สาวฟรีแลนซ์ รับจ๊อบ “หิ้วยำ” เจ้าดังพัทยา รายได้ไม่แน่นอน แต่คุ้มค่าน้ำมัน

รับหิ้วยำ
รับหิ้วยำ

สาวฟรีแลนซ์ รับจ๊อบ “หิ้วยำ” เจ้าดังพัทยา รายได้ไม่แน่นอน แต่คุ้มค่าน้ำมัน

รับหิ้วยำ – หากเป็นเมื่อก่อน เวลามีร้านอาหารที่ไหนดังๆ คนก็จะดั้นด้นเดินทางไปต่อแถวรอคิวเข้าร้าน เพื่อที่จะได้ลองสัมผัสรสชาติอาหารที่ว่า บางคนรอแล้วได้ทาน บางคนรอเป็นวันก็ยังไม่ได้ทาน หรือบางคนบ้านไกล ไม่สามารถเดินทางไปที่ร้านได้ จะฝากเพื่อนซื้อ ฝากคนรู้จักซื้อบ่อยๆ ก็เกรงใจ แต่ถ้าจะไปกินร้านอื่นแทนก็ไม่เหมือนกันอีก จนมีคนหัวใส ผุดไอเดียทำธุรกิจที่เรียกว่า “รับหิ้ว” ขึ้น

การรับหิ้ว หลายๆ คนคงมองว่าไม่ใช่เรื่องแปลก หรือเรื่องใหม่อะไรนัก เพราะปัจจุบัน มีธุรกิจรับหิ้วเยอะแยะไปหมด ทั้งรองเท้า โลชั่น น้ำหอม เครื่องสำอาง หรือ ขนมจากต่างประเทศ แต่น้อยมากที่จะเห็นคนหันมาจับ “ธุรกิจรับหิ้วยำ” กัน

“เส้นทางเศรษฐีออนไลน์” มีโอกาสสัมภาษณ์ คุณมันนี่ – กุลทรัพย์ ตั้งวัฒนะกุล สาวชาวกรุง วัย 27 ปี  หนึ่งในคนที่ทำธุรกิจ “รับหิ้วยำ” จากร้าน “อาฟเตอร์ ยำ” เจ้าดังแห่งเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี โดยเธอเล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันทำงาน เป็น “ฟรีแลนซ์” อาศัยอยู่แถวถนนพระราม 2 เขตราษฎร์บูรณะ โดยปกติจะไปทำธุระและแวะทานยำ ที่ร้านอาฟเตอร์ ยำ อยู่บ่อยๆ และมักชอบการถ่ายรูปลงเฟซ เช็กอินสถานที่เป็นปกติ พอมีเพื่อนในเฟซบุ๊กมาเห็น จึงฝากให้เธอช่วยซื้อกลับไปให้กันหลายคน โดยมีสินน้ำใจเป็นเงินค่าน้ำมันรถให้คนละเล็กละน้อย เธอจึงเกิดความคิดที่ว่า ลองรับหิ้วยำของร้านอาฟเตอร์ ยำ ดูดีไหม เพราะเธอไปทำธุระแถวชลบุรีบ่อยๆ  ไม่น่าจะลำบากอะไร

คุณมันนี่ – กุลทรัพย์ ตั้งวัฒนะกุล สาวชาวกรุง วัย 27 ปี

“ตอนนี้รับหิ้วมาได้ประมาณ 1 เดือนแล้วค่ะ ตอนแรกไม่ได้ตั้งใจจะรับหรอก แต่มาทำธุระแถวชลบุรีบ่อยๆ ก็จะมีแวะมาทานยำ ที่ร้านอาฟเตอร์ ยำ แทบทุกครั้ง เพราะร้านเขาก็ทำเลดี ตั้งอยู่ในปั๊ม ซึ่งคนต้องแวะปั๊มเข้าห้องน้ำ เติมน้ำมัน หรือหาอะไรทานกันอยู่แล้ว เราก็มาทานและก็ถ่ายรูป เช็กอินลงเฟซอะไรของเราไปปกติ เพื่อนๆ ในเฟซเห็น เขาก็อยากทานบ้าง เลยฝากซื้อกันคนละกล่องสองกล่อง เราซื้อกลับไปให้ เขาก็ช่วยค่าน้ำมันกันนิดๆ หน่อยๆ เลยมีความคิดแว๊บเข้ามาอย่างหนึ่งว่า ลองเปิดรับหิ้วยำดูดีไหมนะ เพราะร้านเขาดัง   คนอยากลองกันก็เยอะ แล้วเราก็ผ่านไปทำธุระแล้วไปทานบ่อยๆ หาเงินมาเป็นค่าน้ำมันสักหน่อยน่าจะดี เลยกลายเป็นเปิดรับหิ้วอาฟเตอร์ ยำ นั่นแหละค่ะ” คุณมันนี่ ให้ข้อมูลอย่างนั้น

และเล่าว่า จะเปิดรับออร์เดอร์สัปดาห์ละครั้ง อิงจากวันที่ต้องไปทำธุระเป็นหลัก โดยเปิดรับออร์เดอร์ก่อน 1 วัน ให้คนสั่งเข้ามาได้ถึงบ่ายสาม ทั้งนี้คิด “ค่าหิ้ว” เพิ่มเข้าไป เช่น ยำหอยแครง ราคา 160 บาท เธอคิดค่าหิ้ว 70 บาท หรือถ้าเป็นเมนูยำเวอร์ คิดราคาเมนูละ 120 บาท และของทอดคิดเพิ่มเมนูละ 40 บาท ลูกค้าต้องโอนเงินเข้ามาให้เรียบร้อย จากนั้นเธอจะรวบรวมออร์เดอร์ทั้งหมดให้เสร็จ และประกาศปิดรับออร์เดอร์ เมื่อถึงวันที่ไปทำธุระ เธอก็แวะซื้อในตอนขากลับ และนำมาส่งให้ลูกค้าในเขตกรุงเทพฯ

โดยลูกค้าสามารถเลือกได้ว่าจะนัดรับ หรือส่งโดยใช้บริการไลน์แมน และเก็บเงินค่าส่งปลายทาง หากลูกค้านัดรับ จะมีการคุยกับลูกค้าว่าเธอขับรถผ่านที่เส้นทางตรงนี้ ให้มารับที่นี่ หรือถ้าให้ส่งไลน์แมน ก็จะมีการคุยกับลูกค้าและคำนวณราคาค่าส่งคร่าวๆ ให้ว่าคุ้มค่าหรือไม่

เธอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า คนให้ความสนใจกันมาก โดยในการเปิดรับหิ้วรอบหนึ่ง เธอได้ออร์เดอร์ไม่ค่อยแน่นอน 30 กล่องบ้าง 40 กล่องบ้างแล้วแต่ลูกค้าจะสั่ง แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกรายที่รับหิ้วจะได้ออร์เดอร์เป็นสามสิบ สี่สิบกล่องแบบเธอ อาจจะมีมากกว่า น้อยกว่า แล้วแต่ความพอใจของลูกค้า  การรับหิ้วยำ เป็นธุรกิจเสริมที่รายได้ไม่ถือว่ามากหรือน้อยเกินไป แต่อยู่ในจุดที่คุ้มกับค่าน้ำมัน

“เมื่อคุณสั่งออร์เดอร์เข้ามา เราจะสรุปยอดให้แล้วให้คุณโอนเงินมาก่อน จากนั้นถ้าเลือกนัดรับ ก็จะบอกเขาว่า เราขับรถมาทางเส้นพระราม 2 นะ คุณสามารถมารับได้ที่ตรงนี้ๆ นะ แต่ถ้าไม่สะดวกนัดรับ ก็จะใช้บริการไลน์แมนส่งให้ แล้วเก็บเงินค่าส่งที่ปลายทาง โดยเราจะคำนวณราคาค่าส่งคร่าวๆ ให้ก่อน ว่าคุณโอเคกับราคาส่งนี้ไหม เพราะค่าส่งมันก็ค่อนข้างแรงเหมือนกันนะคะ ถ้ามันแพงเกินไปเขาจะได้ไปใช้บริการร้านอื่นที่อาจจะอยู่ใกล้กับเขามากกว่า ถ้าลูกค้ามาสั่งแล้วไม่โอนเงินมาให้ เราจะไม่รับออร์เดอร์ของเขาค่ะ เลยไม่กลัวเรื่องลูกค้าจะมาสั่งเล่นๆ หรือมาโกงเราเท่าไหร่ แล้วลูกค้าไม่ต้องกลัวโดนโกงด้วย เพราะถ้าลูกค้าโอนเงินมาแล้ว แต่ของหมด จะโอนเงินคืนให้ เรายึดคติ มีความซื่อสัตย์และให้ใจลูกค้าก่อน เพราะถ้าทำแบบนี้ ลูกค้าก็จะมีความเชื่อใจกันไม่ต้องมานั่งระแวงกันและกัน แล้วเขาก็กลับมาใช้บริการอีก ทำให้เรายังทำอาชีพเสริมตรงนี้ต่อไปได้อีกเรื่อยๆ” คุณมันนี่ กล่าวทิ้งท้าย

หากสนใจใช้บริการ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊ก Kullasub Tangwattanakul

ขอบคุณรูปภาพจาก เพจ After Yum