“ข้าวกล่องอาม่า” ธุรกิจต่างวัยของยายหลาน สร้างยอดขายวันละ 1,000 กล่อง

“ข้าวกล่องอาม่า” ธุรกิจต่างวัยของยายหลาน สร้างยอดขายวันละ 1,000 กล่อง

“ข้าวกล่องอาม่า” ธุรกิจต่างวัยของหลานวัย 25 ปี กับอาม่าอายุ 74 ปี ที่ทั้งคู่ช่วยกันคิดช่วยกันทำ โดยมีหลานชายเป็นผู้ดูแลภาพรวมของธุรกิจทั้งหมดให้เติบโต ส่วนอาม่าเป็นเชฟฝีมือเยี่ยมรับหน้าที่ปรุงอาหาร และครีเอตเมนูใหม่ๆ ไม่ว่ากระแสไหนมาอาม่าทำได้หมด

ข้าวกล่องอาม่า เริ่มต้นจากการมองเห็นโอกาสทางธุรกิจของ คุณไบรท์-พิชญุตม์ กุศลสิทธิรัตน์ เมื่อครั้งทำงานในห้างสรรพสินค้า บวกกับความตั้งใจอยากให้ครอบครัวอยู่ใกล้ชิดกัน เพราะไม่ค่อยได้เจอ อาม่า-รัตนา อภิเดชากุล ที่อยู่ในจังหวัดเดียวกันแท้ๆ แต่นานๆ ครั้งจะได้เจอกันสักที

รวมทั้งยังไม่ค่อยได้เจอพ่อแม่ของตัวเอง ซึ่งประกอบธุรกิจนำเข้าสินค้าจากจีนส่งสำเพ็ง เป็นแบบนี้ตั้งแต่สมัยเรียน เพราะเป็นนักกีฬากว่าจะซ้อมเสร็จก็มืดค่ำจนไม่มีโอกาสได้กินมื้อเย็นกัน กระทั่งทำงานบริษัทก็ยังไม่ค่อยได้เจอ เพราะเวลาเลิกงานไม่ตรงกัน

“เป็นห่วงอาม่า เพราะเราอยู่ห่างกัน อาม่าอยู่เจริญกรุง ผมอยู่คลองเตย ถ้าเกิดอะไรขึ้นจะไม่มีคนดูแล ชวนมาอยู่ด้วยก็ไม่ยอมกลัวเป็นภาระ เลยอยากทำอะไรสักอย่างให้เราได้อยู่ใกล้ชิดกัน บวกกับผมอยากขายอาหารอยู่แล้ว เพราะตอนทำงานบริษัทตำแหน่ง Product Executive ผมอยากสำรวจฟีดแบ็กลูกค้าเพื่อนำมาพัฒนาโปรดักต์ เลยขอไปฝึกงานเป็นเซลส์ขายอุปกรณ์มือถือตามห้าง วันทำงานเสียค่าใช้จ่ายแต่ละวันสูงมากไม่ต่ำกว่า 150 บาท ระหว่างทำงานได้คุยกับร้านข้างๆ กว่าจะออกไปกินข้าวแต่ละครั้งต้องปิดร้านนาน 1-2 ชั่วโมง เลยรู้สึกว่า ถ้ามีบริการอะไรสักอย่างมาเสิร์ฟถึงที่คงดี”

เมื่อมีแนวคิดหลานชายจึงชักชวนอาม่าทำธุรกิจอาหารด้วยกัน เริ่มขออนุญาตพ่อแม่และอาม่า แต่ไม่เป็นผล เพราะอาม่าเปิดร้านอาหารมาก่อน ทำตั้งแต่อายุสิบกว่าเรื่อยมา 20 กว่าปี จึงรู้ว่างานนี้เหนื่อยมาก บวกกับเห็นหลานชายเรียนจบปริญญาตรี คณะบริหารธุรกิจ สาขาการจัดการ จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ จึงอยากให้ทำงานบริษัท

“แรกๆ ไม่มีใครเห็นด้วย เป็นความเชื่อของผู้ใหญ่ที่อาบน้ำร้อนมาก่อนว่า เรียนจบปริญญาตรี จะมาทำร้านอาหารทำไม อาม่าเปิดร้านอาหารจะรู้ว่ามันเหนื่อยมาก เป็นงานที่ต้องใช้คน เลยไม่สนับสนุน ทำไมไม่ไปทำงานบริษัทล่ะ มีเงินเดือนแน่นอน อนาคตได้เติบโต ผมเลยอธิบายไปว่าอยากทำธุรกิจสักอย่างร่วมกับครอบครัว แม้ได้เงินไม่เยอะเท่าบริษัท แต่เราจะได้เจอกันทุกวัน ขอลองดูก่อนสักเดือนสองเดือน อาม่าเลยยอม”

โดยเหตุผลที่เลือกจับธุรกิจอาหาร หนุ่มเจนวาย บอกว่า เพราะเป็นธุรกิจที่ไม่มีเครดิต ลูกค้าสั่งและจ่ายเงินเลย เงินในบัญชีจึงหมุนได้เรื่อยๆ อีกทั้งยังเป็นธุรกิจที่เริ่มได้โดยไม่ต้องใช้เงินทุนเยอะ ค่าใช้จ่ายหลักมีแค่ค่าคน ค่าเช่า ค่าวัตถุดิบ ฯลฯ ค่าเช่าตัดไปเพราะทำที่บ้าน ค่าคนได้คนในครอบครัวช่วยกัน ส่วนค่าวัตถุดิบแปรผันตามยอดขาย ไม่ได้ลงเครื่องครัวแพงๆ แค่เปลี่ยนกระทะให้ใหญ่ขึ้น

“หลังครอบครัวอนุญาตให้ทำ ผมเริ่มวางแผนและเปิดร้านในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว โดยแบ่งเงินเก็บจากการทำงานประจำประมาณ 30,000 บาทมาเป็นทุน” หลานชายอาม่า เล่าถึงการเปิดธุรกิจจากเงินทุนของเขาเอง

ธุรกิจเริ่มต้นขึ้นในรูปแบบข้าวกล่องดีลิเวอรี่ ซึ่งเป็นความตั้งใจตั้งแต่แรกว่าจะไม่มีหน้าร้าน เน้นอาหารไทยเป็นหลัก ครีเอตเมนูตามกระแส เปิดวันแรกร้านยังไม่เป็นที่รู้จัก หนุ่มเจนวายคนเดิมใช้วิธีพริ้นต์โบรชัวร์แจกตามสำนักงาน และห้างสรรพสินค้าเพื่อหาลูกค้า มีออร์เดอร์ประมาณ 100 กล่อง ต่อวัน เฉลี่ยยอดขายอยู่ที่ 5,000-7,000 บาท ต่อวัน ซึ่งยังน้อยอยู่ แถมมีปัญหาเยอะ คนไม่พอ ส่งไม่ทัน จึงชักชวนเพื่อนและรุ่นน้องที่เคยทำบริษัทจำลองสมัยเรียนด้วยกันมาเป็นหุ้นส่วน

“ช่วงแรกเรายังใช้ระบบแมน่วลอยู่ เพราะออร์เดอร์น้อย ลูกค้าไลน์สั่งเราจดใส่กระดาษ ภายหลังร้านเริ่มเป็นที่รู้จักออร์เดอร์เยอะขึ้นเป็น 1,000 กล่อง ต่อวัน มีลูกค้า 2 กลุ่มคือ ซื้อกินเอง กับจัดเลี้ยงซึ่งเป็นกลุ่มหลัก รายได้เฉลี่ยมากกว่า 60,000 บาท จึงนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ รับออร์เดอร์ผ่านเว็บไซต์ ใช้ระบบการจัดการหลังบ้านโปรแกรม ERP สำหรับใช้งานในองค์กรเข้ามาช่วย เป็นความรู้ที่ต่อยอดจากตอนเรียนทดลองตั้งบริษัทจำลอง เป็นจุดเด่นของร้านที่ทำงานโดยคนเจนวายที่สามารถนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับธุรกิจอาหารได้ ส่วนใหญ่ร้านอาหารที่ดังๆ จะดำเนินกิจการโดยผู้ประกอบการอายุไม่ต่ำกว่า 30 ปี”

ส่วนพนักงานจากวันแรกที่เริ่มต้นเพียง 5 คน มีพ่อแม่ อาม่า คุณไบรท์ และแมสเซนเจอร์อีก 1 คน ตอนนี้ข้าวกล่องอาม่าเติบโตขึ้นมาก มีพนักงานหลังบ้าน 12 คน ออฟฟิศ พนักงานรับออร์เดอร์ การตลาด รวม 8 คน แมสเซนเจอร์ประมาณ 12 คน ภายใต้บริษัท ซอย 83 จำกัด

“ข้าวกล่องอาม่าเติบโตเร็วขนาดนี้ ผมคิดว่าเป็นโอกาสทางธุรกิจมากกว่า ถ้าเราเลือกทำธุรกิจที่มีผลกำไรเยอะส่วนใหญ่จะมีเจ้าตลาดคุมธุรกิจนั้นอยู่แล้ว แต่บริษัทใหญ่ๆ ยังไม่เข้ามาคุมธุรกิจอาหารแบบดีลิเวอรี่จริงจัง จึงทำให้เราประสบความสำเร็จ อีกเรื่องคือคู่แข่งร้านข้าวกล่องหลายที่ ยังไม่นำดิจิตอลเข้ามาทำมากนัก แต่เราทำ เช่น ยิงโฆษณา ทำให้โอกาสเราเยอะกว่า”

อีกหนึ่งอย่างที่ทำให้ข้าวกล่องอาม่าประสบความสำเร็จคือ คุณภาพอาหาร หนุ่มเจนวาย บอกว่า ทำสดใหม่ทุกวัน เพราะร้านตั้งอยู่ใกล้ตลาดคลองเตย จะได้วัตถุดิบสดใหม่ทุกวันมาส่งตอนตี 3 สามารถปรุงอาหารได้เลยตอนเช้า ส่วนขั้นตอนการปรุง มีอาม่าเป็นคนดูแล ด้วยเทคนิคความอร่อยเฉพาะตัวไม่เหมือนใคร สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ การจัดส่ง ใส่กล่องแพ็กให้อย่างดี มีแมสเซนเจอร์ของตัวเอง ส่งฟรีในพื้นที่ พระราม 3 สีลม สาทร อโศก ชิดลม พระราม 4 และปทุมวัน (นอกพื้นที่ส่งได้มีค่าส่งเล็กน้อย)

ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ 3 กลุ่มคือ อาหารกล่องประมาณ 120 เมนู ขนมไทย เช่น กล้วยบวชชี ครองแครง ฯลฯ เครื่องดื่มสมุนไพรและน้ำผลไม้ และสแน็กบ็อกซ์ สำหรับเมนูซิกเนเจอร์ที่ลูกค้าชมคือ ผัดไทยกุ้งสด ปรุงด้วยซอสสูตรพิเศษจากอาม่า แกงส้มปลากะพง-กุ้ง รสชาติกลมกล่อม เค็ม หวาน เปรี้ยว ส่วนเมนูขายดีคือ เขียวหวานไก่กรอบ ไข่ข้นหมูกระเทียม ไข่ข้นกะเพราทะเล ราคาเริ่มต้น 49 บาท หากเป็นทะเลเริ่มต้น 59 บาท

เป้าหมายต่อจากนี้ คุณไบรท์ ยืนยันว่า จะยังคงธุรกิจอาหารในรูปแบบดีลิเวอรี่ต่อไป แต่จะมีการพัฒนา 2 ส่วนคือ พัฒนาระบบดีลิเวอรี่ให้ดีขึ้นทั้งคุณภาพและปริมาณ ส่วนที่ 2 แตกไลน์ธุรกิจอาหารแช่แข็ง

ก่อนทิ้งท้ายว่า “แม้จะได้ทำธุรกิจร่วมกับอาม่าตามความตั้งใจที่จะให้อาม่ามาอยู่ด้วยกัน สุดท้ายแล้วอาม่าก็ไม่ได้ย้ายมาอยู่ด้วย เพราะอยากกลับไปนอนที่บ้าน แต่อย่างน้อยช่วงกลางวันเรายังได้อยู่ด้วยกัน”

สามารถเข้าไปดูข้อมูลร้านข้าวกล่องอาม่าเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊ก ข้าวกล่องอาม่า โทรศัพท์ (086) 552-4642 ไลน์ @armabox เว็บไซต์ https://armabox.net/