“ตลาดอินเดีย” มากมาย-หลากหลาย-ลายตา เดินกี่ปีไม่มีเบื่อ

“ตลาดอินเดีย” มากมาย-หลากหลาย-ลายตา เดินกี่ปีไม่มีเบื่อ

ตลาดอินเดีย นี่เดินกี่ปีไม่มีทางเบื่อ หนึ่งนั้นเพราะมีมากมายเกินกว่าจะเบื่อได้ อินเดีย เป็นประเทศที่ถูกเรียกว่าอนุทวีป คือ ย่อมกว่าทวีปไม่มากนัก แผ่นดินกว้างขวาง ประชากร 1,300 ล้านคน นึกไปนึกมาเท่ากับอยู่ในโลกใบย่อมอีกใบหนึ่งนั่นแหละคุณ

ทุกเมืองของอินเดียมีตลาด มีแผงลอย มีคนแบกข้าวของเครื่องใช้และอาหารขาย ตรงไหนว่างเป็นขาย ถนนรนแคมที่ไหนเดินได้ เป็นขาย คนขายเดินปะปนกับวัวตามท้องถนนเป็นเรื่องปกติเจนตา

คนอินเดีย ชอบค้าขาย และคนอินเดียมีมากและหนาแน่น ชนิดที่ทำอะไรออกมาขายก็มีคนซื้อ นอกจากนั้นอีกสาเหตุสำคัญคือ คนอินเดี ยส่วนใหญ่ยังยากจน ดังนั้น ใครพอหาอะไรมาขายได้ เขาก็ขาย

เวลาพูดถึงตลาดอินเดีย เราจึงไม่จำกัดเฉพาะตลาดในเมืองใหญ่อย่างกัลกัตตา หรือเดลี เพราะทุกมุมของอินเดียมีตลาด และล้วนแต่เป็นตลาดใหญ่ เมืองหลักของเขามีคนหลายสิบล้าน ดังนั้น ตลาดเขาจึงกระจัดกระจายไปทั่ว เพื่อให้คนได้จับจ่ายกันทั่วถึง อย่างที่บอกไป ตรงไหนว่าง ตรงไหนขายของได้ ตรงไหนมีสุมทุมพุ่มไม้พอได้หลบแดดแล้วขายของ เขาขายทันที

และตลาดเขาหลากหลายลายตาประสาอินเดียจริงๆ

ถนนสายเศรษฐกิจของเมืองบังคาลอร์ ที่จัดเป็นเมืองทันสมัยโก้เก๋ เทียบเท่าซิลิคอนวัลเลย์ของอเมริกานั่นทีเดียว ก็มีร้านรวงไล่ไปตั้งแต่แผงขายหมาก ร้านโชห่วยราคาถูก ไปจนถึงร้านของแบรนด์เนมราคาแพง ใครไม่ชอบช็อปปิ้งก็ไปเดินหาอาหารอร่อยๆ ทาน มีให้เลือกละลานตา ไล่ตั้งแต่โรตีราคาแผ่นละไม่กี่บาท ไปจนถึงไวน์ขวดละเป็นหมื่น

ที่เมืองเดลี มีย่าน Sarojini Nagar หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า SN คนเดลียกให้เป็นย่านการค้าที่เหมาะแก่การต่อรองราคาอย่างเมามัน สินค้ามากมาย และไม่ใช่สินค้าเก่าหากแต่เป็นสินค้าทันสมัย นำมากองขายแขวนขายในราคาย่อมเยา แต่ก็ยังเปิดประตูให้ต่อรอง

อันว่าต่อรองราคาสินค้ากับพ่อค้าแม่ค้าชาวอินเดียนั้นสนุกนักคุณเอ๋ย เรามักจะเล่าสู่กันฟังว่าคนอินเดียนั้นหิน ชอบเอาเปรียบ ชอบฟันราคา แต่บุญบาปนะว่าไป ทุกวันนี้พ่อค้าแม่ค้าชาวอินเดีย เจอคนจีนเข้าไป ถึงกับจ๋อย

คนจีน ต่อรองราคาแบบกะว่าชีวิตนี้จะมีวันเดียว คือถ้าต่อไม่ได้ตามที่ตนหมายมุ่งจะต้องตายเสียในวันนี้พรุ่งนี้

ที่เมืองกัลกัตตานั้นตลาดขึ้นชื่อคือตลาด Sir Stuart Hogg หรือเรียกอีกอย่างว่าตลาดใหม่ ชื่อว่าใหม่นี่หากแต่สร้างมาแต่ปี ค.ศ. 1903 หรือ 116 ปีมาแล้ว ตลาดนี้ก็เช่นเดียวกับตลาดทั่วไปในอินเดีย คือขายปะปนกันไปตั้งแต่ผักหญ้า อาหาร ไก่ปลา ไปจนถึงเสื้อผ้า เครื่องประดับ คือเขาเดินตลาดนี่เขาต้องได้ครบ

และก็เหมือนตลาดทั่วไปของอินเดีย คือ ราคามีไว้ต่อ เรื่องสินค้าราคาเดียวไม่มีใครสมาทาน อันธรรมเนียมพรรค์นี้ก็ใครดีใครได้ แต่สำหรับฉัน ฉันรู้สึกว่ามันเสียเวลา

คือ ถ้าต่อรองกันสนุกแบบนักท่องเที่ยวก็แล้วไป แต่สำหรับคนต้องทำมาหากินกันจริงจัง เอาเวลาต่อล้อต่อเถียงนี่ไปทำมาหากินกันไม่ดีกว่าหรือ เวลายิ่งน้อย และทำมาหากินก็ยิ่งฝืดเคืองอยู่

แต่นั่นแหละ การต่อรองเป็นเอกลักษณ์ และเป็นสีสันของตลาดอินเดีย ถ้าอยากเดินตลาดที่นี่ก็ต้องยอมรับระบบนี้ อย่าไปรำคาญเขา รำคาญไปเหนื่อยเปล่า

ที่เมืองปูเน่ มีตลาดเสื้อผ้าเครื่องประดับที่หนึ่งเขาเรียกว่า แฟชั่นสตรีต คือถนนแฟชั่น แต่ที่จริงมันคือตลาดนัด เรียงรายอยู่สองข้างถนน แขวนเสื้อผ้ากันตามต้นไม้ ตามรั้ว แน่นไปตลอดสาย ช่วงไหนพอสร้างร้านได้ก็สร้าง ช่วงไหนติดต้นไม้ก็แขวนกับต้นไม้ ถนนทั้งสายจึงมีเสื้อผ้าปลิวไสวสวยงาม

ส่วนตลาดนัดสุดสัปดาห์ ก็มีเกือบทุกเมืองเหมือนที่มีกันทั่วโลก เมืองที่มีตลาดนัดขึ้นชื่อหน่อยก็อย่างเมืองกัว สินค้าที่วางขายมีมากมายหลากหลายไปตั้งแต่อิฐสร้างบ้าน ไปจนถึงเครื่องทองหยองนั่นทีเดียว

 อาหารการกินนั้นไม่ต้องพูดถึง ขายกันละลานตาเลือกไม่ทันทีเดียว ใครว่าคนอินเดีย กินน้อยขอเถียง เขาขายเขากินกันจนดึกดื่น เหมือนคนบ้านอื่นเมืองอื่นนั่นแหละ