“ปลาไหลเผือก” ฉายา โสมมาเลย์ เพิ่มความอึดเพศชาย ขายถล่มในอะเมซอน

“ปลาไหลเผือก” ฉายา โสมมาเลย์ เพิ่มความอึดเพศชาย ขายถล่มในอะเมซอน

จากการประชุมวิชาการมหกรรมสุขภาพอาเซียน หรือ ASEAN Health Wisdom Conference 2019 ครั้งที่ 2 ซึ่งจัดโดยโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โดยปีนี้มี 8 ประเทศเข้าร่วม ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย เมียนมา และไทย โดยแต่ละประเทศได้นำนวัตกรรมดูแลสุขภาพตามปรัชญาตะวันออกมาจัดแสดง นอกจากนี้ยังรวมนักวิชาการจากทั้ง 8 ประเทศมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และถ่ายทอดองค์ความรู้ครั้งยิ่งใหญ่

ดร.แอนนี่ จอร์ช (Annie George หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์ บริษัทไบโอทรอพิคส์ เมืองเบอฮัต ประเทศมาเลเซีย (Head of Science Office Bio Tropics Malaysia Berhad)  กล่าวในช่วงของการประชุมวิชาการอาเซียน ถึงคุณสมบัติของ ตงกัต-อาลี หรือที่รู้จักในชื่อภาษาไทยว่า โสมมาเลย์ หรือ ปลาไหลเผือก ว่า ตงกัต-อาลี พบมากในมาเลเซีย เวียดนาม ชวา สุมาตรา ไทย และ บอร์เนียว โดยบริษัทได้นำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ภายใต้ชื่อการค้าว่า Physta (ฟิสต้า) ซึ่งมีความร่วมมือในการวิจัยระหว่างสถาบันเอ็มไอทีกับรัฐมาเลเซีย จดทะเบียนสิทธิบัตรระดับโลกและสิทธิบัตรในสหรัฐอเมริกา มีสรรพคุณในการเพิ่มฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน เพิ่มสมรรถภาพทางเพศของผู้ชายและเพิ่มจำนวนอสุจิ

ดร.แอนนี่ จอร์ช

“โดยการสกัดน้ำตงกัต-อาลี ตามมาตรฐานสากล ด้วยการผสมผสานความทันสมัยของวิทยาศาสตร์ใส่ลงไปในพืชดั้งเดิม จากนั้นนำส่วนรากมาสกัดและอบแห้ง ผ่านการศึกษาด้านความปลอดภัยและพิษวิทยา และได้รับการรับรองคุณภาพจากหลายสถาบันมีชื่อเสียง อาทิ อย.สหรัฐ จีเอ็มพี และเครื่องหมายฮาลาลของมาเลเซีย และยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่มียอดจำหน่ายสูงใน amazon.com” ดร.แอนนี่ กล่าว

หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์บริษัทไบโอทรอพิคส์ กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่า ตงกัต-อาลี ช่วยปรับสมดุลฮอร์โมน และช่วยปรับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนให้เพิ่มขึ้น 48.6% และมีคุณสมบัติในการต้านความชรา อีกทั้งยังช่วยเสริมสมรรถนะด้านกีฬา ความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อทั้งในกลุ่มผู้หญิงและผู้ชาย รวมถึงช่วยเพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูก เพิ่มความอึด ลดความเครียด ลดระดับคอร์ติซอลซึ่งเป็นตัววัดความเครียด และเพิ่มเทสโทสเตอโรนในการศึกษาที่เฉพาะเจาะจงเรื่องสุขภาพทางเพศของผู้ชายได้ผลอย่างมีนัยสำคัญ

ด้าน รศ.ดาวคิน เมียว มินท์ (Daw Khin Myo Myint) หัวหน้าสำนักงานเวชศาสตร์ฟื้นฟู จากมหาวิทยาลัยการแพทย์ดั้งเดิม มัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา นำเสนอการบำบัดโรคอัมพาตใบหน้าด้วยการแพทย์เมียนมา โดยระบุว่า ปัจจุบันการรักษาผู้ป่วยโรคอัมพาตใบหน้าด้วยการแพทย์ดั้งเดิม มีใช้กันหลายวิธี ทั้งการแพทย์เมียนมา ปัญจกรรม ฝังเข็ม ตลอดจนการให้ยารับประทานและยาใช้ภายนอกโดยใช้น้ำมันยา ร่วมกับสมุนไพรและการออกกำลังกาย  แต่ที่ใช้กันอย่างกว้างขวางคือ การกดจุดบริเวณศีรษะและใบหน้า ทั้งจุดหลักและจุดเสริม โดยผู้ป่วยจะต้องออกกำลังกายหน้ากระจกเสริมด้วยวันละ 5 ครั้ง โดยทำท่าเลิกคิ้ว หลับตายิ้มแบบปิดปาก ทำแก้มป่อง ย่นจมูก เป็นต้น

“ในส่วนของการพยากรณ์โรคอัมพาตใบหน้านั้นพบว่า กว่า 70% ฟื้นคืนตัวได้เต็มที่ประมาณ 20-30% เป็นอัมพาตถาวรประมาณ 7% และสามารถกลับมาเป็นโรคนี้ซ้ำได้ในระยะเวลา 10 ปี ส่วนปัจจัยที่ทำให้ผลการรักษาไม่ได้ผลเท่าที่ควร เกิดจาก อายุที่มากกว่า 60 ปี มีอาการเป็นหนักและเส้นประสาทเสียหายมาก เงื่อนไขทางสุขภาพที่มีโรคอื่น เกี่ยวข้องเช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น” รศ.ดาวคิน เมียวมินท์ กล่าว