัญชงและกัญชาแยกออกจากกันยาก ในสหรัฐอเมริกา ที่ให้ปลูกกันจะเป็นกัญชง เนื่องจากมีสารเมาปริมาณต่ำ ไม่ก่อให้เกิดการนำไปใช้ในทางที่ผิด ทั้งนี้ ในส่วนของมูลค่าตลาดของกัญชานั้น ในแต่ละฐานข้อมูลมีมูลค่าแตกต่างกัน อาจเนื่องด้วยคำจำกัดความของกัญชา บางฐานข้อมูลการตลาด ก็รวมกัญชง หรือ Hemp เข้าไปด้วย และยังมีประเด็นช่องทางการจำหน่ายที่ส่งผลให้มีการรายงานตัวเลขแตกต่างกัน แต่ที่แน่นอนตลาดโดยรวมมีมูลค่าสูงขึ้น เนื่องจากมีข้อมูลหลักฐานเพิ่มมากขึ้นว่า กัญชาสามารถนำมาใช้ในการรักษาโรคได้ โดยเฉพาะโรคที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษามาตรฐาน

ข่าวเกี่ยวข้อง: ราชกิจจาฯ ประกาศ ปลดล็อกสาร “กัญชง-กัญชา” พ้นยาเสพติด ผสมอาหารได้!

ภญ.ดร.ผกากรอง กล่าวด้วยว่า สำหรับข้อบ่งใช้ของกัญชา ที่นำมาใช้กันมากคือ บรรเทาปวด แต่โดยส่วนตัวมองว่า ในประเทศไทยน่าจะคำนึงถึงความคุ้มค่าในการนำมาใช้ด้วย โดยอาการปวดนั้นหากมียาที่ราคาถูก ใช้ง่ายกว่า และปลอดภัยกว่าควรเลือกใช้ก่อนกัญชา ส่วนที่นำผลิตภัณฑ์กัญชาไปใช้เพื่อการรักษาโรคทางผิวหนังนั้น ต้องยอมรับว่ากำลังมาแรงในขณะนี้ และมีแนวโน้มที่จะเติบโตอีกมาก ดังนั้น ประเทศไทยจึงควรมุ่งวิจัย รวมทั้งพัฒนารูปแบบของยาเพื่อให้นำส่งยาได้ดี ยกตัวอย่างบริษัท zynerba pharmaceutical ที่กำลังพัฒนารูปแบบยาที่นำส่งผ่านผิวหนัง เนื่องจากศึกษาพบว่า CBD สามารถถูกเปลี่ยนเป็น THC ในกระเพาะอาหาร ซึ่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการรักษา

ภญ.ดร.ผกากรอง ขวัญข้าว หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

สำหรับปัจจัยที่อาจส่งผลต่อการเติบโตของตลาดกัญชา ภญ.ดร.ผกากรอง กล่าวว่า ได้แก่ ผลข้างเคียงและความสามารถของกัญชาที่จะใช้ร่วมกับการรักษาอื่นๆ รวมถึงสังคมผู้สูงอายุและการวิจัย ซึ่งประเทศไทยต้องให้ความสำคัญ ทั้งนี้ จากการคำนวณในเบื้องต้นของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร พบว่า ยาน้ำมันกัญชา 1 ล้านขวด ใช้กัญชาเพียง 40-50 ไร่เท่านั้น เพราะเป็นพืชที่ใช้เพียงน้อยก็ได้ผลแล้ว ดังนั้น การส่งเสริมให้เป็นอุตสาหกรรมวงกว้างน่าจะทำได้ลำบาก

“การส่งเสริมกัญชง น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพราะมีโอกาสนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ความงาม และยาที่มี CBD เด่นได้ ในต่างประเทศ เมล็ดกัญชง สามารถนำมาเป็นส่วนผสมในอาหารเนื่องจากมีโอเมก้าสูง เส้นใยนำมาทำอุตสาหกรรมสิ่งทอ ไฟเบอร์กลาสของรถยนต์เพื่อประหยัดพลังงาน แกนนำมาทำอิฐมวลเบา ทำให้อาคารไม่ร้อนไม่หนาวเกินไป การพัฒนากัญชง จึงต้องพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นๆ ควบคู่กัน อย่างไรก็ตาม ทราบว่า ขณะนี้ทางการอิตาลี กำลังควบคุมร้านจำหน่าย CBD เพราะตรวจพบว่าสารสกัด CBD บางเจ้ามี THC สูงกว่ากำหนด อาจส่งผลต่อการทำงานของสมองโดยเฉพาะในเด็กและเยาวชนได้ ฉะนั้น หากประเทศไทยจะเดินไปทางนี้ ต้องมีเครื่องมือในการตรวจ THC และ CBD ที่รวดเร็ว และกลไกการลงโทษผู้ที่กระทำผิดให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย” ภญ.ดร.ผกากรอง กล่าว