“นพดน จันทวาท” จบแค่ม.6 แต่ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงทำเกษตรจนมีเงินเหลือเก็บซื้อที่ดินเพิ่ม

พูดถึงหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เชื่อว่าเราๆ ท่านๆ คงจะทราบกันดีอยู่แล้ว แต่อาจจะมีผู้คนบางส่วนยังไม่เข้าใจอย่างกระจ่างแจ้ง ในเว็บไซต์ www.chaipat.or.th ของมูลนิธิชัยพัฒนา อธิบายไว้ว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานพระราชดำริชี้แนะแนวทาง การดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า 25 ปี ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำแนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ

“เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในภายนอก”

img_9755

ปลูกพืชแซมในสวนยาง

เกษตรกรรายหนึ่งที่น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้และทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ก็คือ คุณนพดน จันทวาท วัย 45 ปี จบม.6 อยู่ที่บ้านฉาง ตำบลบางโกระ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี และได้รับเลือกให้เป็น Young Smart Farmer ของกรมส่งเสริมการเกษตร เมื่อปี 2557

ความโดดเด่นของเกษตรกรหนุ่มรายนี้ อยู่ที่การปรับวิธีคิด กู้วิกฤตราคายางพาราตกต่ำ น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ นำไปสู่การพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน พร้อมกันนั้นยังได้นำความรู้ด้านเทคโนโลยีการเกษตรมาผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อพัฒนากิจกรรมการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ในชุมชนเพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่สามารถลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ พึ่งพาตนเองได้

คุณนพดน เล่าว่า เดิมนั้นมีที่ดินแค่ 10 ไร่ จากที่แม่ให้เป็นมรดกตกทอดมา จากนั้นนำสวนยาง 10 ไร่นี้ไปจำนองกับธนาคาร แล้วนำเงินที่ได้ไปซื้อที่ดินเพิ่มอีก 50 ไร่ รวมแล้วปัจจุบันมีสวนยางพารา 60 ไร่ จากนั้นนำรายได้จากสวนยางพาราไปใช้หนี้ธนาคาร ซึ่งในช่วงที่เริ่มปลูกยางพาราจนถึง 3 ปี ยังไม่สามารถเก็บผลผลิตได้ และต้นยังไม่โต ก็ได้นำพืชชนิดอื่นๆ มาปลูกแซม อย่างเช่น มะพร้าวน้ำหอม กล้วย ตะไคร้ มะเขือ ถั่วฝักยาว เพื่อเป็นรายได้เสริมช่วงที่ต้นยางพารายังไม่ให้ผลผลิต นอกจากนั้นยังทำปุ๋ยน้ำและปุ๋ยหมักอินทรีย์ใช้เองด้วย แต่ก็ใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ร่วมด้วย โดยใช้ปุ๋ยชีวภาพเป็นหลัก รวมทั้งปุ๋ยขี้ไก่ขี้วัวที่มีอยู่ในหมู่บ้าน

เกษตรกรรายนี้บอกด้วยว่า ได้ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงจากหนังสือจากนิตยสารต่างๆ และได้นำมาใช้ในการเกษตร ซึ่งการเดินตามรอยพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงนี้ ถ้าไม่ทำจะไม่รู้ ขอให้ทำก่อน จะส่งผลทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น อย่างแต่ก่อนทำกับข้าวต้องซื้อของเกือบทุกอย่าง ตอนนี้ไม่ต้องซื้อแล้ว ที่เหลือก็ขายได้ เพราะปลูกได้เอง ไม่ว่าจะเป็นพริก ตะไคร้ ถั่วฝักยาว มะเขือ ฯลฯ ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก และลดสารพิษสารเคมีที่จะเข้าสู่ร่างกาย

img_9752

ค่าใช้จ่ายในครัวเรือนลดลง

“การทำเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียงทำให้รายจ่ายในครัวเรือนลดลงเพราะแทบจะไม่ได้ซื้อผักผลไม้เลย ทุกอย่างเก็บจากที่ปลูกไม่ว่าจะเป็นพริก ตะไคร้ ปลา ประหยัดไปได้เยอะ ที่เหลือก็ขาย อย่างตะไคร้ขายต้นละ 80 สตางค์ ที่บ้านยังปลูกข้าวโพด ถั่วฝักยาว ซึ่งจะปลูกไม่มาก แต่ปลูกทั้งปี เพราะมีน้ำอยู่น้ำไม่แห้ง ในบ่อปลาก็ปลูกผักบุ้ง ขายมัดละ 10 บาท มัดหนึ่งมี 17-18 ยอด เก็บของขายได้ทุกวัน วันหนึ่งขายพืชผักผลไม้ในสวนได้วันละ 100-150 บาท”

อย่างไรก็ตาม คนที่จะเดินตามรอยเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ต้องเริ่มที่จิตใจก่อน และต้องงดกินเหล้าสูบบุหรี่ พอลดอบายมุขได้จะมีคำว่าพออยู่ในจิตใจ ไม่มีรายจ่ายมาก เงินก็เหลือ สามารถเก็บเงินไว้ได้ นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายภายในบ้านที่ต้องซื้อกับข้าว และจ่ายเงินค่าไปโรงเรียนของลูกๆ

img_9758

คุณนพดน บอกอีกว่า เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ได้ซื้อที่นาแปลงหนึ่งพื้นที่ 1 ไร่ 3 งาน เพื่อทำเกษตรในรูปแบบเศรษฐกิจพอเพียงไว้ให้ผู้คนที่สนใจได้มาศึกษาดูงาน โดยในพื้นที่ดังกล่าวขุดร่องไว้เลี้ยงปลาทั้งปลาหมอและปลานิล กว้าง 3 เมตร ยาว 50 เมตร และบนร่องนั้นก็ปลูกต้นยางพารา แซมด้วยพืชผักผลไม้ต่างๆ อย่างเช่น ไผ่หวาน มะนาว มะม่วงหิมพานต์ สับปะรด ถั่วฝักยาว ดอกแค ผักบุ้ง

นอกจากนี้ ยังขุดไว้อีกบ่อ เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง ขุดลึกประมาณ 3 เมตร ไม่ได้เลี้ยงปลาใดๆ เวลาหน้าแล้งก็นำน้ำนั้นมาใส่บ่อเลี้ยงปลา

img_9753

กลุ่มแม่บ้านต่อยอดมีรายได้เสริม

เจ้าของรางวัล Young Smart Farmer เล่าอีกว่า ที่หมู่บ้านมีศูนย์เศรษฐกิจพอเพียงบ้านฉาง หมู่ที่ 3 ตั้งมา 2 ปีกว่าแล้ว เป็นรูปเป็นร่างพร้อมที่จะให้ผู้สนใจเข้ามาศึกษาดูงานได้ มีอาคารและมีกลุ่มแม่บ้านทำน้ำพริกและพริกแกงขาย เป็นการต่อยอดจากการทำเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียง โดยนำวัตถุดิบทางการเกษตรที่ปลูกกันเองในหมู่บ้านไม่ต้องไปซื้อมาจากไหน ไม่ว่าจะเป็นพริก ตะไคร้ ฯลฯ มาทำเป็นพริกแกงและน้ำพริก เป็นรายได้เสริมของกลุ่มแม่บ้าน

วันนี้ คุณนพดนและครอบครัว รวมทั้งชาวบ้านที่บ้านฉาง ต่างมีความสุขกันถ้วนหน้า เพราะเดินตามรอยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งปัจจุบันเขามีรายได้ต่อปีกว่า 300,000 บาท เพราะนอกจากจะมีรายได้จากสวนยางพาราแล้วยังนำรถแทรกเตอร์ของตัวเองไปรับจ้างไถนาไถสวน ทั้งยังมีรายได้จากการเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านด้วย พร้อมกันนั้นยังทำงานเพื่อสังคม โดยเป็นหมอดินอาสาและอาสาเกษตรหมู่บ้าน

คุณนพดน ให้คำแนะนำว่า คนทั่วไปก็สามารถนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ได้ อย่างคนที่มีที่ดินไม่มาก อยู่ในเมืองก็สามารถปลูกพืชผักสวนครัวได้ แต่ที่สำคัญ ต้องเริ่มจากที่มีใจรักก่อน ถ้าไม่มีใจก็ทำไม่สำเร็จ สามารถปลูกผักริมรั้วหรือปลูกในกระถางได้ ไม่ต้องไปซื้อ และเมื่อนำผักที่ปลูกเองมาปรุงอาหารอย่างเช่นมานึ่งกินจะอร่อยมาก ผักจะหวาน

นับเป็นเกษตรกรอีกรายที่ประสบความสำเร็จในอาชีพ และเป็นแบบอย่างที่ดี