สารพัดบริการ! รับชีวิตเดี่ยวแต่ไม่เหี่ยวเฉา เข้ายุค “คนเหงา” ครองเมือง

สารพัดบริการ! รับชีวิตเดี่ยวแต่ไม่เหี่ยวเฉา เข้ายุค “คนเหงา” ครองเมือง

 “ความเหงาตัวเท่าบ้าน” ไม่ใช่วลีที่อธิบายความรู้สึกโดดเดี่ยวของคนบางคนเท่านั้น แต่ตอนนี้มันยังสะท้อนสภาพสังคมโลกที่เข้าสู่ยุค “คนเหงาครองเมือง”

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติสหรัฐ พบว่า ทุกวันนี้มีชาวอเมริกันที่ใช้ชีวิตคนเดียวราว 35.7 ล้านคน คิดเป็น 28 เปอร์เซ็นต์ ของครัวเรือนทั้งหมด เพิ่มจากยุค 1980 ที่มีสัดส่วน 23 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผลวิจัยของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ชี้ว่า คนเหงาในไทย มีจำนวนมากกว่า 26.75 ล้านคน

คนเหงา จึงกลายเป็นตลาดสำคัญที่หลายธุรกิจกำลังให้ความสนใจ และบางธุรกิจก็ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำจากไอเดียคลายเหงาที่ไม่เหมือนใคร

Vox.com นำเสนอเรื่องราวของธุรกิจที่จับตลาดคนเหงา ซึ่งเป็นเทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก

หนึ่งในนั้นคือ “Tribe” บริษัทในสหรัฐผุดแนวคิดชวนผู้คนมาอยู่ด้วยกัน หรือที่เรียกว่า co-living space ซึ่งแตกแขนงจากเทรนด์แบ่งปันพื้นที่ทำงาน หรือ co-working space

ปัจจุบัน Tribe มีพื้นที่ให้เช่าอยู่ร่วมกัน 7 ทำเลในย่านบรู๊กลิน นครนิวยอร์ก โดยมีห้องพักที่ตกแต่งครบครัน แบ่งเป็นห้องแบบที่นอนร่วมกับคนอื่น สนนราคาอยู่ที่ 750-950 ดอลลาร์ หากเป็นห้องแบบแยกเดี่ยวก็จะมีราคา 1,150-1,700 ดอลลาร์ แต่ส่วนห้องน้ำและครัวจะใช้ร่วมกัน

คติของ Tribe คือ “ช่วยให้คุณมีเพื่อน” ซึ่ง “เบน สมิธ” CEO อธิบายว่า ผู้คนมากมายอาจจะเพิ่งย้ายมาอยู่ในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะนิวยอร์ก ซึ่งหลายคนอาจรู้สึกโดดเดี่ยว และใช้ชีวิตแบบไปทำงานและกลับบ้าน เพราะไม่รู้จักใคร กลายเป็นวงจรชีวิตที่น่าเศร้า

Tribe ยังใจดี ให้บรรดาผู้ประกอบการและนักผลิตภาพยนตร์ เข้าพักได้ฟรีนานถึง 6 เดือน

“เอมิลี” สาววัยทำงาน คาดหวังว่าชีวิตเธอจะเปลี่ยนไป หลังจากเพิ่งย้ายมาอยู่ในชายคาของ Tribe ที่มีผู้พักอาศัยราว 20 คน โดยได้ใช้เวลาดูหนังร่วมกับคนเหล่านี้ และแลกเปลี่ยนความเห็นกัน

ก่อนหน้านี้ เอมิลีเคยทำงานในซานฟรานซิสโก แต่เวลาผ่านไปนานนับปีก็ไม่ได้ทำให้เธอมีเพื่อนสนิท พอย้ายไปนิวยอร์ก เธอจึงเลือกพักใน co-living space แทนอพาร์ตเมนต์ทั่วไป

เช่นเดียวกับ WeLive ธุรกิจให้เช่าที่พักอยู่ร่วมกัน ซึ่งขยับขยายมาจาก WeWork ธุรกิจให้เช่าพื้นที่ทำงานร่วมกัน

WeLive เริ่มให้บริการมาตั้งแต่ปี 2559 ปัจจุบันมีทำเลในนครนิวยอร์กและกรุงวอชิงตัน ดีซี โดยมีห้องพัก รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกที่ใช้ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นห้องครัวขนาดใหญ่ ห้องเพื่อความบันเทิง ระเบียงส่วนกลาง

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมให้ทำร่วมกันที่แตกต่างกันในแต่ละวัน เช่น ชั่วโมงแห่งความสุข ค่ำคืนแสนตลก และคลาสโยคะ

ห้องพักของ WeLive แบ่งเป็น 6 แบบ ตั้งแต่ห้องสตูดิโอ ทั้งไซซ์เล็ก ใหญ่ ไปจนถึงห้องแบบกั้นห้องนอน 1-4 ห้อง ซึ่งจะมีค่าเช่าที่แตกต่างกันไป

ไม่เพียงแต่บ้านพักแบบรวยเพื่อน แอพพลิเคชั่น ที่ออกแบบมาสำหรับคนคอเดียวกันก็กำลังบูมไม่น้อยหน้ากัน ตั้งแต่กลุ่มคุณแม่มือใหม่ที่อยากได้คุณแม่ป้ายแดงด้วยกันมาเป็นเพื่อน หรือบรรดาคนรักสัตว์เลี้ยง หรือคนที่ชื่นชอบกิจกรรมเหมือนๆ กัน

“Hey Vina” เป็นแอพพลิเคชั่นที่ช่วยให้สาวๆ พัฒนาความสัมพันธ์กับเพื่อนใหม่ๆ ก่อตั้งเมื่อปี 2558 ปัจจุบันมีผู้ใช้แอพนี้กว่า 1 ล้านราย และพร้อมให้บริการใน 158 ประเทศ

ส่วน Bumble BFF เปิดตัวเมื่อปี 2559 โดยออกแบบมาสำหรับคุณสาวๆ หาเพื่อนได้สะดวกขึ้น

นอกจากแอพพลิเคชั่นหาเพื่อนทั่วๆ ไปแล้ว ยังมีผู้คิดค้นแอพสำหรับเพื่อนที่มีอะไรคล้ายๆ กัน อย่างบรรดาคุณแม่มือใหม่ก็สามารถใช้บริการแอพ Peanut

ถ้าใครปลื้มสัตว์เลี้ยงมากๆ แล้วอยากมีเพื่อนที่ชอบเหมือนๆ กัน แอพ Meet My Dog น่าจะตอบโจทย์ได้มาก

ขณะที่ในญี่ปุ่น มีไอเดียคลายเหงาที่แปลกกว่าใคร นั่นคือ บริการเช่าเพื่อนหรือคนในครอบครัว ซึ่งบริษัทแฟมิลี่ โรแมนซ์ คิดขึ้นมาเป็นตัวช่วยคนที่รู้สึกโดดเดี่ยว ตั้งแต่เมื่อปี 2553

Quint.com ระบุว่า สนนราคาของการมีเพื่อนหลอกๆ หรือญาติกำมะลอ อยู่ที่วันละ 200 ดอลลาร์ หากใครอยากได้ครอบครัวที่มีครบพ่อ แม่ ลูก ก็อาจต้องยอมจ่ายมากหน่อย

ทุกวันนี้ แฟมิลี่ โรแมนซ์ ได้รับคำขอเช่าเพื่อนหรือญาติสมมติราวๆ 250 ครั้ง ต่อเดือน และลูกค้าก็พึงพอใจกับเหล่าเพื่อนหรือญาติเช่าคลายเหงา

 สำหรับ “คาสึชิเกะ นิชิดะ” ที่ต้องสูญเสียภรรยาจากความเจ็บป่วย และลูกสาวก็ออกไปใช้ชีวิตตามลำพัง การมีญาติปลอมๆ มาช่วยเติมเต็มบ้างก็ทำให้เขาคลายความเหงาลงได้ แม้จะต้องใช้เวลา 3-4 เดือนในการเก็บเงินไว้จ่ายค่าจ้างแต่ละครั้งก็ตาม

ภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต