ตามไม่ทันแล้วพี่บัวลอย! “กิจการร้านค้า” ยุคใหม่…เขาตั้งชื่อกันแบบนี้!?

ตามไม่ทันแล้วพี่บัวลอย! “กิจการร้านค้า” ยุคใหม่…เขาตั้งชื่อกันแบบนี้!?

“เราอยู่ในยุคที่ต้องตั้งชื่อกิจการร้านค้า…กันแบบนี้แล้วหรือคะ”

เสียงปลายสายโทรศัพท์ เข้ามาปรารภกับกองบรรณาธิการ “เส้นทางเศรษฐีออนไลน์” ก่อนแนะนำตัวว่าเธอ คือ ผู้ติดตามข่าวสารจากเรามาอย่างต่อเนื่อง

หลังจากพูดคุยกันอยู่ครู่ใหญ่ เธอจึงขอแอดไลน์เพื่อส่งภาพถ่ายร้านขายอาหารประเภท “ยำ” ซึ่งปัจจุบันกำลังได้รับความนิยมกันอยู่หลายแบรนด์  แต่ร้านต้นตอ ของบทสนทนาครั้งนี้ เป็นร้านที่กำลังจะเปิดใหม่ แถวตลาดนัดกลางคืนชื่อดังย่านเกษตร-นวมินทร์

ก่อนจะพิมพ์ข้อความเข้ามาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า

“วันก่อนขับรถผ่านไปแถวนั้นพอดี เห็นเขากำลังขึ้นป้ายใหญ่โต โห…ตกใจเลย แต่ยังแอบคิดในใจ คงไม่ใช่มั้ง อาจมีคำอะไรต่อพ่วงท้าย เขาคงไม่คิดตั้งชื่อร้านแบบนี้หรอก จริงอยู่คำสะกด อาจไม่ตรงอย่างที่เราก็รู้กันอยู่ว่าแปลว่าอะไร แต่อ่านยังไงมันก็แปลว่าไอ้นั่น!!! พอวันรุ่งขึ้น ขับผ่านไปอีก ชัดเลยค่ะ เด่นซะไม่มี เลยอดถ่ายรูปมาฝากไม่ได้ค่ะ”

ได้รับมาทั้งภาพและข้อมูล จึงต่อสายสอบถามความเห็นไปยังนักการตลาดอาวุโส อย่าง คุณพลชัย เพชรปลอด เกี่ยวกับปรากฏการณ์ดังกล่าว ได้ความเบื้องต้นว่า ทฤษฎี AIDA กล่าวถึงขั้นตอนที่จะทำให้เกิดการซื้อขายนั้น มี 4 ขั้น คือ A=Attention แปลว่ากระชากความสนใจ I=Interest สนใจ (แบบจริงจัง) D=Desire ตัดสินใจ  และ A=Action ทำการซื้อ ซึ่งชื่อร้าน ป้ายชื่อ คือ สื่อโฆษณา ที่จะทำให้คนรู้จักร้าน เป็นอันดับแรกๆ  และโดยปกติ เมื่อคนเจอสินค้า ถ้าไม่ได้มีใจอยู่ก่อนหน้าจะไม่กระโดดใส่ การกระชากความสนใจ จึงถูกนำมาใช้ ส่วนวิธีการกระชากจะเป็นอย่างไร ก็แล้วแต่ใครจะคิดสรรหา

คุณพลชัย กล่าวต่อว่า ชื่อร้าน คือ ด่านแรกที่คนเห็นได้ง่าย เจ้าของกิจการนี้ คงคิดจะทำอย่างไร ให้ชื่อร้าน ทำหน้าที่เป็นทั้งชื่อเรียกขาน และ “กระชากความสนใจ” ยามได้เห็นครั้งแรก ชื่อร้านเขาเลยออกมาประมาณอย่างที่เห็น และอาจเพราะสังคมโซเชียล และสังคมปัจจุบัน มักให้ความสนใจกับพฤติกรรม-ถ้อยความ ในลักษณะ “วิธีการเชิงลบ” มากกว่า “วิธีการเชิงบวก” และเมื่อพบว่าวิธีการเชิงลบได้ผล จึงเริ่มกลายเป็น “แม่แบบ” ให้ผู้คนทำตาม

“ถามว่าชื่อร้านแบบนี้ มีความร่วมสมัยดีใช่มั้ย คงต้องตอบว่าใช่ เพราะทุกวันนี้ ผู้คนจำนวนมากนิยมวิธีการเชิงลบมากกว่าวิธีการเชิงบวก แต่ถ้าถามว่าเห็นด้วยมั้ย ชื่นชมมั้ย ตอบเลยว่าไม่ เห็นชอบทำกันจัง นึกไรไม่ออก ก็เชิงลบไว้ก่อน” คุณพลชัย บอกอย่างนั้น

และว่า ความยั่งยืนของการตลาด คือ สินค้าต้องดี โดนใจผู้บริโภค หลักการง่ายๆ ที่ทำให้ธุรกิจยั่งยืน คือ ต้องพัฒนาสินค้าให้ดี โดนใจกลุ่มเป้าหมาย ตั้งราคาที่เหมาะสม หาช่องทางขายที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้สะดวก มีการสื่อสารกับลูกค้าและกลุ่มเป้าหมายอย่างสม่ำเสมอไม่ใช่แค่ชื่อเรียกความสนใจ

“การกระชากความสนใจให้กลุ่มเป้าหมายหันมาสนใจ มีหลากหลายวิธี ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการเชิงลบเสมอไป  ชื่อร้าน ชื่อกิจการก็เหมือนชื่อคน ชื่อของเราเอง การตั้งชื่อที่ดีก็เป็นมงคลนามกับตัวเองไปตลอดชีวิต” นักการตลาดท่านเดิม ทิ้งท้ายไว้อย่างนั้น

 

เผยแพร่ครั้งแรก วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ.2562