“บอย โกสิยพงษ์” หาทางรอดให้ธุรกิจ วางแนวคิด “ต้นไม้รอดตาย…จากป่าคอนกรีต”

บอย โกสิยพงศ์
บอย โกสิยพงศ์

“บอย โกสิยพงษ์” หาทางรอดให้ธุรกิจ วางแนวคิด “ต้นไม้รอดตาย…จากป่าคอนกรีต”

 อย่างที่ทราบๆ กันกระแสของการเปลี่ยนแปลงกำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนโมเดลการทำธุรกิจและธุรกรรมในทุกรูปแบบ

จนทำให้มีผู้กล่าวกันว่าหากใครไม่ตั้งรับกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ให้ดีจะทำให้ตกยุคสมัยได้

ดูเหมือนว่าเรื่องนี้กำลังเป็นจริงเข้ามาเรื่อยๆ

เพราะถ้าสังเกตจากสิ่งรอบข้างของตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นวงการสื่อสารมวลชน ธุรกิจการเงินการธนาคาร เอนเตอร์เทนเมนต์ โรงพยาบาล รวมไปถึงอุตสาหกรรมทางด้านเทคโนโลยีต่างๆ

เราจะเห็นว่านวัตกรรมทางเทคโนโลยีกำลังเข้ามาทดแทนแรงงานคน

กล่าวกันว่าอีกไม่เกิน 3 ปีภาพต่างๆ เหล่านี้จะชัดเจนยิ่งขึ้น ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่ธุรกิจเอนเตอร์เทนเมนต์ โดยเฉพาะค่ายศิลปินเพลงต่างๆ จึงปรับตัว 360 องศา

เพื่อหนีตาย

เอาตัวรอด

และเพื่ออยู่ให้ได้อย่างยั่งยืนต่อไป

“บอย โกสิยพงษ์” ก็มองเห็นตรงนี้ ทั้งๆ ที่ค่ายเพลงของเขาไม่ได้ใหญ่โตเหมือนกับค่ายเพลงอื่นๆ แต่กระนั้น เมื่อถึงวันหนึ่งเขาเริ่มมองเห็นกระแสของการเปลี่ยนแปลงกำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญ ในการทำลายล้างธุรกิจเพลง

ตอนนั้นฝั่งตะวันตกเริ่มส่งสัญญาณเตือนแล้ว เพียงแต่เขายังคิดไม่ถึงว่ากระแสของการเปลี่ยนแปลงจะมาถึงฝั่งตะวันออกอย่างรวดเร็ว

เขาสังเกตเห็นแผ่นซีดีค่อยๆ หายไป

เขาสังเกตเห็น MP3 กำลังเข้ามาแทนที่

และเขาสังเกตเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างสามารถดาวน์โหลดฟรี โดยผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ

สิ่งเหล่านี้ทำให้ “บอย” ครุ่นคิด และเริ่มหาทางออกให้ตัวเอง

ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนเขาเชื่อว่าเราเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ และคอนเทนต์ทั้งหมดเกิดจากมันสมอง และสองมือของตัวเรา ใครเล่าจะเอาไปได้

เพราะเป็นลิขสิทธิ์ของเรา

แต่สิ่งที่เขาเชื่อนั่นผิด เพราะคอนเทนต์ทุกอย่างกลับถูกเข้าไปกองรวมกันอยู่ในโซเชียลมีเดีย ถ้าคุณอยากเผยแพร่ ถ้าคุณอยากได้ตังค์ ถ้าคุณอยากถูกยอมรับในโลกไร้พรมแดนที่ไม่จำกัดอยู่เฉพาะประเทศไทย คุณต้องเอาคอนเทนต์มาให้ฉัน

แล้วฉันจะตอบสนองคุณด้วยยอดดาวน์โหลดแทน

“บอย” บอกว่า…ผมไม่เห็นทางออกเลย

กลายเป็นผู้ยอมศิโรราบ

แต่ท้ายที่สุดเมื่อวันหนึ่งเขาถอดรหัสความคิดเจอว่า…เพลงคือชีวิตของเขา

เพลงคือธุรกิจของเขา

และธุรกิจก็คือชีวิตของเขาด้วย

เขาจึงค่อยๆ ไตร่ตรอง กระทั่งพบว่าต้นไม้ที่รอดตายจากดินที่แห้งแล้ง ถือเป็นเรื่องมหัศจรรย์อย่างหนึ่ง แต่ถ้าต้นไม้ที่รอดตายจากป่าคอนกรีตที่ปกคลุม กระทั่งสามารถทิ่มแทงตัวเองขึ้นมาจนชูช่อให้เห็นใบสีเขียวได้ น่าจะเป็นสิ่งมหัศจรรย์ยิ่งกว่า

เมื่อคิดได้ดังนั้นเขาจึงเริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเองทันที

กอปรกับเขาสังเกตเห็นว่าผู้คนในยุคปัจจุบันมักใช้เวลาว่างหมดไปกับการดูและฟังสมาร์ตโฟน แม้กระทั่งขับรถอยู่ก็ตาม พอติดไฟแดง พวกเขาเหล่านั้นยังหยิบสมาร์ตโฟนขึ้นมากดดูเลย

เขาคิดว่าเมื่อพฤติกรรมของผู้คนเป็นเช่นนี้

เราก็น่าจะใช้ช่องว่างตรงนี้มาให้พวกเขาติดตามเรา

โดยเฉพาะคนที่ชอบฟังเพลง หรืออยากรู้เรื่องราวส่วนตัวของศิลปินที่ตัวเองชื่นชอบว่าตอนนี้ทำอะไร? อยู่ที่ไหน? อย่างไร?

เขาจึงทำลายกำแพงของการฟังเพลงแบบเดิมๆ เพราะสิ่งที่คิด ไม่เพียงแค่ฟังเพลงจากศิลปินที่ตัวเองชื่นชอบเพียงอย่างเดียว หากยังเชื่อมต่อไปยังเฟซบุ๊ก ไลน์ ทวิตเตอร์ และอื่นๆ อีกมากมาย

ทั้งยังสามารถต่อยอดไปทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้แฟนคลับและศิลปินมาพบเจอกันอีกด้วย

สิ่งที่เขาคิดคือแอพพลิเคชั่นที่ชื่อ…fanster

เพราะฉะนั้น fanster จึงเกิดขึ้นบนคอนเซ็ปต์ง่ายๆ คือศิลปินที่อยู่ในแอพพลิเคชั่นนี้จะต้องมีแฟนคลับของตัวเอง

แฟนคลับอยากรู้อยู่แล้วว่าวันนี้ศิลปินของตัวเองไปปรากฏตัวอยู่ที่ไหน ทำอะไรอยู่ หรือไปเดินช็อปปิ้งที่ห้างไหน อย่างไรบ้าง

เพราะศิลปินก็ใช้เฟซบุ๊ก ไลน์ ทวิตเตอร์ ดังนั้น พวกเขาสามารถกดไปดู ติดตาม และแสดงความคิดเห็นได้ทันที โดยไม่ว่าคุณจะอยู่ส่วนไหนของโลกใบนี้ เราสามารถติดต่อถึงกันได้ทุกที่ทุกเวลา

แรกๆ อาจเริ่มจากศิลปินไทย

แต่ตอนนี้ fanster เริ่มมีศิลปินจีน และต่อไปจะมีศิลปินจากประเทศต่างๆ เข้ามา รวมไปถึงนักเขียน นักกีฬา นักมวย และคนทำงานศิลปะทุกแขนงที่มีแฟนคลับก็จะมาอยู่ใน fanster เช่นกัน

สำคัญไปกว่านั้น หากคุณกดไลก์ ฟอลโลว์ คอมเมนต์อยู่เสมอ คุณจะได้เหรียญรางวัล ซึ่งเป็นเสมือนแต้มสะสมเพื่อนำไปแลกเข้างานมีตแอนด์กรี๊ดที่จัดขึ้นเป็นการภายในระหว่างแฟนคลับและศิลปิน

หรือถ้าคุณมีแต้มสะสมสูงมาก คุณสามารถนำแต้มนี้ไปแลกรางวัลเพื่อทานข้าว หรือเลือกให้ศิลปินที่คุณชื่นชอบไปร้องเพลงในงานวันเกิดของคุณได้ด้วย

ทั้งหมดนี้คือ การคิดแบบต้นไม้

ที่พร้อมจะทิ่มแทงใบสีเขียวของตัวเองให้ได้พบเจอกับแสงของพระอาทิตย์

แม้วันหนึ่ง “บอย” อาจจะยังมองไม่เห็น เพราะกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงบดบังเสียจนทำให้คิดไม่ออก และไม่รู้จะหาทางออกกับเรื่องนี้อย่างไรดีด้วย

แต่เมื่อถึงตอนนี้ สิ่งที่เขาคิดและทำชัดเจนขึ้น รวมถึงศิลปินทุกคนที่อยู่ในแอพพลิเคชั่นต่างมีรายได้จากทุกสิ่งทุกอย่างที่รวมอยู่ใน fanster

ทุกฝ่ายจึง…วิน-วิน เกม

จนที่สุด fanster จึงกลายเป็นแอพพลิเคชั่นหนึ่ง ที่เป็นตัวเลือกแรกๆ ของเด็กรุ่นใหม่ในการใช้เวลาว่างจากการนั่งรถเมล์ รถไฟฟ้า รอเครื่องบิน และอื่นๆ อีกมากมายเพื่อติดตามศิลปินของตัวเองที่ชื่นชอบ

อยากรู้ไหมครับว่าหน้าตา fanster เป็นอย่างไร

โหลดแอพพลิเคชั่นเลยครับ?